Skip to main content

 สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มอ.ปัตตานี ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลงานวิจัยชิ้นบุกเบิก “ลูกขุนพลเมือง” (Citizens Jury)

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มอ.ปัตตานี และ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลงานบุกเบิกใช้กระบวนการ “ลูกขุนพลเมือง” (Citizens Jury) เพื่อพิจารณาต้นแบบการบริหารรัฐกิจและการปกครองแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลการวิจัย ตัวแทนประชาชนเสนอยุบการปกครองส่วนภูมิภาค เลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นระดับมณฑลและจังหวัด ชี้กระบวนการลูกขุนพลเมืองมีประโยชน์ในการเรียนรู้ประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 คณะวิจัยได้แถลงผลการวิจัยในโครงการวิจัยศึกษาพัฒนาต้นแบบการบริหารรัฐกิจและการปกครองแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยวิธีการทดสอบกับภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวใช้รูปแบบการวิจัยแบบใหม่ที่มีชื่อว่า คณะลูกขุนพลเมือง หรือ Citizens Jury ซึ่งเป็นกระบวนการของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) รูปแบบหนึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดย Jefferson Center ประเทศสหรัฐอเมริกา กระบวนการของงานวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก เป็นการออกแบบกระบวนการทั้งหมดภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษา และสุ่มคัดเลือกคณะลูกขุนพลเมืองหรือตัวแทนภาคประชาชนที่จะพิจารณาตัวแบบการปกครอง ระยะที่สอง เป็นกระบวนการรับฟังและปรึกษาหารือ โดยคณะลูกขุนพลเมืองรับฟังและซักถามข้อมูลเกี่ยวกับการปกครองรูปแบบต่างๆ จากพยาน ก่อนจะอภิปรายอย่างอิสระกระทั่งหารือร่วมกันสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลการวิจัยที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากผลสรุปของการอภิปรายและปรึกษาหารือของคณะลูกขุนพลเมืองตามประเด็น (Charge) 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 อะไรคือคุณค่าสำคัญในการสร้างความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้? (เรียงลำดับจากมากสุดสู่น้อยสุด) ที่ประชุมคณะลูกขุนมีฉันทามติเห็นว่า ความยุติธรรม เป็นคุณค่าที่สำคัญที่สุด อันนำมาซึ่งความสงบสุขและนำไปสู่การพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การศึกษา และคุณภาพชีวิต

ประเด็นที่ 2 รูปแบบการปกครองในปัจจุบันสามารถสร้างความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่ อย่างไร? คณะลูกขุนมีความเห็นว่า โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน ไม่มีประสิทธิภาพ มีช่องโหว่ทางการปฏิบัติ ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม สายการบังคับบัญชายาวเกินไป ทำให้ข้าราชการในพื้นที่ไม่สนองความต้องการของประชาชน แต่ไปสนองความต้องการของผู้บังคับบัญชาจากส่วนกลาง

ประเด็นที่ 3 การปกครองรูปแบบใดจะนำมาซึ่งความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้? คณะลูกขุนมีข้อเสนอให้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาค ยกเว้นด้านความมั่นคง (ทหาร) การต่างประเทศ และนโยบายด้านการเงิน ทั้งนี้ให้คงเหลือไว้เพียงการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคมาขึ้นกับส่วนท้องถิ่นแทน ส่วนผู้บริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการคัดกรองที่เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งจะจัดขึ้นใน 2 ระดับ คือ ระดับมณฑล 1 คน เป็นผู้ว่าการมณฑล ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ และระดับจังหวัด 4 คน เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดละ 1 คน ส่วนอีก 4 อำเภอให้ยกฐานะเป็นจังหวัด

นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ หนึ่งในคณะลูกขุนพลเมืองกล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ตนได้เรียนรู้กระบวนการใหม่และผู้คนใหม่ๆและหลากหลาย เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนที่แม้จะมีที่มาแตกต่างหลากหลายได้แสดงความคิดเห็นและฝึกรับฟังความเห็นกันและกัน เขตการปกครองพิเศษอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับลูกขุนบางคน แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะได้เรียนรู้ ตนเองคิดว่ากระบวนการลูกขุนพลเมืองสามารถนำไปใช้ในอนาคตเพื่อบูรณาการความคิดของทุกภาคส่วนได้ดี เป็นกระบวนการที่มีความเป็นกลาง มีทั้งผู้ให้ข้อมูล ผู้ซักถาม การคัดค้านและสนับสนุนอย่างเป็นอิสระ”

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผอ.สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้กล่าวว่า “โครงการลูกขุนพลเมืองเป็นแนวคิดใหม่ในการตัดสินนโยบายและเรื่องทางการเมือง ที่ให้ความสนใจกับการตัดสินใจของสามัญชน คนธรรมดาที่มีความเข้าใจและเหตุผล มีข้อมูลประกอบการคิดการตัดสินใจเรื่องนโยบายสาธารณะและช่วยกันคิดหาทางเลือกให้สังคมในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จุดเริ่มมาจากแนวคิดแบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือของประชาชน หรือประชาธิปไตยทางตรงที่เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงในเรื่องนโยบายสาธารณะ เพราะเราเชื่อในประชาชนเราถึงมีระบบนี้ได้ เมื่อนำแนวคิดนี้มาใช้กับทางเลือกสาธารณะ เช่น นโยบายโครงการสาธารณะ หรือการเลือกรูปแบบการเมืองการปกครองแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจึงต้องมีระบบคณะลูกขุนมาตัดสินในร่วมกันว่าสังคมคิดอย่างไร เชื่ออย่างไรและตัดสินใจอย่างไรในเรื่องการปกครองแบบธรรมาภิบาลในการแก้ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนเขาคิดอย่างไรก็ต้องเคารพการตัดสินใจแบบนี้ การปกครองแบบประชาธิปไตยจึงต้องอาศัยระบบคณะลูกขุนพลเมืองมาแก้ปัญหาความขัด แย้งทางการเมือง โดยระบบลูกขุนจะเป็นตัวเสริมให้กับประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เรามีอยู่แล้ว เช่นระบบรัฐสภาเพื่อให้มันมีความสมบูรณ์ขึ้น แต่ไม่ใช่มาแทนระบบตัวแทนทางการเมืองแบบเดิมที่มีอยู่แล้ว ควรเพิ่มทางเลือกใหม่ในการตัดสินใจโดยประชาชน เพื่อประชาชนและโดยประชาชนแบบนี้”