Skip to main content

สามจังหวัดชายแดนใต้ หาหนทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี

 

มารียัม อัฮหมัด และมาตาฮารี อิสมาแอ
ปัตตานี และนราธิวาส

    180306-TH-oxfam-women-1000.jpg
    กลุ่มสตรี ทำกิจกรรม ระหว่างการสัมมนา “ช่องว่างการใช้กฎหมายไทยและกฎหมายอิสลามเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้” ที่โรงแรมอิมพีเรียล อำเภอเมือง จ.นราธิวาส วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2561
     มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    นักสิทธิสตรี ผู้นำศาสนา และเจ้าหน้าที่รัฐ ได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดกับหญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มีผู้รู้ศาสนาที่เป็นผู้หญิงร่วมมีส่วนในการตีความกฎหมายอิสลามในเรื่องสิทธิของผู้หญิง การทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจและคณะกรรมการอิสลาม และการให้การศึกษาถึงสิทธิสตรี

    ซึ่งในห้วงปีที่ผ่านมา นักสิทธิสตรี และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า มีสตรีประสบปัญหาการถูกทำร้ายร่างกาย และไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจำนวนหลายร้อยราย โดยเจ้าหน้าที่กรรมการอิสลามกลางประจำจังหวัดปัตตานี รายงานว่าปีที่ผ่านมามีผู้หญิงเข้ามาร้องเรียน 722 คน แก้ไขปัญหาได้เพียง 270 คน ส่วนในจังหวัดนราธิวาส นับจากเดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้  มีผู้หญิงเข้ามาขอหย่าและไกล่เกลี่ย 62 คน ดำเนินการแก้ไขให้ได้เพียง 20 คน อีก 42 คน ยังมีปัญหาอยู่

    “ในปัจจุบัน ศาสนาอิสลาม ถูกท้าทายจากทั่วโลกในเรื่องแนวคิดสุดโต่งในการใช้ความรุนแรง ดังนั้น มุสลิมจึงควรยืนยันหลักการ การไม่ใช้ความรุนแรง โดยเริ่มจากการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบในครอบครัว” นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวต่อที่สัมมนา “ช่องว่างการใช้กฎหมายไทยและกฎหมายอิสลามเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้” ที่จัดขึ้นในวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมโรงแรมอิมพีเรียล อ.เมือง ในจังหวัดนราธิวาส

    การสัมมนานำโดยคณะทำงานโครงการเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว ประกอบด้วย องค์การอ็อกซ์แฟม เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ชมรมผู้นำมุสลีมะห์จังหวัดนราธิวาส และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย

    นางอังคณา ได้กล่าวเสนอทางออกไว้หลายประการ ประการแรก คือ ให้รัฐ สถาบันทางศาสนา และผู้นำศาสนา สนับสนุนให้มีการรวมตัวกันของผู้รู้ศาสนาที่เป็นผู้หญิง เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการตีความกฎหมายอิสลามในเรื่องสิทธิของผู้หญิง ให้เกิดความเข้าใจร่วมกันทั้งหญิงและชาย

    นอกจากนั้น ควรให้มีตัวแทนที่ผู้หญิงให้การยอมรับให้มีส่วนร่วม และสามารถทำข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในการตัดสินคดีครอบครัวและมรดก หรือการตีความทางศาสนาที่เกี่ยวกับผู้หญิงได้ รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐาน การร่วมสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองผู้หญิงให้พ้นจากความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว และควรมีสถานที่ซึ่งผู้หญิงจะสามารถพึ่งพิงได้ กรณีเกิดปัญหาครอบครัว ประการสุดท้าย รัฐ สถาบันทางศาสนา และผู้นำศาสนา ควรสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่ทำงานเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิง โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครองแก่ผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

    “การละเมิดทางเพศต่อสตรี พบว่าแม้สตรีมุสลิมจะมีสามีแล้ว แต่ยังพบมีการถูกคุกคามทางเพศ ด้วยสายตา วาจา และการกระทำ หรืออื่นๆ เหล่านี้ ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ และมีมาตรการป้องกันมิเกิดขึ้นอีกในสังคม ส่วนตัวเห็นว่า อิสลามให้ความสำคัญกับความยุติธรรมมาก การแก้ปัญหา จึงต้องเริ่มจากความยุติธรรมและความจริงใจ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” นางอังคณา กล่าว

    ปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ทางออกอื่นๆ

    นางเอ (นามสมมติ) ซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดยะลา ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองมีความสามารถในการได้ยินบกพร่อง เมื่อครั้งสามีมาขอแต่งงานในตอนแรกนั้น เขาไม่ได้บอกว่ามีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว แต่ตนมาทราบในภายหลังว่า ตนเองตกเป็นภรรยาคนที่สองโดยไม่เต็มใจ และยังถูกบังคับเอาเงิน

    “ตลอดที่ผ่านมา สามีไม่เคยทำงาน แต่จะเอาเงินจากฝั่งนี้ไปสร้างบ้านใหม่ ซื้อของให้ภรรยาเก่า ช่วงหลังมานี้ เขาจะหายไป พอจะหลุดพ้นในฐานะสามี เขาจึงมาหาก่อนที่จะครบสี่เดือน แล้วเอาเงินทองไป ถ้าไม่ให้ก็ทำร้ายร่างกาย ทำให้เราเสียเปรียบ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจะไปร้องเรียน เขาก็ขู่ไว้ ก็ต้องจำใจ” นางเอ กล่าว

    ด้านนายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามกลางประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในทำนองดังกล่าวนี้ กลายเป็นปัญหาที่หนักมากขึ้น

    “ในระยะเวลาสี่เดือนจากพฤศจิกายน 2560 ถึงกุมภาพันธ์ 2561 มีผู้หญิงเข้ามาขอหย่าและไกล่เกลี่ย 62 คน ดำเนินการแก้ไขให้ได้เพียง 20 คน อีก 42 คน ยังติดปัญหาอยู่ โดยมากเป็นเรื่องการไม่ให้ค่าเลี้ยงดู ทำร้ายร่างกาย อิสลามกลางประจำจังหวัดทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมให้สามีปฏิบัติตามสัญญาแต่งงาน แต่หากไม่ดูแลเลี้ยงดู ทำร้ายร่างกาย จำเป็นต้องไปหาดาโต๊ะยุติธรรม” นายซาฟีอี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    นายซาฟีอี กล่าวอีกว่า เมื่อเครือข่ายผู้หญิงเสนอตัวเข้ามาช่วยทำงานจึงยินดีมาก เพราะที่ผ่านมา การสอบถามเกี่ยวกับการถูกทำร้ายร่างกาย โดยผู้นำศาสนาที่เป็นผู้ชายมีข้อจำกัดเรื่องการตรวจสอบบาดแผล และความละเอียดอ่อนต่อจิตใจผู้หญิง

    นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในปัจจุบันพบว่าปัญหาความรุนแรงที่มีต่อเด็กและสตรี ในทุกพื้นที่ประเทศไทยอัตราเฉลีย 87 รายต่อวัน สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

    “เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจสำหรับผู้หญิง ว่าจะทำอย่างไร ให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาอยู่ได้รับการคุ้มครอง และเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งภายใต้กฎหมายไทยและกฎหมายอิสลาม” นางรอซิดะห์ กล่าว

    ส่วนในจังหวัดสงขลา นายณปก์ภรณ์ บิลหีม รองอัยการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีการบูรณาการ ในการลดความรุนแรงต่อผู้หญิงตั้งแต่ปี 2560 ด้วยความร่วมมือของสหวิชาชีพ

    “โดยการที่อัยการประสานสหวิชาชีพให้เข้าหาชุมชนเพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิง และทำบันทึกข้อตกลงกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้ปรับปรุงการอบรมก่อนแต่งงาน ให้มีหัวข้อเรื่องกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว และ อยู่ระหว่างการหารือให้กรรมการอิสลามอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายไทยเข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงยอมความที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ ซึ่งจะทำให้เกิดการบังคับใช้ได้” นายณปก์ภรณ์ กล่าว

    ด้านการฝึกอบรมให้ความรู้ สหภาพยุโรปได้สนับสนุน โครงการเพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ดำเนินการโดยภาคีเครือข่ายองค์กรผู้หญิง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยจะมีการฝึกอบรมแกนนำผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ต่ำกว่า 100 คน ให้มีทักษะความรู้ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายอิสลาม เพื่อให้บริการคำปรึกษาผู้หญิงได้อย่างมืออาชีพ ในสำนักงานอิสลามจังหวัดนราธิวาสและในชุมชน จำนวน 20 แห่ง รวมทั้ง การจัดเก็บฐานข้อมูล รวมทั้งการณรงค์เพื่อปรับเจตคติ

    ความยากจนคืออุปสรรคในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

    ดร. ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดีคณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ได้กล่าวถึงผลการสัมภาษณ์เมื่อแปดปีก่อนว่า ผู้หญิงไม่กล้าเรียกร้องความยุติธรรม เพราะมีฐานะยากจน

    “ผลสรุปจากการศึกษาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้หญิง ผู้นำศาสนา และดาโต๊ะ เป็นจำนวนมาก พบว่าไม่มีคดีมาขอความยุติธรรมกับดาโต๊ะเรื่องสิทธิค่าเลี้ยงดูเลยแม้แต่คดีเดียว ข้อค้นพบสำคัญเป็นเพราะยังไม่มีกองทุนผู้หญิงให้มีเงินจ้างทนายเพราะผู้หญิงที่นี่ส่วนใหญ่ยากจน... ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิของตัวเองหลังหย่า ค่าดูแลตัวเอง ค่าเลี้ยงดูบุตร”” ดร.ฆอซาลี กล่าว

    “สิทธิที่ให้ผู้หญิง ยังไม่มีใครได้ไปตามที่ศาสนาอิสลามกำหนดไว้ การปรับปรุงกฎหมายตามกระแสสังคม เป็นเหตุผลที่ทำให้คนอยากเข้ามาพึ่งกฎหมาย ซึ่งใช้หลักการว่า ทำแล้วอิสลามไม่เสื่อมเสีย” ดร.ฆอซาลี กล่าวทิ้งท้าย

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.benarnews.org