Skip to main content

อิมรอน ซาเหาะ

        ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ดำเนินการจัดทำชุดโครงการความรู้  เรื่อง การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน มาตั้งแต่พ.ศ.2555 โดย ดลยา เทียนทอง นักวิจัยและกรรมการบริหารศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า การจัดทำชุดโครงการความรู้ในครั้งก็เพื่อผลิตองค์ความรู้ทางวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดใหม่ โดยมุ่งหวังให้เป็นบรรทัดฐานและสื่อกลางทางปัญญา ในอันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างพี่น้องชาวไทยมุสลิม  ผู้แทนอำนาจรัฐ และประชาคมไทย ซึ่งองค์ความรู้ทางวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดใหม่นี้  มุ่งให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงธรรมชาติอันเป็นสัจธรรมแห่งความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏอยู่ในภูมิภาคของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และในภาคพื้นส่วนอื่นของโลก ภายใต้กระแสการเมือง  เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   

        ในระยะเวลา  2  ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2555 - พ.ศ.2556) ได้มุ่งการดำเนินงานวิจัย  ควบคู่ไปกับการดำเนินงานวิชาการในลักษณะต่าง ๆ  ได้แก่ การเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนักวิชาการในพื้นที่จังหวัดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสัมมนาทางวิชาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำเสนอร่างรายงานวิจัย ฉบับปีที่ 1 และปีที่ 2 สู่สาธารณะ

        สำหรับใน พ.ศ. 2557  ซึ่งเป็นปีที่ 3  ได้มุ่งเน้นการจัดการข้อมูลความรู้อย่างต่อเนื่องสู่ระดับท้องถิ่น  ระดับชาติ  และระดับนานาชาติ โดยเริ่มจัดสัมมนาทางวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างเป็นระบบเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย ฉบับสมบูรณ์ให้เป็นที่รับทราบอย่างกว้างขวางในสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมอาเซียน ซึ่งกำลังก้าวสู่การเป็น‘ประชาคม’ อย่างสมบูรณ์ในพ.ศ. 2558  

        ทั้งนี้ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเฉพาะกลุ่ม เรื่อง  การประกอบสร้างประวัติศาสตร์ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน (ปีที่ 3) ขึ้นเมื่อวันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 6 คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  ในฐานะเจ้าภาพร่วมจัด ถือเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่สำคัญภายใต้การดำเนินการของชุดโครงการความรู้ฯ   โดยผู้ที่เชิญเข้าร่วมสัมมนาเป็นนักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ รวมทั้งสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมบางส่วนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและติดตามปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 15 คน ซึ่งผลการสัมมนาฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนถกประเด็นและขยายมุมมองการรับรู้ให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน นับเป็นประโยชน์ยิ่งในการจัดทำองค์ความรู้ทางวิจัยให้ลุ่มลึกและรอบด้านมากยิ่งขึ้น

        รองศาสตราจารย์ ดร. ชุลีพร วิรุณหะ ได้อธิบายถึงเป้าประสงค์ในการศึกษาวิจัย เรื่องสยามกับปาตานีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์: ประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ภายใต้การบูรณาการรัฐชาติ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามประการ ประการที่หนึ่ง ต้องการชี้ให้เห็น ตัวตน ของตัวเอกทั้ง 2 ฝ่าย ประการที่สอง เพื่อทำความรู้จัก ตัวตน ของทั้งสยามและปาตานี เพราะตัวตนก่อกำเนิด ความคิด และความคิดทำให้เกิด ความต้องการประการที่สาม เป็นการปรับมุมมองเกี่ยวกับ เทศะและเกละ กล่าวคือในส่วนของเทศะ (space) ต้องการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างปาตานีกับสยามที่เกิดขึ้นภายใต้พลวัตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนกาล (Time) ต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับสยามในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ และเป้าประสงค์ที่สำคัญยิ่งคือเป็นการเปิดพื้นที่ สีเทา อันหมายถึงไม่ได้ปฏิเสธการดำรงอยู่ของความทรงจำที่ขัดแย้งกัน และจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อความทรงจำทั้งสองชุดมากยิ่งขึ้น เพราะวิธีการที่ผู้คนในปัจจุบันถ่ายทอดความทรงจำเกี่ยวกับอดีตบ่งบอกถึง ตัวตน ความคิด และ ความต้องการ ของคนในปัจจุบัน และคนในปัจจุบันต่างหากหาใช่ความทรงจำเกี่ยวกับอดีตไม่ที่จะขับเคลื่อนอนาคต

        ในขณะที่ผู้ร่วมเสวนาหลายท่านพยายามชี้ให้เห็นว่า หากต้องการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาระหว่างสยามกับปาตานีในปัจจุบันให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน การศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยบูรณาญาสิทธิราชย์อาจไม่เพียงพอ เพราะประวัติศาสตร์หลังจากสมัยบูรณาญาสิทธิราชย์ส่งผลต่อปัญหาในปัจจุบันมากกว่า โดยดูได้จากขบวนการหลักที่ต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีในปัจจุบันอย่าง BRN ไม่ได้ต่อสู้เพื่อสถาปนาสุลต่านขึ้นมาปกครองปาตานีไม่ ดังนั้น การจะตอบโจทย์ ความต้องการซึ่งเกิดจาก ความคิด และ ตัวตนได้นั้น จะต้องศึกษาวิจัยสยามกับปาตานีหลังสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย และจะต้องศึกษาจากเอกสารโดยเฉพาะที่เป็นภาษามลายู อักษรยาวี ซึ่งยังไม่ถูกเปิดออกสู่สายตาสาธารณชนอีกเป็นร้อยกว่าเล่ม

mso-ascii-theme-font:major-bidi;mso-hansi-theme-font:major-bidi;mso-bidi-theme-font:
major-bidi">
        รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา และหัวหน้าชุดโครงการความรู้ การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกล่าวก่อนปิดการเสวนาว่า การที่ต้องปิดการเสวนาในขณะที่ผู้เข้าร่วมหลายท่านมีเรื่องที่อยากจะแลกเปลี่ยนอีกหลายประเด็นนั้น แสดงให้เห็นว่านี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะคุยกันถึงเรื่องนี้ ในอนาคตเรายังต้องพบเจอและพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้กันอีกอย่างแน่นอน

 

mso-ascii-theme-font:major-bidi;mso-hansi-theme-font:major-bidi;mso-bidi-theme-font:
major-bidi">

สามารถอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้จาก

นักวิชาการจุฬาฯวิจัย "ประวัติศาสาตร์สยาม-ปาตานี" เพื่อสมานฉันท์ยั่งยืน

“ประวัติศาสตร์ปาตานี” ในบริบทใหม่เพื่อรับใช้อนาคตการสร้างสันติภาพ 

แนะมองมุมใหม่และร่วมหาทางออกปัญหาประวัติศาสตร์สยาม-ปาตานี

เสวนาเวทีประวัติศาสตร์ปาตานี เผยการเปลี่ยนไปของ‘สถาปัตย์–วัฒนธรรม’ 

วงเสวนาชี้‘ประวัติศาสตร์อันตราย’แก้ไขได้ด้วยเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงอย่างสร้างสรรค์