Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 

ใบแจ้งข่าว 
มูลนิธิผสานฯ ส่งหนังสือขอให้แม่ทัพ, ผบ.ศปก.ตร. และกสม.
ตรวจสอบผู้ต้องหาปล้นปืนอ้างถูกซ้อมทรมาน
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมส่งหนังสือลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ขอให้พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคสี่ ส่วนหน้า พล.ต. ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ตรวจสอบอย่างจริงจังโดยอิสระ โปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้เสียหาย ในข้อร้องเรียนกรณีนาย เอ (นามสมมุติ) ราษฎรจังหวัดนราธิวาสร้องเรียนว่าถูกทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และขอให้จัดบุคลากรด้านการแพทย์จากภายนอกตรวจร่างกายนายเอ ที่พบว่าร่างกายมีร่องรอยการถูกทำร้าย มีรอยมัดข้อมือด้วยเชือก นายเอระบุว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ทหารบังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นตั้งแต่เช้า จากนั้นก็ถูกทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพเกี่ยวกับการปล้นปืน โดยการเตะตามร่างกาย และให้นอนหงายในลำธารบนภูเขาและถูกเจ้าหน้าที่ฯ เหยียบเพื่อให้จมน้ำ 2 ครั้ง  บาดแผลบาดที่ข้อมือทั้งสองข้างเนื่องจากการถูกเชือกรัด มีบาดแผลจากรอยมีดกรีดยาวประมาณ 5 นิ้วที่ตรงกลางหน้าท้อง มีรอยฟกช้ำจากการถูกแตะที่หน้าท้องด้านขวาเป็นบริเวณกว้างประมาณ 3 นิ้ว และบริเวณที่ก้นด้านซ้ายมีรอยช้ำกว้างประมาณ 1 นิ้ว ซึ่งโดนทุบด้วยไม้กว้างประมาณ 5 นิ้ว นายเอ ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554 และญาติได้เยี่ยมเพียงครั้งเดียว  ต่อมาถูกนำตัวไปสอบสวนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยญาติไม่สามารถติดตามตัวและทราบว่านายเอถูกนำตัวไปที่ใดไม่ได้พบกับนายเอ เป็นระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์คือระหว่างวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554  ปัจจุบันนายเอ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศปก.จชต และปัจจุบันได้รับการเยี่ยมตามปกติ
 
ทางมูลนิธิฯเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ เป็นการกระทำทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพของนายเอนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ซึ่งเป็นกติการะหว่างประเทศและเป็นหลักการสากล  แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการควบคุมผู้ต้องสงสัยเพื่อประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวนหรือจับผู้ต้องหาที่ศาลอนุญาตให้ออกหมายจับแล้วก็ตาม แต่ไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำการทรมานหรือทำร้ายร่างกายหรือบังคับด้วยวิธีการใดให้บุคคลรับสารภาพ  เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักการสืบสวนสอบสวน การแสวงหาพยานหลักฐาน และการดำเนินคดีตามแนวทางที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น  
 
นอกจากมูลนิธิฯ จะเรียกร้องให้มีการนำแพทย์จากภายนอกเข้าตรวจรักษาและบันทึกร่องรอยการถูกทำร้ายของนายเอแล้ว ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังเรียกร้องด้วยว่า ถ้าปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่ามีการซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่กระทำ เจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจกับการซ้อมทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยี่ศักดิ์ศรีดังกล่าว ทั้งนี้การดำเนินการตรวจสอบดังกล่าวจะเป็นการป้องปรามและยุติการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นวงจรของความรุนแรงที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้