Skip to main content

 เพชรดาว โต๊ะมีนา

“อย่าล้ำเส้นมนุษยธรรม คำเตือนต่อการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนและผู้อ่อนแอ โดยเฉพาะเด็ก  สตรี คนชรา นักบวชฯ ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และทำให้ยิ่งห่างไกล จากเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง”

เราเห็นข้อความเหล่านี้ถี่ขึ้นในโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ต้นปี 2557  มีการรณรงค์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่องจากหลากหลายองค์กรและปัจเจกบุคคล แต่จำนวนตัวเลขเหยื่อที่เป็นเด็ก สตรีก็ยังคงเพิ่มขึ้นทุกเดือน จากที่คิดว่าเด็กและสตรีไม่น่าจะเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยตรง เป็นเพียงผลกระทบทางอ้อมหรือลูกหลง มาถึงวันนี้ก็ไม่มีใครกล้ายืนยันได้

ภาพความวุ่นวาย โกลาหล เสียงระเบิดที่ดังอย่างต่อเนื่อง ไฟดับ  น้ำไม่ไหล ปิดบ้านเงียบ ไม่กล้าเดินออกไปช่วยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ  กลัวระเบิดลูกที่สอง ตกใจ กลัว และอื่นๆ พรั่งพรูจากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันเสาร์ที่  24 พฤษภาคม 2557 มีผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บกว่า 60 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 18 ราย  สตรีเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 18 ราย

และในช่วงเช้าของวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เกิดระเบิดบริเวณลานจอดรถโรงพยาบาลโคกโพธิ์ เมื่อทราบข่าว ผู้เขียนต้องถามซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าใช่ในโรงพยาบาลจริงหรือเปล่า เพราะทุกคนคิดว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ควรยกเว้น ที่ผ่านมาการรณรงค์ไม่ให้ล้ำเส้นมนุษยธรรม ต่อพลเรือนและผู้อ่อนแอ แม้ไม่ได้ระบุเรื่องสถานที่ แต่ละไว้ เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า สถานที่ๆ ควรยกเว้นคือโรงพยาบาล โรงเรียน ชุมชน ศาสนสถาน ตามกติกาสากล

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอหรือกลุ่มเปราะบาง ยังรวมถึงคนเจ็บ ผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์ ญาติผู้ป่วย แม่ที่มีบุตรอายุน้อยกว่า 7 ขวบ ผู้สูงอายุ  บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางศาสนา ฯลฯ

เมื่อกลับมาทบทวน 10 ปี เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่มเป้าหมายที่กล่าวข้างต้นล้วนเป็นเหยื่อของความรุนแรงแล้วทั้งสิ้น เป็นการกระทำที่ขัดกับหลักมนุษยธรรมและละเมิดกติกาสากล พวกเราในพื้นที่ได้แต่เก็บตัวเลขผู้ที่ต้องได้รับการเยียวยา ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ในโลกของโซเซียลมีเดีย  เพียงพอแล้วหรือยัง  เราจะทำอะไรกันต่อไป!?

ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ได้ลงพื้นที่ชุมชนถนนมะกรูด อำเภอเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายจุดที่เกิดระเบิดในร้านเซเว่นอิเลฟเว่น เราเยี่ยมตามบ้าน/ร้านค้าประมาณ 20 หลัง (หลังเกิดเหตุฯ 5 วัน)  พบว่าส่วนใหญ่มีอาการนอนไม่หลับ ตกใจเวลามีเสียงดัง หวาดผวา แม้ว่าเพียง 2 คืนแรก  หลังจากนั้นสามารถดำเนินชีวิตตามกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ แต่ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น มีสติ ไม่ประมาท สอดส่องดูแลถ้าเห็นสิ่งปกติหน้าบ้านจะรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ถนนก็เงียบมาก ลูกค้าก็น้อยลง สิ่งที่สำคัญกว่าอาการทางจิตใจคือปากท้อง ความเป็นอยู่ รายได้ที่ลดลง

“ต้องอยู่ให้เป็น บ้านเรานะหมอ จะหนีไปไหน”

“อยากให้มีการอบรมเรื่องการซ้อมแผน...10 ปี แล้ววันนี้เกิดหน้าบ้าน ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง เช่น อยากช่วยคนเจ็บแต่ก็กลัวระเบิดลูกสองจะต้องทำอย่างไร”

“แต่ที่รับไม่ได้เลยจริงๆ คือระเบิดในโรงบาล”

นี่คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี  ยังแสดงความห่วงใยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล

ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้สูญเสียและผู้ได้รับบาดเจ็บ ขอประณามกับการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเปราะบางและการก่อเหตุในสถานบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (สถานีอนามัย)  ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า การกระทำที่ขัดต่อกติกาสากล จะทำให้ยิ่งห่างไกลจากเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง