Skip to main content

ชุมชนออนไลน์กับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภาคประชาชน*
 

 

ท่ามกลางกระแสข่าวสารทางด้านสังคมและการเมืองที่นำเสนอผ่านทางช่องทางต่างๆนั้น อินเทอร์เน็ตหรือว่าweb board เป็นชุมชนออนไลน์ที่มีบทบาทสำคัญอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารทางการเมืองในยุคสมัยปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งสังคมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสังคมโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากสังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) ไปสู่หลังสังคมฐานความรู้ (Post Knowledge Based Society) สังคมฐานความรู้ที่ผ่านมานั้นมีลักษณะที่สำคัญ เช่น เป็นสังคมและเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้หรือเทคโนโลยีระดับสูง การผลิตฐานความรู้ การใช้ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) การมีคนงานความรู้ (Knowledge Worker) และทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนั้น สังคมฐานความรู้เป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) ได้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมตามกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีและกระบวนการสื่อสารสมัยใหม่ อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเก็บรวบรวมความรู้ การสืบค้นความรู้ และกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว

 

ในอดีตนั้นฝ่ายรัฐเป็นผู้มีอำนาจในการยึดกุมและการกำหนดเนื้อหาสาระของข้อมูลข่าวสารไว้เพียงฝ่ายเดียว และใช้วิธีการสื่อสารแบบทางเดียว แต่ว่าปัจจุบันกระบวนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้สร้างชุมชนเรียนรู้ออนไลน์ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น ปัจจุบันมีการใช้ บล็อก (Blog) เป็นฐานข้อมูลในการบันทึก และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน รวมทั้งให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เช่น กรณีของ GT 200 เป็นต้น ตลอดจนความรวดเร็วของการรับรู้ของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการบริหารงานของรัฐบาลจากภาคประชาชนและชุมชนออนไลน์เป็นเบื้องต้น ก่อนที่จะได้มีการสื่อสารให้สาธารณชนทราบและอีกหลายๆกรณี

 

แนวคิดเกี่ยวกับโลกหลังสังคมฐานความรู้นั้นหากพิจารณาให้ดีแล้ว สังคมไทยและประชาชนยังไม่ได้ก้าวผ่านช่วงของสังคมฐานความรู้ แต่หากว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วจนทำให้ประชาชนและสังคมไทยตั้งรับไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และประเด็นเกี่ยวกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ประชาธิปไตย และความรู้ความเข้าใจในระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนโดยทั่วไปยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ฐานความรู้และชุดความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยคนละชุดกัน ทำให้เกิดความแตกแยกทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง รวมทั้งกระบวนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางด้านการเมืองของประชาชนก็แตกต่างกัน ซึ่งข้อมูลข่าวสารทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมนั้นประชาชนได้รับรู้ผ่านช่องทางต่างๆซึ่งเป็นชุดข้อมูลของคนละฝ่ายกัน

 

ในบริบททางสังคมและการเมืองไทยในปัจจุบันนั้น ประชาชนไม่ได้อยู่ในฐานะของการเป็นผู้รับข่าวสารเพียงฝ่ายเดียวเหมือนอย่างเช่นอดีตที่ผ่านมา ทำให้การสื่อสารภาคประชาชนมีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย TPBS ซึ่งถือว่าเป็นสื่อทางเลือก สื่อสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและเข้ามามีส่วนร่วมได้ รวมทั้งชุมชนออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต กระดานข่าวอิเล็กทรอนิกส์(web board)ต่างๆ ที่เป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคม (Social Space) ให้กับประชาชนได้มีพื้นที่ในการแสดงออก แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดมิติของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของภาคประชาชนผ่านทางช่องทางต่างๆดังกล่าว

 

แนวคิดเกี่ยวกับโลกหลังสังคมฐานความรู้ที่ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ โลกพลิกโฉม:ความมั่งคั่งในนิยามใหม่นั้นว่า โลกหลังสังคมฐานความรู้เป็นโลกที่เน้นในเรื่อง "กัลยาณมิตร" มิใช่เพียงแค่ "พันธมิตร"เป็นโลกที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิสัมพันธ์ของผู้คนจาก "ต่างคนต่างปิด" ไปสู่ "ต่างคนต่างเปิด"เป็นโลกที่ก้าวเลยความคิดของ "การแข่งขัน" ไปสู่ "การร่วมสร้างสรรค์" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การร่วมรังสรรค์ทางสังคม" ไม่ใช่ "การร่วมรังสรรค์ในเชิงพาณิชย์" เพียงอย่างเดียว เป็นโลกที่ภูมิปัญญาได้พัฒนาก้าวล่วงปริมณฑลของ "ทรัพย์สินทางปัญญา" สู่ "ภูมิปัญญามหาชน" โลก "หลังสังคมฐานความรู้" เป็นโลกที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ จาก "การพึ่งพิง" ไปสู่สองโลกที่เสริมกันระหว่าง "ความเป็นอิสระ" และ "การพึ่งพาอาศัยกัน” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสอดคล้องกับแนวคิดของ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย เรื่อง กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว ที่ได้กล่าวถึง การดำเนินธุรกิจที่มีคุณธรรม รับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งจิตอาสา ธุรกิจสีขาว สังคมสีขาว องค์กรสีขาวที่เน้นการทำงานแบบร่วมมือและสร้างสรรค์ แบ่งปันซึ่งกันและกัน

 

ดังนั้น จากที่ได้กล่าวมาบริบทสังคมการเมืองไทย แม้จะยังไม่ก้าวผ่านสังคมฐานความรู้ไปสู่หลังสังคมฐานความรู้ แต่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของพลังอำนาจของประชาชนที่มีเพิ่มมากขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านทางช่องทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย การมีพื้นที่ทางสังคมในการแสดงความคิดเห็นทางสังคมและการเมือง ตลอดจนชุมชนออนไลน์ที่ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งความโปร่งใสของการบริหารงานของรัฐบาล ชุมชนออนไลน์ถือว่าเป็นช่องทางการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการติดต่อสื่อสารกัน รวมทั้งเป็นช่องทางในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของภาคประชาชน


 

 

* บุญยิ่ง ประทุม,นักวิชาการอิสระ, [email protected]