Skip to main content

เยียวยา แดง – มลายู

ครม.รัฐบาลปู อนุมัติงบ 2,000 ล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบคนเสื้อแดง อ้างว่าช่วยทุกกลุ่มทุกสี เฉลี่ยรวมรายละ 7.75 ล้าน  ฝ่ายค้าน รมว.ยุติธรรมเงา ถาวร พรรคประชาธิปัตย์ ร้องรัฐบาลทบทวนการจ่ายเงินเยียวยาชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 47  “อภิสิทธิ์  หัวหน้าฝ่ายค้าน ปชป. ข้องใจนำภาษีจ่ายเยียวยาคนเผาเมือง” “เฉลิม รองนายกฯ ชงจ่ายเยียวยา 3 จว.ใต้ ปัดให้แต่เสื้อแดง”  นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์  ข่าวออนไลน์  เพื่อประชาชน  หรือ  เพื่อคนของตน  หรือ  แค่“เล่น”การเมือง

  

หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 55 ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการประสานงานและติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธาน  ให้ชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนปี 49 ถึง 53  วงเงิน 2,000 ล้านบาท หรือจะได้รับการเยียวยาสูงสุดรวมรายละ 7.75 ล้านบาท

ถือว่าเป็นการเยียวยาจิตใจประชาชนคนไทยของรัฐบาลปู 1 ที่สามารถสร้างคะแนนเสียงต่อคนเสื้อแดงให้พุ่งสูงขึ้นได้ในพริบตา แต่ในประเทศที่ถูกเรียกว่า “ไทย” ไม่ได้มีเพียงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์รัฐประหาร และการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง – เสื้อแดง เท่านี้  การตัดสินใจให้ความช่วยเหลือชดเชยในครั้งนี้ ไม่ได้มองออกไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมืองหลวง พื้นที่ชายแดน ความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน มีมากมายหลายเท่า  ซึ่งชีวิตของวีรชนที่ถูกสละวิญญาณออกจากร่างทิ้งไว้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นับหลายพันคน เพียงพริบตาเดียวเช่นกันคะแนนเสียงรัฐบาลปู 1 ก็ตกลง  การมอบเงินหลักล้านแก่ผู้ที่สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่อ้างว่าจากเหตุการณ์ชุมนุมเหลือง-แดง รัฐบาลไม่สามารถควบคุมความคิดของประชาชนได้ว่า เงิน 7.75 ล้านบาท ว่าเป็นการปูนบำเหน็จแก่คนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อพรรคเพื่อไทยจนสามารถจัดตั้งรัฐบาล

สังเกตได้จากการออกมาให้ข่าวของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ที่ออกมาเรียกร้องเงินเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตเป็นประเด็นที่พูดกันมาในช่วงของการหาเสียงพรรคเพื่อไทยก็ได้เปิดประเด็นและพูดถึงในเรื่องเอาไว้เช่นกัน มันเป็นเหมือนกับการสัญญา ซึ่งเป็นการคุยกันกับบางกลุ่มที่สนับสนุนพรรค แต่ไม่ได้เป็นนโยบายที่ครอบคลุมทั่วทุกกลุ่มสี และพื้นที่ขัดแย้งทางการเมือง  สอดคล้องกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. ที่ออกมากล่าวถึง เรื่องเดียวกันว่าเป็นเรื่องที่ทางพรรคเพื่อไทยเคยคุยกันตั้งแต่หลังการสลายการชุมนุมว่า หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 10 ล้านบาท  2 แกนนำ นปช. ออกมาพูดบนผลประโยชน์ของคนเสื้อแดงถือเป็นผู้มีบุญคุณต่อแกนนำคนเสื้อแดงที่สามารถเข้าไปนั่งในสภาอันทรงเกียรติ และพรรคเพื่อไทยให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลและกุมเสียงข้างมากในสภาได้อีกด้วย

แต่ยังไม่ทันข้ามวันของการแถลงทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีเงา ก.ยุติธรรม กล่าวในประเด็นที่มติครม.ปู อนุมัติชดเชยเงินเยียวยา2,000 ล้านบาท ว่า เป็นการกำหนดกรอบไว้เฉพาะแก่ผู้ชุมนุมปี 47 เป็นต้นมา ถาวร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเงินเยียวยาแก่เหยื่อความรุนแรงจากเหตุการณ์ใต้ตั้งแต่ปี 47 ที่มีการเสียชีวิตจำนวนมากในสมัยรัฐบาลทักษิณอีกด้วย เช่นเดียวกับ หัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มองประเด็นนี้ว่ารัฐบาลต้องสร้างความชัดเจนว่าเหยื่อที่จะได้รับการเยียวยาจากนโยบายของรัฐบาล หากเป็นการเยียวยาเหยื่อทางการเมืองแล้วอีก 5,000 ชีวิตจากเหตุการณ์ชายแดนใต้ รวมทั้ง 2,000 ศพจากการฆ่าตัดตอนยาเสพติด ต้องให้เกิดความเสมอภาคกันทุกกลุ่มกรณี จะให้นำเงินภาษีประชาชนไปจ่ายแจกแก่กลุ่มคนบางกลุ่มไม่ได้

สงครามน้ำลายในการเล่นเกมการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ เป็นการนำเอาความสูญเสียของประชาชนทั้งที่มีเชื้อชาติ  ศาสนาที่ต่างและคล้ายกัน เป็นการเดินเกมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มคะแนนเสียง และก็เป็นเครื่องมือในการลบภาพลักษณ์ของอีกฝ่ายได้อีกด้วย  การลงมติของครม. เพื่อช่วยเหลือเยียวยา จ่ายค่าชดเชย ค่าปลงศพ ค่ารักษาพยาบาล และค่าอื่นๆรวมรายละ 7.75 ล้านบาท เห็นได้ชัดถึงให้ความช่วยเหลือที่มีมาตรฐานที่ต่างกัน  หรือที่ได้ยินกันบ่อยคือ “2 มาตรฐาน” ระหว่างเหตุการณ์ชุมชนของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่เกิดการสูญเสียต่อประชาชนผู้ร่วมชุมนุม และประชาชนบริเวณโดยรอบของสถานที่ชุมนุม  ร้านค้า  บ้านเรือน  ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โครงสร้างทางสังคม  สภาพจิตใจ  เหตุการณ์จากทั้งสองกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นความคิดเห็นต่างทางด้านการเมือง และถือว่าส่วนใหญ่เป็นคน “ไทย” ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน การให้ความช่วยเหลือจึงเป็นการมอบสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่ส่งผลให้ตนได้สามารถยืนเด่นในฐานะนักการเมือง รัฐมนตรีได้เท่านั้น  แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่ “พวกเดี่ยวกัน” คงต้องรอส่วนที่เหลือจากอภิสิทธิ์ชนเสียก่อน

สำหรับเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ตกเป็นเหยื่อซ้ำซ้อนต่อเกมการเมือง ที่ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยเป็นคนเชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาที่ต่างกันกับคนส่วนใหญ่และรัฐบาลจากส่วนกลาง  ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม  เชื้อสายมลายู  รวมทั้งคนไทยจากนอกพื้นที่ทั้งพุทธและมุสลิม  ในประเด็นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่แห่งนี้ถือได้ว่ามีระเบียบของการช่วยเหลือเป็นต้นฉบับสำหรับการเยียวยากรณีอื่นในประเทศไทย แต่หลังการออกมาแถลงมติของครม.ที่มีการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้มากกว่าสองเท่ากับการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นการย้ำการแบ่งระดับชั้นของ“รัฐไทย” ไม่ว่าจะมีใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม การมองเห็นความต่างทางด้านเชื้อชาติ  ภาษา  วัฒนธรรม  ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง และปัจจัยอื่น เป็นตัวชี้วัดการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนา การเยียวยา และในด้านอื่นๆ

และการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อมติครม.รัฐบาลปู ของสองแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามนำประเด็นการเยียวยาคนเสื้อแดง เชื่อมกับการเยียวยากรณีเหตุการณ์ใต้ เป็นเกมการเมืองที่สลับสับเปลี่ยนการเล่นมาตลอด พรรคใดเป็นรัฐบาลอีกฝ่ายจะหยิบยกประเด็นชายแดนใต้ขึ้นมาโจมตี เมื่อตนมีคะแนนมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะถูกอีกฝ่ายกล่าวหาในประเด็นเดียวกัน  แต่สิ่งที่ตนเองได้พูดในสมัยที่เป็นฝ่ายค้านกลับไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติแต่อย่างใดเมื่อได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรี   ไม่ใช่เพียงความจริงใจในกรณีของการจ่ายเงินเยียวยาเท่านั้น ที่ทั้ง “รัฐไทย” และ “รัฐบาลไทย” สามารถแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มลายูเท่านั้น  การยอมรับในความคิดเห็นต่างทางการเมือง  ความต่างทางวัฒนธรรม  ความเชื่อทางศาสนา  ถือเป็นการเยียวยาความเข้าใจของรัฐไทยต่อชาวมลายูในพื้นที่ เพื่อที่จะสามารถยุติ  เหตุร้าย  ความสูญเสีย เด็กกำพร้า  หญิงหม้าย  ผู้ต้องสงสัย  จำเลย  และการคอรัปชั่นในโครงการของรัฐเองได้อีกด้วย

แต่เกมที่รัฐบาลปู พยายามลดกระแสการออกมาวิจารณ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาคนเสื้อแดง คือ การออกมาประกาศให้วันตรุษจีน เป็นวันหยุดราชการประจำปีสำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีประชากรเชื้อสายจีนอยู่จำนวนหนึ่งแต่น้อยกว่าชาวมลายูที่เป็นคนส่วนมาก และชาวไทยที่รองลงมา  ถือว่าเป็นการมองเห็นความสำคัญในความต่างทางด้านเชื้อชาติของรัฐบาลชุดนี้  แต่การเรียกร้องให้มีการปิดในวันสำคัญทางวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เคยมีการยื่นเสนอต่อรัฐบาลหลายรัฐบาลรวมทั้งรัฐบาลทักษิณอีกด้วย แต่ข้อเรียกร้องของคนส่วนมากในพื้นที่ที่มีความต่างในหลายๆด้าน ได้รับการตอบรับน้อยและช้ามาก แต่สำหรับกลุ่มคนที่สามารถให้ผลประโยชน์แก่รัฐได้ รวมทั้งมีความเชื่อและเหมือนกันหลายๆด้านแล้วย่อมได้รับการตอบรับที่เร็วกว่า

การมองเห็นความสำคัญของวันสำคัญๆทางวัฒนธรรมของคนมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ แม้ว่าจะประกาศให้เป็นวันหยุดหรือไม่  และการมองเห็นความคิดเห็นที่ต่างทางด้านการเมืองการปกครอง หรือ ระบอบการปกครอง ที่เป็นแนวคิดที่สันติ หรือ รุนแรง รัฐจำเป็นที่ต้องเปิดพื้นที่การยอมรับในใจตนเอง(ผู้ปกครอง)เสียก่อนว่า  มีแนวคิดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง  และพื้นที่เวทีทางการเมือง  หรือเวทีพูดคุย  เจรจากับกลุ่มแกนนำตัวจริงของขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ก็จะเกิดขึ้นตามมา  จะส่งผลให้การทิ้งงบประมาณลงมาไม่สิ้นเปลืองหรือศูนย์เปล่า และไม่จำเป็นที่ต้องทุ่มเงินเยียวยาเพื่อพวกพ้องให้เกิดปัญหาตามมาจนเกิดเป็นเกมการเมืองสาดน้ำลายใส่กันเกิดขึ้น

การเยียวยาสังคมด้วยความจริงใจ  และยอมรับ คือ จิ๊กซอว์หนึ่งที่จะต่อให้เห็นคำว่า “สันติภาพ” ในพื้นที่ได้