Skip to main content
เผยแพร่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555
 
แถลงการณ์
ขอให้รัฐบาลทบทวนแนวทางจัดตั้งกองกำลังทหารพราน
ในการแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้

          เป็นที่ประจักษ์ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องนั้นอาสาสมัครทหารพรานมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและเป็นกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555  มีกลุ่มคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวน ใช้เครื่องยิงกระสุน เอ็ม 79 ยิงใส่ฐานชุดปฏิบัติการ ทหารพราน 4302 หมู่ 3 บ.น้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี  จากนั้นกำลังทหารพรานได้กระจายกำลังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและได้เกิดเหตุทหารพรานยิงรถยนต์กระบะของชาวบ้าน ขณะกำลังเดินทางไปละหมาด ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ตาย 4 ศพ และบาดเจ็บ 4 ราย เป็นชาวบ้านบ้านตันหยงปุโละ หมู่ 1 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนนำไปสู่การสั่งย้ายกองกำลังทหารพรานจำนวนสองกองร้อยคือชุดปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4302 และ  4306 เป็นต้น
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีย และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และคณะกรรมอิสระที่จะจัดตั้งขึ้นสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมาเพื่อหาคำตอบต่อเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว เพื่อให้ผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม 
 
นโยบายการจัดตั้งกองกำลังทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูลพบว่ารัฐบาลโดยกระทรวงกลาโหม กองทัพภาคที่ 4 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจัดให้มีประกาศรับสมัครประชาชนชายหญิงอายุ 18-20 ปีเข้ารับการฝึกและปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครทหารพรานตั้งแต่ปลายปี  2554 โดยจะมีการเพิ่มจำนวนอาสาสมัครทหารพรานจำนวนกว่า5000 นาย โดยแบ่งเป็นกองร้อยทหารพรานจำนวนทั้งสิ้น 12 กรม กับอีก 9 หมวดทหารพรานหญิงเป็นหน่วยปฏิบัติการหลักในพื้นที่ควบคู่กับกองพลทหารราบที่ 15 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนการปฏิบัติหน้าที่ของทหารหลัก ทั้งนี้ไม่มีการเปิดเผยถึงเหตุผลแต่อย่างไรว่ากองกำลังทหารพรานจะมียุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีอย่างไรในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ฯ
 
จากความไม่ชัดเจนดังกล่าวมูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการจัดตั้งกองกำลังทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  โดยหลักการควรเน้นแนวทางลดกำลังติดอาวุธในพื้นที่แทนการเพิ่มจำนวนกองกำลังในพื้นที่ โดยเฉพาะการรับสมัครพลเรือนชายหญิงอายุ 18-20 ปี เพื่อฝึกอาวุธซึ่งมีหลักสูตรอบรมที่จำกัดกว่าทหารหลักและจัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีความซับซ้อนของปัญหาความขัดแย้งและมีบรรยากาศความไม่ไว้วางใจกันสูงในกลุ่มประชากรต่าง ๆ ทำให้การฝึกอาวุธและการมอบหมายงานที่มีความเสี่ยงต่อพลเรือนฝึกอาวุธและให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครทหารพรานอาจมีความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดต่อการละเมิดกฎหมายในขณะปฏิบัติหน้าที่    อีกทั้งอาจขาดซึ่งประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และขาดการอบรมเรื่องกฎการใช้อาวุธตามระเบียบปฏิบัติสากลว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the use of force and firearms by law enforcement officials)  ทั้งนี้ทางหน่วยงานระดับนโยบายควรคำนึงถึงความสูญเสียของบุคคลที่เพิ่งผ่านพ้นช่วงวัยเยาวชน ต้องมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครทหารพรานในพื้นที่ความขัดแย้งเป็นความสูญเสียที่มิอาจประเมินค่าได้ ฉันใด  ความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องและขาดซึ่งการกำกับดูแลของผู้บังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพก็มิอาจประเมินค่าได้ฉันนั้น
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
2 กุมภาพันธ์ 2555