Skip to main content

 

กองทัพภาคที่ 4 ฟ้องอิสมาแอ เต๊ะ กล่าวหาทหารซ้อมทรมาน

 

มารียัม อัฮหมัด 
ปัตตานี
 
 
180214-TH-army-libel-1000.jpg
พันโทเศรษฐสิทธิ์ แก้วคูณเมือง รองหัวหน้าแผนกฎหมาย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายอิสมาแอ เต๊ะ ที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561
 มารียัม อัฮหมัด/ปัตตานี
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พันโทเศรษฐสิทธิ์ แก้วคูณเมือง รองหัวหน้าแผนกกฎหมาย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ในวันพุธนี้ เพื่อเอาผิดกับนายอิสมาแอ เต๊ะ จากการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ทหารว่า ได้ซ้อมทรมาน ขณะถูกควบคุมตัว ผ่านรายการโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561

พ.ท.เศรษฐสิทธิ์ เดินทางเข้าแจ้งความพร้อมด้วยทนายความ และนายทหารพระธรรมนูญ ตามการมอบหมายของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อดำเนินคดีกับนายอิสมาแอที่กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ผ่านรายการนโยบาย by ประชาชนว่า ใช้วิธีซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยเพื่อให้รับสารภาพในคดีความมั่นคง โดยระบุว่า ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ต่อนายอิสมาแอ

"นายอิสมาแอ เต๊ะ กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่า ได้ทำการทรมานตนเพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งไม่เป็นไปตามความจริง นายอิสมาแอ เป็นเจ้าหน้าในการรวบรวมข้อมูลให้กับองค์กรสื่อใช้ชื่อข้อมูลรายงานสถานการณ์ชายแดนใต้ ซึ่งทหารได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเรื่องการซ้อมทรมานดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งรายงานดังกล่าว กอ.รมน. เคยยื่นฟ้องบรรณาธิการไปแล้ว และได้ทำการไกล่เกลี่ยทางคดีความเป็นที่เรียบร้อย” พ.ท.เศรษฐสิทธิ์กล่าว

“นายอิสมาแอ มีความพยายามที่จะกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด ในส่วนของความกดดันจากภาคประชาชนที่อาจเกิดขึ้น ไม่รู้สึกวิตกกังวล เนื่องจากการดำเนินงานในครั้งนี้ ต้องการที่จะพิสูจน์เรื่องข้อกล่าวอ้างว่า ไม่เป็นความจริง ขอให้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่ทหารว่า ไม่มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาอย่างที่กล่าวอ้าง”

ทางด้าน พ.ต.ท.ถนัด ค่ำควร รองผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี ผู้รับแจ้งความกล่าวว่า ได้รับแจ้งความแล้ว และหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐาน รวมถึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ปากคำ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้าน นายอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี (HAP) ผู้ถูกกล่าวหาจากกองทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ทราบเรื่องที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความเอาผิดแล้ว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตนเองพร้อมที่จะต่อสู้คดีเช่นกัน

“ทราบเรื่องการแจ้งความจากเพื่อนโทรมาบอก แต่ยังไม่ทราบว่าแจ้งในข้อกล่าวหาเรื่องอะไร ในส่วนของการออกไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมก็พูดในเรื่องของผม ซึ่งเป็นคดีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ศาลปกครองได้ตัดสินแล้ว จ่ายค่าเสียหาย และได้รับค่าเสียหายเรียบร้อยแล้ว 3 แสนกว่าบาท ตอนนี้ก็หมดแล้ว ก็พร้อมที่จะสู้ เพราะมีหลักฐานทุกอย่างมีใบรับรองแพทย์ มีเอกสารรับรอง ว่าถูกทำร้ายร่างกายจริงๆ เพราะผมถูกซ้อมจริง นี่คือสิ่งที่พูด ทางช่องไทยพีบีเอสที่ผ่านมา” นายอิสมาแอกล่าว

ในรายการ นโยบาย By ประชาชน ตอน “ยุติซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ ต้องมีกฎหมาย” ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหานายอิสมาแอว่า ได้พูดจาหมิ่นประมาทกองทัพนั้น มีช่วงหนึ่งนายอิสมาแอได้ระบุรายละเอียดการซ้อมทรมาน เช่น การสั่งให้นายอิสมาแอ และเพื่อน 7 คน ถอดเสื้อ กินข้าวกลางแจ้งขณะที่ฝนตก ใช้ปืนจี้ศีรษะ เตะ ตบ เพื่อให้รับสารภาพการกระทำผิด หรือใช้ไม้ตี เป็นต้น

โดยในกรณีการซ้อมทรมานดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินคดีที่นักศึกษายะลาฟ้องเจ้าหน้าที่ทหาร ข้อหาทำร้ายร่างกาย และซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว เมื่อปี 2551 ซึ่งผู้ฟ้องคดีครั้งดังกล่าว ประกอบด้วย นายอิสมาแอ เต๊ะ นายอามีซี มานาก ฟ้องร้องเอาผิดกองทัพบก และกระทรวงกลาโหม โดยศาลปกครองพิพากษาว่า เจ้าหน้าที่ทหารกระทำมิชอบ ในการควบคุม และซ้อมทรมาน และให้จ่ายค่าชดเชย เป็นเงิน 45,400 บาทต่อคน

ฮิวแมนไรท์วอทช์: ไทยไม่เคารพสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน

ในวันอังคารนี้ (เวลาในประเทศสหรัฐอเมริกา) องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ตำหนิการที่รัฐบาลไทยได้ประกาศให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้นว่า เป็นเรื่องที่กลวงเปล่า และไร้ความหมายเนื่องจากรัฐบาลไทยไม่เคารพสิทธิมนุยชน และไม่ได้เดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

“ที่ผ่านมาหลายพันคนได้ถูกเรียกตัวเข้าพบ และถูกกดดันให้ยุติการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับรัฐบาลทหาร คสช.อ้างว่าการแสดงความเห็นทางการเมืองที่หลากหลายทำให้ขาดความสามัคคีในสังคม และมักจะสั่งห้ามการอภิปรายสาธารณะ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทยภายใต้การปกครองของทหาร” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

“กองทัพมักใช้การควบคุมตัวแบบลับกับผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง โดยสามารถควบคุมตัวบุคคลได้นานถึงเจ็ดวันโดยไม่มีการแจ้งข้อหา และมีการสอบปากคำพวกเขาโดยไม่ให้เข้าถึงทนายความ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ” ข้อความหนึ่งจากแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.benarnews.org