Skip to main content

 

 

 

กำหนดการเสวนาระดมความเห็นเรื่อง
“สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของรัฐในสถานการณ์ความขัดแย้ง” 
กับแนวทางการใช้พรบ.ความมั่นคงภายในฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เวลา 8.30-17.00 น.
ณ โรงแรม ซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี
จัดโดยสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิ KONRAD

 

 

8.30 – 9.00 น.                  ลงทะเบียน
9.00 - 9.15 น.                   กล่าวเปิดการเสวนา โดย ตัวแทนของสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิ KONRAD
9.15 -10.00 น.                  กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ
                                         “สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของรัฐ ในสถานการณ์ความขัดแย้ง”
                                          โดย ศ. วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  และผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศเกาหลีเหนือ
10.00-12.00 น.                 ที่มา หลักการ และรายละเอียดของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ศ.2551
                                                1. นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                                                2. นายสมชาย หอมลออ   ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
12.00-12.30                          ตอบข้อซักถามของประชาชนและผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็น
12.30-14.00                          รับประทานอาหารกลางวัน
14.00-16.30                          ระดมความคิดเห็นเรื่องการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ศ.2551 กับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
                                   (1) ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและแนวทางการได้รับความร่วมมือ
                                        ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
                                        พลต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลาม
                                        นายเมธา มาสขาว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
                                        ตัวแทนนักศึกษาและนักเรียนในพื้นที่สามจังหวัด
ตัวแทนชาวบ้านและผู้แทนภาคประชาชน (ภาคธุรกิจและภาคส่วนอื่นๆ)
                                    (2) ประเด็นเรื่องแนวทางการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
                                        พันเอก เลอชัย มาลีเลิศ เสนาธิการ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร
                                        นายวีระยุทธ สุขเจริญ รองผู้อำนวยการศอบต. (ยุติธรรม)
                                        นายนคร ชมพูชาติ   มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ศูนย์ทนายความมุสลิม
                                        สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจ จชต.*
                                        ผู้แทนตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ และผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ฯ
              ดำเนินรายการโดย อาจารย์อลิสา หาสะเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ. ปัตตานี
16.30-17.00                    ตอบข้อซักถามและสรุปการพูดคุย
หมายเหตุ:   อาหารว่างเสริฟเวลา 10.30 น. และ 15.30 น. ในห้องประชุม
*วิทยากรกำลังอยู่ในระหว่างการติดต่อประสานงาน

 

 
 
หลักการและเหตุผล
            เมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับความพิเศษหลายฉบับที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง อันได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ 2457 ที่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล เช่น การตรวจค้นเคหสถาน สิ่งของหรือการติดต่อสื่อสาร ห้ามชุมนุมหรือเข้าไปหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ เชิญและกักตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือเพื่อสอบถามโดยไม่ต้องมีหมายศาล เป็นต้น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ขออนุญาตศาลในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ เป็นเวลารวมกันแล้วถึงสามสิบวันโดยไม่ต้องตั้งข้อหา   นอกจากนี้ยังใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการ ค้น จับกุม ควบคุมตัว และฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาอาญาต่าง ๆ รวมทั้งความผิดเกี่ยวกับการกระทำการอันเป็นการก่อการร้าย กบฏและข้อหาความผิดร้ายแรงอื่น ๆ โดยที่ทางราชการหวังว่าการใช้กฎหมายพิเศษประกอบกับกฎหมายอาญาดังกล่าวจะทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ และแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้  อีกทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงส่วนหนึ่งก็เห็นว่ากฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่มีความจำเป็นต่อการควบคุมดูแลสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงเพิ่มมากขึ้น
            เวลาผ่านไปกว่า 4 ปีแล้ว แม้จำนวนการก่อเหตุไม่สงบอาจจะลดลงบ้าง แต่การก่อเหตุแต่ละครั้งได้สร้างความสูญเสียมากขึ้น ทั้งชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนทรัพย์สินของทางภาครัฐและเอกชน   ยิ่งไปกว่านั้นการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่นั้นได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างได้ผล  ดังนั้นการที่จะนำกฎหมายพิเศษคือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้เป็นเป็นเครื่องมือรัฐอีกฉบับหนึ่งนั้นจะสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่  ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่แล้วหรือไม่อย่างไร รวมทั้งการเผยแพร่และทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่จะนำกฎหมายพิเศษฉบับนี้มาปรับใช้กับสถานการณ์ในพื้นที่ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
ที่ผ่านมามีการนำกฎหมายพิเศษมาบังคับใช้โดยที่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับรู้ถึงที่มา เนื้อหา และแนวทางการบังคับใช้กฎหมายพิเศษฯ อาจมีการใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบหรือจงใจที่จะใช้อย่างบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐบางหน่วย ดังเช่นกรณีการบังคับให้ผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นแนวร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบไปรับการฝึกอาชีพเป็นต้น ทำให้การบังคับใช้กฎหมายส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนโดยไม่สมควรและเป็นการบั่นทอนหลักนิธิธรรมซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย   
นอกจากนี้ตามกรอบกฎหมายพรบ.ความมั่นคงฯ ฉบับใหม่จะมีแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่อาจแตกต่างไปจากเดิม เช่นตามมาตรา16 ที่ระบุว่าเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ภายในได้ และตามมาตรา 18 ให้ผู้อำนวยการกอรมน.โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดต่าง ๆ ที่จำกัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และโดยเฉพาะในบทบัญญัติในมาตรา 21 ที่ให้เจ้าหน้าที่ โดยการตรวจสอบของศาล สามารถยุติการดำเนินคดีอาญาผู้ต้องหาที่มอบตัวหรือที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยให้ผู้ต้องหาเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทน กระบวนการดังกล่าวคล้ายกับการต่อรองให้ผู้ต้องหารับสารภาพเพื่อไม่ต้องฟ้องดำเนินคดีอาญาผู้ต้องหา (Plea Bargaining) ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในกระบวนการยุติธรรมของไทย  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีวิธีการหรือมาตรการอย่างไรที่จะประกันว่าจะมีการชี้แจงให้สาธารณะชนได้ทราบในขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายใหม่เหล่านี้หรือไม่  การดำเนินการมีความโปร่งใส่ตรวจสอบได้หรือไม่อย่างไร   รวมทั้งมีขั้นตอนที่จะป้องกันไม่ให้มีการใช้กฎหมายโดยมิชอบ ดังที่ได้เคยเกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ตรงแล้วจากการบังคับใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งได้ส่งผลให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไปมิใช่น้อย
             จากการที่สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ได้ร่วมกันจัดอบรมกฎหมายในพื้นที่ และได้ติดตามเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษร่วมกับองค์กรอื่นๆ เช่นศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นต้นพบว่าประชาชน ข้าราชการ รวมทั้งผู้ปฎิบัติงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ฯ ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายความมั่นคงฯ อีกทั้งมีข่าวสารได้สื่อในลักษณะที่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะนำมาใช้ในพื้นที่ฯ ในอนาคตอันใกล้   ทางผู้จัดฯ เห็นความสำคัญในการจัดเวทีเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้และเข้าใจเรื่องกฎหมายพรบ.ความมั่นคงฯ และเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องการใช้กฎหมายพรบ. ความมั่นคงฯ ในพื้นที่สามจังหวัดและ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยพิจารณาถึงหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักการด้านสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของรัฐ  และศึกษาแนวทางการบังคับใช้กฎหมายของรัฐว่าจะเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการลดหรือยุติสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ฯได้จริงหรือไม่ โดยจะจัดเวทีระดมความคิดเรื่อง “สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของรัฐในสถานการณ์ความขัดแย้งกับแนวทางการใช้กฎหมายความมั่นคงภายในฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ในวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เวลา 8.30-17.00 น.   ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี

 

 

Event date