Skip to main content

นอกสภา : รัฐบาลอภิสิทธิ์กับปัญหาปัตตานี


                บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นช่วงเวลาระหว่างเปิดสภาอภิปรายไม่ใว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ครั้งสุดท้ายก่อนประกาศยุบสภา

1.       การทหารนำการเมือง แนวทางแก้ไขปัญหาปัตตานี รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้มอบอำนาจหน้าที่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้แก่กองทัพเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหากับกลุ่มผู้ก่อการ ซึ่งสวนทางกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ประกาศว่าจะใช้ นโยบายการเมืองนำการทหาร ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างประจักษ์ชัดก็คือ เรื่องของเครื่องตรวจสารพัดนึก GT 200 เรือเหาะ กล้องวงจรปิด เสื้อเกราะกันกระสุน ฯลฯ

2.       ความรู้เดิม โครงสร้างเติมแต่ง หลักคิด การปฎิบัติ การทำงานรัฐบาลประชาธิปัตย์ ได้จัดวาง ระเบียบ แนวทางการแก้ไขปัญหาเข้าสู่ระบบงานราชการ การจัดวางกรอบนโยบายมุ่งกลับไปที่การทำงานของหน่วยงานราชการแบบปกติทั้งหมด อย่างเช่น คาถาของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ก็คือ การพยายามพัฒนาพื้นที่ให้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และการรื้อฟื้นอำนาจโครงสร้างเดิมและเพิ่มอำนาจก็คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็น สำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ (สบ.ชต.) เพื่อเป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวในการทำงานแก้ปัญหาปัตตานี

3.       กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งยกฟ้องคดีอาญาอิหม่ามยะผา กาเซ็งในศาลพลเรือน เนื่องจากจำเลยคนที่ 6 ซึ่งเป็นตำรวจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องการกระทำความผิด และจำเลยคนที่ 1- 5 ศาลไม่รับฟ้องเนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ดังนั้นจำเลยอีก 5 นายที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารต้องในศาลทหารต่อไป ซึ่งคดีนี้ได้รับการติดตามขององค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก

4.        ปริศนาการตายของสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี  โดยเจ้าหน้าที่ได้ยืนยันว่านายสุไลมาน แนซา ได้ผูกคอตาย แต่ทว่าญาติและคนในพื้นที่จำนวนมากไม่เชื่อว่า นายสุไลมาน แนซา จะผูกคอตาย คดีอยู่ระหว่างสอบสวน และมีการติดตามคดีจากกลุ่ม นักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกพื้นที่

5.       กรณีตากใบ คดีไต่สวนการตายผู้ชุมนุมกรณีตากใบ 78 ราย ศาลมีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตได้ขาดอากาศหายใจ ไม่สามารถโยงได้ว่าใครเป็นคนกระทำ ซึ่งตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 ปีที่ญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต ได้เดินทางมาที่ศาลทุกนัด แม้ว่าศาลจะเลื่อน หรือว่าจำเลยไม่สามารถมาศาลได้ ชาวบ้านก็ไม่เคยที่จะขาดนัดศาล แต่ทว่าผลของการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้ ได้ทำให้แนวทางสันติวิธีหดแคบลงอย่างน่าอนาจใจ

6.       กรณีการยิงถล่มมัสยิดอัลฟุรกอน เหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทบความรู้สึกต่อพี่น้องมุสลิมปัตตานี กรณีการยิงถล่มมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอปาแย จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บสาหัส 12 คน โดยคณะพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้สรุปสำนวนคดีกราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งมี นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ ตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว โดยมีความเห็น "สั่งไม่ฟ้อง" 

7.       กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีตสารวัตร กอ.รมน. ช่วยราชการกองปราบปราม ร่วมกับพวก 5 คน ที่ต้องเป็นจำเลยกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย ต่อกรณีของทนายสมชาย ซึ่งถือว่าเป็นคดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาปัตตานี แต่ทว่า การพิพากษาของศาลครั้งนี้ ได้ถูกตั้งคำถามอย่างมากมายจากนักสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ และคำถามที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ความกล้าหาญของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์อยู่ที่ไหน? ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอภิสิทธิ์บอกว่า คดีนี้ถือว่าเป็นคดีใหญ่และได้รับความสนใจจากพี่น้องมุสลิม ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่ใจและระมัดระวังต่อการดำเนินพิสูจน์หลักฐานทางคดี  ซึ่งผลของการตัดสินคดีนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงคำที่ว่า ดีแต่พูด 

8.       รัฐบาลประชาธิปัตย์กับเขตการปกครองพิเศษ การประกาศมหานครปัตตานี ของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ออกมาขายฝันทางการเมือง ผนวกกับงานศึกษาวิจัย เขตการปกครองพิเศษ ของอาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี และการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม ได้ทำให้พรรครัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ต้องออกมาขานรับแบบอิหลักอิเหลื่อ ว่าอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหาแต่ทว่าไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้าที่ความคิดหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในกรอบแนวคิดของการแก้ไขปัญหาปัตตานีของรัฐบาลประชาธิปัตย์ กล่าวโดยสรุป ก็คือ เขตการปกครองพิเศษย่อมไม่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลของประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน เพราะคิดว่ากรอบการแก้ไขปัญหาการปกครองพิเศษ หากต้องการคำตอบก็สามารถย้อนกลับไปพิจารณาและยืนยันกับ ข้อสอง ความรู้เดิม โครงสร้างเติมแต่ง