Skip to main content

 

อ่าน “แสง น้ำ และรวงข้าว : ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น” 

เราจะอยู่ร่วมกันอย่างเห็นอกเห็นใจกันอย่างไร

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Patani Forum

 

 

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เปิดตัวหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า “แสงน้ำ และรวงข้าว: ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น”  เขียนโดย ผศ.ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า และหนังสือเล่มนี้จะถูกนำมาเสนอและถกเถียงอีกครั้งในพื้นที่ที่คาดหวังว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้จะถูกนำไปปรับใช้ได้จริง คือ พื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่จะถึงนี้ โดยเป็นหนังสือที่ถูกจัดพิมพ์ขึ้นภายใต้โครงการทักษะวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อได้รับหนังสือเล่มเล็กๆ นี้มา ความสงสัยของผู้อ่านเริ่มต้นตั้งแต่ชื่อหนังสือ ที่ไม่แน่ใจว่า แสง น้ำ และรวงข้าว จะสามารถอธิบายถึง วัฒนธรรมอย่างไร แล้วทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น เป็นอย่างไร จากจุดเริ่มต้นของชื่อหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนเริ่มเปิดหนังสือเพื่อหาความหมาย แต่กลับพบจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจจาก พ่อมด และ แม่มด เป็นชื่อที่ใช้แทนผู้เขียนคำนิยมแก่หนังสือเล่มนี้ นั่นคือ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่เริ่มเปิดเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งแม่มดได้เริ่มด้วยการให้ความหมายของทักษะวัฒนธรรมและกล่าวถึงโครงการอบรมทักษะวัฒนธรรมที่ได้ทำขึ้นเพื่อต้องการเป็นอีกหนทางที่นำไปสู่ความเข้าใจกันของคนในพื้นที่ชายแดนใต้ และจบด้วยการเล่านิทานที่แม้ว่านิทานหรือนิยายจะไม่ใช่เรื่องจริง ทว่านิยายกลับบอกอะไรเราหลายอย่างที่ตำราบอกไม่สำเร็จ ขณะที่พ่อมดตั้งคำถามที่สำคัญว่า “ทำอย่างไรจึงจะอาศัยพลังวัฒนธรรม มาหยุดหรือลดความสูญเสียที่เกิดจากพลังมืดของความรุนแรงในภาคใต้ได้?” ซึ่งเป็นโจทย์หลักของการเข้าใจและประยุกต์ใช้ทักษะวัฒนธรรมในบริบทของพื้นที่ชายแดนใต้

หากดูคร่าวๆ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือวิชาการเล่มหนึ่ง ที่ผ่านการศึกษาจากแหล่งข้อมูลจำนวนมาก ด้วยกับเอกสารอ้างอิงที่กินพื้นที่ของหนังสือไปหลายหน้า แต่อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็พยายามเขียนตั้งแต่บทนำว่าจะเป็นหนังสือที่พยายามทำให้ย่อยง่าย และให้คนที่หลากหลายสามารถเข้าใจได้ ถึงเนื้อหาภายใน เมื่อกล่าวถึงเนื้อหาแล้ว ประกอบไปด้วยงานเขียนสี่ตอน นับตั้งแต่การทำความเข้าใจความหมายของทักษะวัฒนธรรม ตามด้วยลักษณะพื้นฐานของทักษะวัฒนธรรม ตลอดจนเรื่องความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างการฟังกับความเป็นอื่น และปิดท้ายด้วยประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างทักษะวัฒนธรรมและความอ่อนน้อมถ่อมตน

อาจารย์เดชา ได้กล่าวไว้ในบทนำว่า หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอยุทธวิธีทางปรัชญาและทฤษฎี เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจการพบปะทางวัฒนธรรมเป็นการพบปะระหว่าง “ตัวเรา” กับ “คนอื่น”กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว งานเขียนนี้ดำรงอยู่เพื่อ “คนอื่น”  ฉะนั้นแล้วหากกล่าวโดยรวมการถกเถียงของหนังสือเล่มนี้ก็เพื่อทำความเข้าใจและถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นทักษะทางวัฒนธรรม ที่แน่นอนว่าต้องเรียนรู้ ฝึกฝน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อกัน ทักษะเช่นนี้จะช่วยให้การอยู่ภายใต้สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถมีทางเลือกในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในระดับสังคมด้วยสันติวิธีได้ อาจารย์เดชา กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า “สิ่งที่ผู้คนในสังคมต้องตระหนักก็คือ เมื่อคนที่แตกต่างมาอยู่ร่วมกัน การมีขันติธรรมต่อความแตกต่างนั้นไม่พอ แต่เราต้องเฉลิมฉลองความแตกต่างด้วย ตราบเท่าที่การฉลองดังกล่าวไม่ทำให้เราต้องยอมจำนนต่อการเชื่อใน (การใช้) ความรุนแรงต่อคนที่ต่างจากเรา ทั้งนี้เพราะความแตกต่างนี่เองที่ทำให้เราเห็นโลกและจักรวาลได้หลายหลากและความรู้ที่หลากหลายนี้เองที่จะบำรุงเลี้ยงสังคมให้เดินทางไปในอนาคตได้อย่างราบรื่นมากขึ้นถ้าเราได้เรียนรู้ที่จะมีทักษะในทางวัฒนธรรมต่อกันและกัน”

เมื่ออ่านจนจบเล่ม คำตอบต่อคำถามแรกเริ่ม ต่อความหมายของชื่อหนังสือเล่มนี้ ก็ค่อยๆ ถูกคลี่ออกมาถึงที่สุดแล้วหนังสือเล่มนี้เปรียบวัฒนธรรม เสมือน “แสง” ที่ทำให้เห็นโลก ซึ่งมีหลายเฉดสี โดยแสงนั้นหากมันจ้าไป ก็จะทำให้เรามองไม่เห็นแสงอื่นๆ ผ่านกระจกที่อยู่นอกบ้านของเรา สำหรับ “น้ำ” ก็เปรียบเสมือนกับความไหลลื่นของการปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่นที่เราจำเป็นต้องมี และเมื่อมีแสงและน้ำที่เหมาะสมแล้ว พืชพันธุ์แห่งปัญญาจะงอกงาม เสมือนกับ “รวงข้าว” ที่ต้องการแสงและน้ำที่เหมาะสมจนสามารถงอกงามได้ และยิ่งมีเมล็ดมากขึ้น รวงข้าวก็จะยิ่งโน้มลงต่ำ เสมือนกับผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง ถึงที่สุดแล้วการหาคำตอบต่อประเด็น “ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น” ที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะชี้ให้เห็น ก็อาจเป็นความหวังว่าจะให้แสงที่มีหลายเฉดสีได้มาอยู่ร่วมกัน สามารถปฏิสัมพันธ์อย่างไหลลื่นต่อผู้อื่นเช่นสายน้ำ และสภาวะที่แสงและน้ำพอเหมาะก็จะช่วยให้พืชที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างรวงข้าวสามารถเติบโตได้