Skip to main content

แผนฯ 11 กับมิติการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

 

            บาว นาคร*

 

 

            ในปัจจุบันประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เช่น กรณีความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ ภาวะการตกงาน ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด เป็นต้น ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและไม่สมดุล

 

            แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้นได้มีมาทั้งหมด 10 ฉบับแล้วตั้งแต่พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน เกือบ 50 ปีแล้วที่ประเทศไทยนั้นได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวแบบในการพัฒนาประเทศ ในอดีตที่ผ่านมามิติของกระบวนการพัฒนาส่วนใหญ่ได้เน้นเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และเป็นการกำหนดแผนพัฒนาฯจากส่วนกลางและนำไปสู่การปฏิบัติ  ทำให้ขาดมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแผนพัฒนาฯ ส่วนมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เพิ่งเกิดปรากฎขึ้นในแผนฯ ฉบับที่ 8 แต่กระบวนการจัดทำแผนพัฒนายังเป็นรูปแบบ top-down จากข้างบนเป็นผู้กำหนดเป็นส่วนใหญ่ จนถึงปัจจุบันซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีการนำเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และได้จัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 ซึ่งสาระสำคัญในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้ คือ

 

1.   ความท้าทายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ :โอกาสของประเทศไทย ซึ่งได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงิน ด้านพลังและอาหาร ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านแนวคิดการบริหารจัดการเศรษฐกิจและธุรกิจ ด้านการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศและการเมืองโลก และโอกาสของประเทศไทย

 

2.   เศรษฐกิจสร้างสรรค์: ทางเลือกเศรษฐกิจไทย ได้วิเคราะห์และเสนอว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา(Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity)และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual property)ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่

 

3.   ภาวะโลกร้อน :รู้วิกฤติ สร้างโอกาสการพัฒนา ได้วิเคราะห์แนวโน้มที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคตทั้งทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่างๆเช่น ทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน เป็นต้น

 

4.   สถาปัตยกรรมทางสังคม: ทางเลือกใหม่ของคนไทย ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากของประเทศไทย และสถาปัตยกรรมทางสังคมในระยะต่อไป เช่น  1)การปรับโครงสร้างทางสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพโดยนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ต่อยอดกับทุนทางสังคม วางรากฐานการพัฒนาสังคมที่ฐานราก การออกแบบสังคมที่มีคุณภาพจากสังคมใน4 มิติคือ สังคมแห่งความเอื้ออาทรและความสมานฉันท์(Social Cohesion) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Security) การรวมกลุ่มเพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรม(Social Inclusion) การเสริมสร้างพลังทางสังคม(Socail Empowerment) 2) พัฒนาคุณภาพของทุนมนุษย์ โดยเน้นกระบวนการพัฒนาที่คนเป็นศูนย์กลางทุกภาคส่วนสนับสนุน โดยภาคประชาชน ชุมชน เป็นผู้มีบทบาทเจ้าของเรื่อง เป็นกงล้อหลัก มีบทบาทสำคัญตลอดกระบวนการ ภาครัฐ ลดบทบาทความเป็นเจ้าของเพื่อเป็นผู้หนุนการสร้างศักยภาพของชุมชนและเอกชน

 

5.   สัญญาประชาคมใหม่: พลังขับเคลื่อนสังคมสู่สมดุล ได้วิเคราะห์และเสนอไว้ว่า สัญญาประชาคม หมายถึง ค่านิยมที่ประชาชนตกลงร่วมกันด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันในสังคมอย่างมีพลวัตตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรมอันดีของไทยตามภูมิภาคต่างๆยึดหลักคุณธรรมและความเป็นธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตรักษาสิทธิของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองให้ครบถ้วนและมีจิตสาธารณะ ยึดหลักแก้ไขความขัดแย้งในสังคมด้วยสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพยสิน และได้มีทิศทางการพัฒนาสัญญาประชาคมใหม่ ไว้ 5 ประเด็น คือ 1) ปรับกระบวนทัศน์ (paradigm) การพัฒนาประเทศใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา 2) สร้างค่านิยมร่วม (Shared Value) 3) พัฒนากระบวนการสัญญาประชาคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus) การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment)และนำไปสู่การปฏิบัติ(Action)โดยถ้วนหน้ากัน เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย พัฒนากลไกในระดับภาพรวม และพัฒนากลไกลในระดับชุมชน 4) สร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้าง กลไกและกระบวนการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนของสังคม 5) ขับเคลื่อนและวางระบบการติดตามประเมินผลในทุกระดับ

 

                 จากเนื้อหาสาระโดยสรุปของแผนฯฉบับที่ 11และวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 นั้นทำให้เห็นมิติของกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายประเด็น  ที่สำคัญคือในส่วนของสถาปัตยกรรมทางสังคม ได้มีเนื้อหาที่สื่อถึงมิติในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นหลักและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนา  ในส่วนของสัญญาประชาคมใหม่ ได้กล่าวถึง กระบวนการสัญญาประชาคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus) การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment)และนำไปสู่การปฏิบัติ (Action) ซึ่งเป็นภาพรวมและแนวทางกว้างๆในการนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

 

                 ในแผนฯ 11 นั้นผู้เขียนมีมุมมองว่า เนื้อหาสาระของ แผนฯ11 ส่วนใหญ่นั้นได้กล่าวถึงเศรษฐกิจรวมทั้งแนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ยังมีเนื้อหาสาระบางส่วนที่ขาดหายไป เช่น มิติของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่สามารถเอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้นน่าจะมีบรรจุไว้ในแผน ฯ11 ด้วย

 

                 ประการสำคัญ คือ ทำอย่างไรจะให้แผนฯ 11ที่ได้กำหนดไว้มีการพิจารณาอย่างครบถ้วนทุกมิติและรอบด้าน รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขโดยให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 



* บุญยิ่ง ประทุม, [email protected]