Skip to main content

บทบาทของชะรีอะห์ภิบาล (Shariah Governance) ในสถาบันการเงินอิสลาม

โดย ดร. ธวัช นุ้ยผอม
ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นการจัดตั้งบอร์ดฟัตวากลางเพื่อสร้างมาตรฐานการเงินอิสลามได้มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่าการมีบอร์ดฟัตวากลางในระดับประเทศเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเงินอิสลามของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ประสิทธิภาพของชะรีอะห์ภิบาลของสถาบันการเงินอิสลามในประเทศไทย บทความฉบับนี้วิเคราะห์ระบบชะรีอะห์ภิบาลในสถาบันการเงินอิสลามในประเทศไทย และนำเสนอแนวทางพัฒนาระบบดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพในอนาคต

ชะรีอะห์ภิบาล หรือ การควบคุมทางชะรีอะห์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตอย่างถูกต้องและยั่งยืนของสถาบันการเงินอิสลามในประเทศไทย การควบคุมด้านชะรีอะห์ที่ดีทำให้สถาบันการเงินอิสลามสามารถหลีกเลี่ยงข้อห้ามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย (Riba) ความไม่แน่นอนแห่งนิติกรรมสัญญา (Gharar) การพนัน (Maysir) การผลิตสินค้าที่ไม่อนุมัติตามหลักการอิสลาม (Haram products) และการเอารัดเอาเปรียบในสังคม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า หากสถาบันการเงินอิสลามสามารถนำหลักการชะรีอะห์ใช้ในการดำเนินกิจการและการบริการของสถาบันอย่างเคร่งครัดจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจต่อไป

          ในปัจจุบันสถาบันการเงินอิสลามในประเทศได้พยายามนำหลักการชะรีอะห์ภิบาลมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยมีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาทางชะรีอะห์จากผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักกฎหมายอิสลาม คณะที่ปรึกษานี้มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำผู้บริหารธนาคารเกี่ยวกับหลักการอิสลามที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ในธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย คณะที่ปรึกษาทางชะรีอะห์สามารถแต่งตั้งได้ตามมาตรา 32 พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545นอกจากนี้ธนาคารอิสลามยังมีหน่วยงานที่สุ่มตรวจและควบคุมด้านชะรีอะห์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในโครงสร้างการบริหารอีกด้วย สหกรณ์อิสลามที่มีจำนวนมากกว่า 50 สหกรณ์ แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาชะรีอะห์ในคณะอนุกรรมการด้านชะรีอะห์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตามมาตรา 51 หรือ 53 พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2553 จะเห็นได้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านชะรีอะห์ในสถาบันการเงินอิสลามในประเทศไทยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และน่าจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสถาบันการเงินอิสลามที่ตอบสนองความต้องการทางการเงินของมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมในประเทศ

          ต่อคำถามที่ว่า ระบบชะรีอะห์ภิบาลที่มีอยู่ในสถาบันการเงินอิสลามในประเทศไทยในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดนั้น ผู้เขียนจะวิเคราะห์จากบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสถาบันการเงินอิสลาม ได้แก่ หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินของรัฐ คณะที่ปรึกษาชะรีอะห์ และผู้บริหารและพนักงานของสถาบันการเงินเอง ธนาคารอิสลามเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตามการกำกับดูแลธนาคารอิสลามแห่งประเทศอาศัยนโยบายและแนวปฏิบัติเหมือนกับธนาคารทั่วไป โดยไม่ได้นำกรอบแนวคิดการกำกับดูแลที่อาจแตกต่างในบางประเด็นของหลักการเงินอิสลามสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ชะรีอะห์ภิบาลก็เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญดังกล่าว อีกทั้งในปัจจุบัน กระทรวงการคลังยังไม่มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถวางระบบชะรีอะห์ภิบาลเพื่อช่วยในการกำกับดูแลสถาบันการเงินอิสลามได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักการอิสลามอย่างแท้จริง ในส่วนของการกำกับดูแลด้านชะรีอะห์ภิบาลของสหกรณ์อิสลามก็เช่นเดียวกัน หน่วยงานที่กำกับดูแลสหกรณ์ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือ กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ก็ยังไม่มีการกำกับดูแลด้านชะรีอะห์ภิบาลอย่างจริงจังเนื่องการขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้โดยตรง ดังนั้นการกำกับดูแลด้านชะรีอะห์ภิบาลของสถาบันการเงินอิสลามในประเทศไทยต้องอาศัยคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านชะรีอะห์ของสถาบันเอง

          อย่างไรก็ตามอำนาจในการกำกับดูแลของคณะที่ปรึกษาชะรีอะห์ยังจำกัดอยู่กับการให้คำปรึกษา ไม่ใช้การกำกับดูแลทั้งระบบ ทั้งการให้คำปรึกษาดังกล่าวจะเหมือนกับสถาบันการเงินอิสลามในต่างประเทศ ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้คณะที่ปรึกษาชะรีอะห์ไม่สามารถตรวจสอบการดำเนินกิจการของสถาบันการเงินอิสลามได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในทางปฏิบัติของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย คณะที่ปรึกษาจะให้คำปรึกษาตามที่ผู้บริหารธนาคารอิสลามมีข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับชะรีอะห์เท่านั้น ซึ่งธุรกรรมบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับหลักการอิสลามอาจนำสู่การปฏิบัติโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษาชะรีอะห์ ข้อผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสถาบันการเงินอิสลามในประเทศไม่ใช่มุสลิมและไม่มีที่ปรึกษาชะรีอะห์กลางที่เกี่ยวกับการเงินอิสลามระดับประเทศ ในส่วนของสหกรณ์อิสลาม คณะที่ปรึกษาด้านชะรีอะห์เป็นครูสอนศาสนาและผู้รู้ด้านชะรีอะห์ในพื้นที่ เนื่องจากเครื่องมือทางการเงินที่สหกรณ์นิยมใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้กันมานาน ความจำเป็นที่ต้องขอคำปรึกษาชะรีอะห์มีน้อยมาก ดังนั้นคณะที่ปรึกษาชะรีอะห์อาจเป็นการแต่งตั้งเพื่อการยอมรับของสมาชิกมากกว่า ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคณะที่ปรึกษาชะรีอะห์คือคณะบุคคลเหล่านี้ขาดความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สถาบันการเงินในหลายๆประเทศกำลังประสบ ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่มีการวางแผนเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน โดยมีการบัณฑิตด้านกฎหมายเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินอิสลามให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ทั้งด้านกฎหมายอิสลามและเศรษฐศาสตร์และการเงินเพื่อรองรับการพัฒนาให้ประเทศมาเลเซียเป็นศูนย์กลางการเงินอิสลามโลกต่อไป

          ปัจจัยที่สำคัญของการสร้างระบบชะรีอะห์ภิบาลที่ดี คือ ความรู้ ความเข้าใจ และการดำเนินการตามหลักการชะรีอะห์ของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินอิสลาม และการกำหนดระบบและกระบวนงานการควบคุมทางชะรีอะห์ของสถาบันการเงินอิสลาม พนักงานธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม ดังนั้นความรู้ ความเข้าใจ และความลึกซึ้งของการนำหลักการชะรีอะห์ยังมีน้อย ในขณะเดียวกันมุสลิมทีมีความรู้ ความชำนาญทางการเงินสมัยใหม่ยังมีน้อย ทำให้เกิดช่องว่างในการนำหลักการชะรีอะห์สู่การปฏิบัติในการดำเนินการของธนาคาร ในสหกรณ์อิสลาม ซึ่งพนักงานเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม อาจมีปัญหาชะรีอะห์ภิบาลที่เกิดจากการนำเครื่องมือทางการเงินอิสลามไปใช้ของพนักงานสหกรณ์ เช่น การใช้สัญญาซื้อขายแบบผ่อนส่ง (มูรอบาฮะห์) หากมีการตั้งลูกค้าหรือสมาชิกเป็นตัวแทนในการจัดซื้อ ลูกค้าอาจไม่ซี้อสินค้าตามวัตถุประสงค์เดิม ลูกค้าบางรายนำเงินที่ได้จากสหกรณ์ไปจ่ายดอกเบี้ยนอกระบบที่สมาชิกกู้ยืมมาทำธุรกิจ และความล่าช้าของสหกรณ์ในการให้บริการสินเชื่อ

จะเห็นได้ว่า การนำหลักการการให้คำปรึกษาทางชะรีอะห์ที่จะนำไปสู่ชะรีอะห์ภิบาลที่ดีนั้นต้องใช้มากกว่าหลักกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้อีกด้วย นั้นก็หมายความว่า ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดต้องตระหนักถึงความสำคัญของชะรีอะห์ภิบาล และสร้างระบบชะรีอะห์ภิบาลที่ดีในสถาบันการเงินอิสลามที่มีประสิทธิภาพอย่างเร่งด่วนต่อไป ในระดับประเทศ หน่วยงานด้านกำกับดูแลสถาบันการเงินอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจสอบบัญชี ต้องให้ความสำคัญกับขะรีอะห์ภิบาล พร้อมทั้งจัดหาเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความชำนาญด้านการกำกับดูแลชะรีอะห์ให้เพียงพอ เพื่อสร้างระบบชะรีอะห์ให้ถูกต้องและสอดรับกับนโยบายการบริหารสถาบันเงินของประเทศในภาพรวม คณะที่ปรึกษาด้านชะรีอะห์อาจต้องมีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นให้มีอำนาจในการกำกับดูแลกิจกรรมของสถาบันการเงินอิสลามทั้งระบบให้ถูกต้องตามหลักการอิสลาม ไม่ใช่มีบทบาทเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น คณะที่ปรึกษาเป็นส่วนหนึ่งของระบบตรวจสอบธุรกิจของสถาบันการเงินอิสลามอย่างเป็นอิสระ ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารและพนักงานของสถาบันการเงินอิสลามต้องสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และ ปฏิบัติตามระบบการตรวจสอบด้านชะรีอะห์  (Shariah audit system) อย่างเคร่งครัด แนวทางที่กล่าวมาจะทำให้ชารีอะห์ภิบาลของสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งและยั่งยืน และจะมีส่วนให้สถาบันการเงินอิสลามมีความถูกต้องและตอบสนองความต้องการด้านการเงินของมุสลิมอย่างแท้จริง ดังนั้นสรุปได้ว่าแนวคิดการสร้างบอร์ดฟัตวาอาจเป็นความจำเป็นสำหรับความเจริญเติบโตของการเงินอิสลามในอนาคต แต่ระบบชะรีอะห์ภิบาลที่มีประสิทธิภาพเป็นความจำเป็นต่อประสิทธิภาพและความถูกต้องของการดำเนินงานของสถาบันการเงินอิสลามในประเทศในวันนี้และวันต่อๆไป