Skip to main content

ปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 กับหลักสูตรท้องถิ่น

บาว นาคร*

การปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองเป็นนโยบายที่รัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินการอยู่และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ตลอดจนข่าวการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวกับการศึกษา ปัญหาของการจัดการศึกษาในเรื่องวิชาชีพ ทางการแพทย์และพยาบาลของสถาบันการศึกษา ปัญหาความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ปัญหาคุณธรรม จริยธรรมของครูผู้สอน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาของระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างดี นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นต้นมาเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษานั้นผ่านมาได้ 10 ปีแล้ว โดยเน้นให้จัดการเรียน การสอน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาขีดความสามารถของตนได้อย่างเต็มศักยภาพ และมีความสมดุลทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้

สำหรับประเทศไทยการศึกษาในอดีตที่ผ่านมานั้น ได้ถูกจัดขึ้นโดยครอบครัว ชุมชน หรือสถาบันทางศาสนา ที่มีส่วนร่วมในการถ่ายทอดความรู้หรือภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงบนรากฐานประเพณีและวัฒนธรรมที่สั่งสมมาของสังคม ทำให้ความรู้เหล่านั้นคงอยู่และถ่ายทอดสืบสานต่อๆกันมา จนกระทั่งมาสู่การศึกษาในระบบโรงเรียน และสถาบันการศึกษาที่จัดโดยรัฐ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การจัดการศึกษาในประเทศไทยได้เกิดความแปลกแยกไปจากชุมชนท้องถิ่น ระบบการศึกษากลายเป็นเรื่องของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และครูผู้สอนได้มีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอน และครูเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน รวมทั้งหลักสูตรที่ผลิตจากส่วนกลางไม่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น ทำให้สถาบันการศึกษาและโรงเรียนไม่ได้ผลิตนักเรียน นักศึกษาที่มีความเข้าใจในภาษาท้องถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริง

ถ้าหากพิจารณาถึงระบบการศึกษาไทยในอดีต ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นได้มีความสอดคล้องกับแนวคิดของ เปาโล  แฟร์ (Paulo Freire) เป็นนักการศึกษาผู้หนึ่งที่ได้เขียนวิจารณ์ระบบการศึกษาที่มีครูเป็นศูนย์กลางในหนังสือ Pedagogy of  the  oppressed  และหนังสือเล่มนี้ได้สร้างความหวั่นไหวให้แก่วงการการศึกษาเป็นอย่างยิ่งในสมัยนั้น  เปาโล  แฟร์ มีความเห็นว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ส่วนใหญ่เป็นระบบการศึกษาที่มีครูซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดมักจะเป็นผู้กดขี่ กักขัง ครอบงำ ควบคุมความคิดของผู้เรียน  โดยครูมีบทบาทเป็นผู้เผด็จการที่คอยแต่จะสั่งว่า ผู้เรียนควรเรียนอะไร ควรเรียนอย่างไร ควรคิดอย่างไร  และประพฤติตัวอย่างไร  ซึ่งเปาโล  แฟร์ เห็นว่า การเรียนการสอนแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนมีชีวิตจิตใจกลายเป็นวัตถุที่คอยแต่จะรองรับสิ่งที่ผู้สอนถ่ายทอดให้เท่านั้น ผู้เรียนจะไม่สามารถเข้าใจตนเอง  ไม่มีความคิดสร้างสรรค์  ไม่สามารถปรับปรุงตนเองและสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้  เปาโล  แฟร์ เรียกการศึกษาที่มีศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ครูนี้ว่า การศึกษาระบบธนาคารเงินฝาก (Banking  Education  System)

จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน ได้มีแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง เช่น การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ให้มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ตั้งแต่ปฐมวัย สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า มีระบบ กระบวนการผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบและแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาการบริหารจัดการใหม่ มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาและอปท.รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองชุมชน เอกชน และทุกภาคส่วน

แนวนโยบายและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองนั้นสอดรับกับนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลปัจจุบัน การปฎิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองแม้ว่าจะเน้นกระบวนการพัฒนาทั้งคุณภาพครูผู้สอน สถานศึกษา การบริหารจัดการ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่ดี ส่วนการนำนโยบายไปปฎิบัตินั้น จะสอดคล้องกับนโยบายที่วางไว้หรือไม่ การปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองจะช่วยให้ระบบการศึกษาของไทยพัฒนาไปในทิศทางใด อย่างไรก็ตามควรให้ความสำคัญกับความรู้ของชุมชน ทุนชุมชนที่มีอยู่ ทั้งทุนมนุษย์คือปราชญ์ชาวบ้าน ทุนทางปัญญา คือภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ได้สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนนั้น น่าจะมีแนวทางการปรับใช้และประยุกต์ให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่น มีการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียน รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน และที่สำคัญควรมีการเสริมสร้างจิตสำนึกให้เกิดความหวงแหนในบ้านเกิด ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งการปลูกฝังจิตสำนึกด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักเรียนด้วย มิใช่เรียนเพื่อให้เป็นคนเก่ง คนฉลาดอย่างเดียวเท่านั้น

 



* บุญยิ่ง ประทุม , [email protected]