Skip to main content

 

 

ความรู้ในพื้นที่สาธารณะกับการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

Knowledge in the Public Sphere and its Supports for Pat(t)ani Peace Process

 

อิมรอน ซาเหาะ

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเอเชียปริทัศน์ของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับว่าด้วย “แนวโน้มและทิศทางของอาเซียน ภายหลังการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ปีที่ 37 ฉบับที่  มกราคม – มิถุนายน 2559, หน้า 29-52) แม้ว่าข้อมูลบางส่วนจะไม่ร่วมสมัยเพราะเป็นบทความที่เก็บข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2555 - 2558 ทว่าผู้เขียนมีความเห็นว่าบทความชิ้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในประเด็นดังกล่าวนี้ได้นำไปต่อยอดต่อไป จึงนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง โดยได้ขออนุญาตจากต้นสังกัดผู้ผลิตวารสารเอเชียปริทัศน์เรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจวารสารเอเชียปริทัศน์ของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถสั่งซื้อได้ที่ http://www.ias.chula.ac.th


บทคัดย่อ

            หนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อสันติภาพคือ การให้ความรู้และกระจายความรู้ในทุกแขนงซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะและศักยภาพของสมาชิกในสังคมแห่งความขัดแย้งให้มีองค์ความรู้ที่จะสนับสนุนการสร้างสันติภาพและมีสภาพของสังคมที่พร้อมต่อการพัฒนาและหันไปหาแนวทางที่ไม่ใช้อาวุธ โดยสื่อสารผ่านพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำให้ความรู้เหล่านั้นเข้าถึงผู้คนให้ได้มากที่สุด ชายแดนใต้/ปาตานี เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังมาเป็นเวลานาน แต่ขณะเดียวกันกระบวนการสันติภาพก็ยังคงดำเนินไปพร้อมๆ กัน มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในสังคม ในการจัดเวทีหรือสัมมนาร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ให้มีความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อสภาวะที่ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง บทความชิ้นนี้พยายามตั้งคำถามหลักว่า ลักษณะของความรู้ในพื้นที่สาธารณะของชายแดนใต้/ปาตานีที่ช่วยสนับสนุนกระบวนการสันติภาพมีลักษณะอย่างไร มีความครอบคลุมและเพียงพอหรือไม่ ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะตั้งคำถามในส่วนสุดท้ายถึงข้อท้าทายของความรู้ที่มีอยู่ในพื้นที่สาธารณะนี้ โดยบทความนี้นำเอาทฤษฎีพื้นที่สาธารณะและแนวคิดการการสร้างสันติภาพจาก Track 2 มาอธิบายปรากฏการณ์ที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะชายแดนใต้/ปาตานี และสะท้อนภาพออกมา

คำสำคัญชายแดนใต้ ปาตานี พื้นที่สาธารณะ ความรู้ กระบวนการสันติภาพ

 

 

บทนำ

ในทุกพื้นที่ความขัดแย้งนอกจากมิติของความรุนแรงแล้ว อีกสิ่งที่เรามักจะเห็นว่ากำลังดำเนินไปพร้อมๆ กันนั่นคือกระบวนการจัดการความขัดแย้งเหล่านั้น และกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อให้สังคมมีสันติภาพคืนมาอีกครั้ง การสร้างสันติภาพนี้อาจทำได้หลายมิติ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในพื้นที่ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่จำเป็น หนึ่งในวิธีการที่จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศของความร่วมมือ ก็คือ การให้ความรู้ ความรู้ในทุกแขนงล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะและศักยภาพของสมาชิกในสังคมแห่งความขัดแย้งได้มีองค์ความรู้ที่จะสนับสนุนการสร้างสันติภาพ การกระจายของความรู้ให้มากที่สุดจึงเป็นแนวทางที่ปูทางไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน ที่ต้องมีทั้งมิติของสันติภาพเชิงลบและเชิงบวก ที่ไม่ใช่เพียงแต่การหยุดยิงเพียงอย่างเดียว แต่คือสภาพของสังคมที่พร้อมต่อการพัฒนาและหันไปหาแนวทางอื่นมากกว่าการใช้อาวุธ ความรู้หนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนสิ่งนี้อย่างชัดเจนที่สุด คือ ความรู้ในกระบวนการสันติภาพ ว่ามีแนวทางที่จะดำเนินการอย่างไรที่จะเข้าใจบริบทของความขัดแย้งและสร้างสันติภาพขึ้นมาได้  แน่นอนว่าการที่ความรู้เหล่านี้จะสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด คือ การทำให้ความรู้เหล่านั้นได้มีพื้นที่ในการเผยแพร่ออกไป แนวคิด “พื้นที่สาธารณะ” จึงเข้ามามีส่วนในการทำความเข้าใจอิทธิพลของพื้นที่สาธารณะที่จะสามารถเป็นพื้นที่ที่ทำให้ความรู้เหล่านั้นกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงผู้คนให้ได้มากที่สุด

ชายแดนใต้/ปาตานี เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังมาเป็นเวลายาวนาน แต่ขณะเดียวกันกระบวนการสันติภาพก็ยังคงดำเนินไปพร้อมๆ กัน นับตั้งแต่มีความพยายามในการพูดคุยของคู่ขัดแย้งหลัก ไปจนถึงความพยายามของหลายภาคส่วนในสังคมหรือที่อาจเรียกว่าเป็นตัวแสดงใน Track 2 ของกระบวนการสันติภาพ ในการจัดเวทีหรือสัมมนาในการให้ความรู้ ถกเถียง อภิปราย ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ให้มีความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อสภาวะที่ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง กิจกรรมเหล่านี้ได้ถูกจัดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้จัดที่หลากหลายและเป้าหมายของผู้เข้าร่วมก็ต่างกันออกไป (อับดุลรอนิง สือแต, 2556, หน้า 116-128) แต่ทว่าความขัดแย้งก็ยังคงดำเนินต่อไป บทความชิ้นนี้จึงพยายามตั้งคำถามหลักว่า ลักษณะของความรู้ในพื้นที่สาธารณะของชายแดนใต้/ปาตานีที่ช่วยสนับสนุนกระบวนการสันติภาพมีลักษณะอย่างไร? มีความครอบคลุมและเพียงพอหรือไม่? ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะตั้งคำถามในส่วนสุดท้ายถึงข้อท้าทายของความรู้ที่มีอยู่ในพื้นที่สาธารณะของชายแดนใต้/ปาตานี เพื่อที่จะนำไปสู่การสนับสนุนหรืออาจจะคัดค้านกับประโยคที่มักจะคุ้นหูกันว่า “จัดไปแล้วได้อะไร นอกจากนั่งประชุมในห้องแอร์เย็นๆ แล้วใช้งบประมาณเพื่อได้รับค่าตอบแทน” หรือ “ไปสัมมนาก็ดี มีอาหารฟรีและค่าเดินทางให้ด้วยอีกต่างหาก” ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของข้อคิดเห็นที่สะท้อนออกมาให้ได้ฟังกันอยู่เป็นประจำ บทความชิ้นนี้จึงพยายามที่จะนำเอาทฤษฎีพื้นที่สาธารณะและแนวคิดการการสร้างสันติภาพจาก Track 2 มาอธิบายปรากฏการณ์ที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะชายแดนใต้/ปาตานีและสะท้อนภาพออกมา รวมไปถึงวิเคราะห์ปรากฏการณ์นั้นต่อไป

 

ความรู้ในพื้นที่สาธารณะคืออะไร

แม้ว่าจะมีความพยายามในการแยกพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะออกจากกันที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของบรรดานักคิดในศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็น จอห์น ล็อก (John Locke) หรือ อิมมานูเอิล คานท์ (Immanuel Kant) (Gunaratne, 2003, p. 1) แต่เมื่อกล่าวถึงพื้นที่สาธารณะที่มีการอธิบายอย่างชัดเจนแล้ว เรามักจะย้อนกลับไปสู่การให้คำอธิบายเรื่องพื้นที่สาธารณะหรือ Public Sphere ของ เยอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) นักคิดจากสำนักแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt School) ที่ได้ให้คำอธิบายพื้นที่สาธารณะในบริบทที่ชนชั้นกลางเริ่มมีอิทธิพลและมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17-18 และใช้พื้นที่สาธารณะในคำอธิบายของฮาเบอร์มาสในการแสดงความเห็นและมีอิทธิพลมากขึ้นจนกลายเป็นการแสดงออกในการต่อสู้กับระบบศักดินาในหลายประเทศของยุโรปในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน

งานเขียนของเขานับตั้งแต่เรื่อง The Public Sphere: An Encycloprdia Article (1974), The Structure of Transformation of the Public Sphere (1989) และ Futher Reflections on the Public Sphere (1992)  ได้ให้คำอธิบายของพื้นที่สาธารณะโดยมองว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่หนึ่งของชีวิตทางสังคมโดยทั่วไปที่พลเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และสามารถก่อให้เกิดความเห็นสาธารณะตามมา คำว่า “สาธารณะ” ในที่นี้ จึงหมายถึงความคิดของพลเมือง คนธรรมดาทั่วไป และสิ่งที่ไม่ใช่ความเป็นส่วนตัว แต่เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงและสังเกตได้โดยทุกคน (Papacharissi, 2002 อ้างถึงใน Khan, Gilani and Nawaz, 2012, pp. 43-45) ฮาเบอร์มาส มองว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่จะสามารถสร้างการโต้เถียงสาธารณะแบบมีเหตุผลได้ ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกที่มีส่วนร่วมของความเห็นจากประชาชนในสังคมอย่างเสรีและเปิดกว้างโดยไม่จำกัดสถานะทางสังคม (Papacharissi, 2002 อ้างถึงใน Khan, Gilani and Nawaz, 2012, pp. 43-35) ซึ่งแนวทางนี้จะสามารถนำไปสู่ข้อตกลงและการตัดสินใจที่มาจากสาธารณะต่อไป พื้นที่สาธารณะนี้จะวางอยู่ตรงกลางระหว่างรัฐและสังคมโดยรวม ซึ่งจะกลายเป็นเครือข่ายของข้อมูลการสื่อสารและความเห็นต่างๆ ให้เกิดขึ้นมา (Habermas, 1996, p. 299)

แนวคิดนี้จึงเป็นการมองว่า “พื้นที่สาธารณะ” ที่ท้ายสุดแล้วก็คือบทสนทนาที่มีความอิสระซึ่งวางอยู่บนฐานของเหตุผลในประเด็นเรื่องราวสาธารณะ ที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนในการแสดงความคิดเห็นออกไป และอาจจะส่งผลถึง ความคิดเห็นสาธารณะที่จะออกมาจากฉันทามติที่ปรากฏให้เห็นนั่นเอง (Fraser, 1990:, pp. 57-59, p. 110) แม้ว่าสำหรับ Habermas (1989, pp. 171-175) แล้วพื้นที่สาธารณะนี้จะกลายเป็นพื้นที่ที่การวิพากษ์จะถูกแปรเปลี่ยนกลายเป็นพื้นที่สำหรับการโฆษณาและสร้างอำนาจให้กับกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์บางกลุ่มเพียงเท่านั้น ฉะนั้นสำหรับฮาเบอร์มาสแล้ว มองว่าความเห็นสาธารณะที่แท้จริงจะสามารถเกิดผลอย่างแท้จริง

Mary P. Ryan (1990, pp. 3-19) ให้ความเห็นว่ามีแนวทางที่หลากหลายและหลากหลายตัวแสดงที่จะสามารถมีส่วนและเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่มีหลากหลายรูปแบบออกไป  พื้นที่สาธารณะตามแนวคิดของฮาเบอร์มาสนี้ประกอบไปด้วยช่องทางของข้อมูลและการวิพากษ์ เช่น หนังสือพิมพ์และวารสาร รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ที่มีการสนทนาขึ้น เช่น กลุ่มทางการเมือง สภาสาธารณะ ร้านกาแฟ ห้องประชุม และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ซึ่งมีการพูดคุยกันในประเด็นทางสังคมการเมือง โดยที่ในกรอบบริบทเช่นนี้ ตัวแสดงที่จะกำหนดความเห็นสาธารณะจึงไม่ได้จำกัด บุคคลและกลุ่มสามารถมีช่องทางในการนำเสนอความเห็นที่ท้ายสุดแล้วอาจจะมีอิทธิพลต่อกิจกรรมทางการเมืองในบริบทประชาธิปไตยได้ (Kellner, 2000, pp. 3-5)

ในพื้นที่สาธารณะทุกคนจะต้องสามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่ และพื้นที่สาธารณะจะต้องทำหน้าที่เป็นกลไกที่เข้มแข็งพอที่จะไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์ส่วนตัวของคนบางกลุ่มเข้ามาครอบงำได้ ส่วนพื้นที่สาธารณะจะเข้มแข็งได้หรือไม่นั่น ก็ต้องมีเงื่อนไขทางสังคมบางประการมารองรับ คือการมีเสรีภาพทางความคิดและข้อถกเถียงบนหลักเหตุและผลหลายๆ ประการ (อารีดา สาเม๊าะ และฐิตินบ โกมลนิมิ, 2558, หน้า 235-236)

ในพื้นที่สาธารณะเหล่านี้หนึ่งในประเด็นที่ใช้ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันก็คือข้อมูลในทางวิชาการเพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพต่อไป องค์ความรู้ต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นในพื้นที่สาธารณะเราจึงมักจะเห็นการนำเอาความรู้ในแขนงต่างๆ มาพูดถึง รวมทั้งอาจลึกลงไปถึงขั้นวิเคราะห์และวิพากษ์ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นแล้วประเด็นเรื่องของความรู้ในพื้นที่สาธารณะนี้จึงเป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่งของหลายประเด็นที่อาจปรากฏในพื้นที่สาธารณะ ผู้เขียนจึงให้คำจำกัดความว่า “ความรู้ในพื้นที่สาธารณะ” เพื่อที่จะหมายถึงการอธิบายถึงลักษณะของความรู้ต่างๆ ที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะตามความหมายข้างต้นที่ระบุไว้แล้วนั่นเอง

 

กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีและแนวคิดการสร้างสันติภาพจาก Track 2

การลงนามในเอกสาร “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” (General Consensus on the Peace Process) ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นับเป็นหมุดหมายสำคัญของความพยายามหาทางออกด้วยวิถีทางการเมืองระหว่างรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธเพื่อเอกราชปาตานี แน่นอนว่าการพูดคุยในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่นับเป็นครั้งแรกของการพูดคุย “อย่างเป็นทางการ” (รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช, 2558, หน้า 33)

แม้การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรกนี้ดูเหมือนจะสะดุดลงหลังคำประกาศของอุซตาซฮาซัน ตอยยิบ ว่าเขาคืออดีตคณะพูดคุยของฝ่าย BRN ไปแล้ว ทั้งยังมีปัญหาทางการเมืองในกรุงเทพฯ ที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองจนทำให้ฝ่ายที่ริเริ่มการพูดคุยครั้งนี้หมดอำนาจลง แต่ถึงกระนั้นฝ่ายที่เข้ามามีอำนาจก็ไม่ละทิ้งการพูดคุยกับฝ่ายเห็นต่างที่รวมตัวกันหลายกลุ่มในนาม MARA Patani แม้จะเปลี่ยนชื่อเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุขก็ตาม ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยปรากฏว่ามีการใช้คำนี้เพื่อคลี่คลายปัญหาในพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆ มาก่อนในโลกนี้ เพราะทั่วโลกเขาใช้ชื่อว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพแทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามการพูดคุยก็ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญประเด็นเดียวของกระบวนการสันติภาพ เพราะหากการพูดคุยสิ้นสุดลงโดยสามารถมีข้อตกลงกันได้ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะเป็นเช่นไรก็ย่อมหมายรวมว่าสามารถมีข้อตกลงหยุดยิงกันได้ ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายถึงสันติภาพเชิงลบ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ นั่นก็คือการอยู่ในสังคมที่มีความเป็นธรรม มีความยุติธรรม มีความเสมอภาค และมีความสงบสุข เราเรียกสังคมในลักษณะนี้ว่าสันติภาพเชิงบวก

กระบวนการสันติภาพตามแนวคิดของ John Paul Lederach คือต้องอาศัยความพยายามจาก 3 แทร็ค (Track) แทร็คที่ 1 คือระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก ที่อยู่ในการพูดคุย เจรจาเพื่อหาข้อตกลงในการยุติความขัดแย้งในระดับบน แต่หากรอคอยเพียงผลจากข้อตกลงของระดับแทร็คที่ 1 อาจไม่เพียงพอสำหรับสังคมที่มีความขัดแย้งที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล พัฒนา และเยียวยาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ซึ่งก็คือประชาชนโดยทั่วไป การทำงานของตัวแสดงที่เพิ่มเข้ามาคือ ตัวแสดงจากแทร็คที่ 2 ซึ่งก็คือภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรที่เกี่ยวข้องของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นตัวเชื่อมสู่แทร็คที่ 3 ซึ่งก็คือประชาชนทั่วไป โดยบทบาทที่สำคัญก็คือการสร้างบรรยากาศที่เอื้อและกดดันให้เกิดข้อสรุปของข้อตกลงจากแทร็ก 1  (Ramsbotham, O., Miall, H., & Woodhouse, T., 2011, pp. 24-26) บทบาทของแทร็คที่ 2 จึงถือได้ว่ามีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจและช่วยให้บริบทของความขัดแย้งมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการยุติความรุนแรงได้มากขึ้น

ในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีเอง บทบาทของตัวแสดงจากแทร็ก 2 ก็มีปรากฏให้เห็นในหลากหลายด้าน หากแต่ในบทความชิ้นนี้จะนำเสนอถึงบทบาทของตัวแสดงนี้ในการให้ความรู้แก่พื้นที่สาธารณะในชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนถัดไป

 

ความรู้ในพื้นที่สาธารณะที่ช่วยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

เนื่องจากสันติภาพไม่ได้มีความหมายแค่เพียงการหยุดยิงหรือสันติภาพเชิงลบเท่านั้น แต่หมายถึงสังคมที่มีสภาวะสงบสุข ปราศจากความรุนแรง ผู้คนมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้รับความเคารพ ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ มีความยุติธรรม มีความสมดุลทางธรรมชาติ มีความสันติสุข หรือที่เรียกกันว่าสันติภาพเชิงบวกด้วย ดังนั้นความรู้ในพื้นที่สาธารณะของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีจึงไม่ใช่แค่เพียงการจัดเวทีสาธารณะที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงเวทีสาธารณะอื่นๆ ที่ครอบคลุมความหมายของสันติภาพเชิงบวก พื้นที่สาธารณะในชายแดนใต้/ปาตานี นับได้ว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ที่ได้จัดขึ้นโดยหน่วยงานที่หลากหลาย ซึ่งมีเป้าหมายของกลุ่มคนในแต่ละครั้งที่ต่างกันออกไป จากการที่ผู้เขียนได้ติดตามเวทีสาธารณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา รวมทั้งได้เข้าร่วมและเก็บข้อมูลโดยการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-Participant Observation) เพื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นเวทีสาธารณะ ประกอบกับข้อมูลที่ได้นำเสนอผ่านเว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของเวทีสาธารณะต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์ดังกล่าวนี้ได้ (โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, 2555, ออนไลน์) จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้ อาจแบ่งประเภทการให้ความรู้ในเวทีสาธารณะต่างๆ ตามประเด็นสาขาของความรู้ โดยอาจสามารถแบ่งได้เป็น 8 ด้านเด่นๆ  ดังต่อไปนี้

ความรู้ด้านประวัติศาสตร์

ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าประวัติศาสตร์สามารถปลุกระดมผู้คนให้เป็นนักสู้ได้โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีมีเวทีสาธารณะให้ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์อยู่พอควรซึ่งมักจะจัดโดยหน่วยงานในมหาวิทยาลัย อาทิ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี ขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็เคยร่วมกับศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “สยาม-ปาตานี” เช่นกัน นอกจากนั้นแล้วภาคประชาสังคมก็มีเวทีสาธารณะที่ให้ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์เช่นกัน อย่างเวทีเสวนา Bicara Patani ที่องค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรร่วมกันตระเวนจัดเวทีเสวนาขึ้นในหลายพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนใต้ นอกจากนั้นยังมีเวทีสาธารณะที่จัดโดยวิทยาลัยประชาชน มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และอีกหลายๆ องค์กรก็เคยจัดเวทีเสวนาในประเด็นดังกล่าวนี้ เป็นต้น  

ความรู้ด้านกระบวนการสร้างสันติภาพ

ความรู้ในประเด็นกระบวนการสร้างสันติภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะกระบวนการสร้างสันติภาพจะดำเนินได้ดีต้องมีบรรยากาศที่เอื้อด้วย การให้ความรู้แก่ผู้คนทั่วไปในเรื่องนี้นับเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างบรรยากาศสันติภาพเช่นกัน โดยในพื้นที่ชายแดนใต้เวทีสาธารณะที่ให้ความรู้ในเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพก็มักจะจัดโดยหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเช่นกัน อย่างการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพที่หลายๆ คณะในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกันจัด ทั้งที่วิทยาเขตปัตตานีและหาดใหญ่ นอกจากนั้นสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ก็มักจะจัดเวทีวิชาการสาธารณะเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพเช่นกัน องค์กรภาคประชาสังคมก็มักจะจัดเวทีสาธารณะในประเด็นนี้ด้วย อย่าง องค์กรปาตานี ฟอรั่ม (Patani Forum) หรือกลุ่มผู้หญิงเองก็มีการจัดเวทีสาธารณะในประเด็นนี้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานด้านความมั่นคงเองที่ช่วงหลังมานี้ก็เริ่มจัดเวทีเสวนาพูดคุยและทำความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีการจัดเวทีอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับ Track 2 และ Track 3

ความรู้ด้านศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม

การให้ความรู้ในประเด็นศาสนานั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ โดยสำหรับมุสลิมแล้วอิสลามคือวิถีชีวิต ในขณะที่ศาสนิกอื่นๆ หลักคำสอนของศาสนาต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการสร้างสันติภาพทั้งสิ้น แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้มักจะมีเวทีของมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ เช่น การบรรยายสาธารณะตามมัสยิดโดยทั่วไปอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง มีการจัดเวทีบรรยายหรือเสวนาศาสนาสาธารณะโดยนักวิชาการศาสนาจากส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ อยู่บ่อยครั้ง อาทิ การจัดเวทีเสวนาโดยสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่อง White Channel ช่อง Yateem TV หรือทีวีสำนักจุฬาเบิกฟ้าสัญจร เป็นต้น นอกจากนั้น สภาอูลามาอ์ฟาฏอนีย์ดารุสสลาม กลุ่มญะมาอะห์ดะวะห์ตับลีฆ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็เคยจัดบรรยายสาธารณะโดยมีอูลามาอ์(ผู้รู้)ระดับโลกมาร่วมบรรยาย หรือนักวิชาการมุสลิมด้านสังคมศาสตร์ก็เคยจัดเวทีวิชาการสาธารณะเกี่ยวกับอิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษาด้วยเช่นกัน

ความรู้ในด้านภาษาและวัฒนธรรมนับว่าสำคัญอีกประเด็นที่ลืมไม่ได้ เนื่องจากในพื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรมอยู่มาก กิจกรรมที่เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมก็ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เกิดบ่อยครั้งที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีก็ว่าได้ ในเกือบทุกหมู่บ้านจะมีโรงเรียนตาดีกาซึ่งหลายๆ โรงเรียนจะมีการจัดมหกรรมตาดีกาที่มีกิจกรรมทั้งภาคสนามและภาคเวที สร้างความสนุกสนามแก่เด็กๆ แต่เมื่อพูดถึงประเด็นการให้ความรู้สาธารณะก็จะมีมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาชายแดนใต้ (Yayasan Pusat Penyelarasan Tadika Selatan Thai; PERKASA) ที่มักจะมีการจัดเวทีสาธารณะให้ความรู้ในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมมลายูปาตานี นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนไหวของหลายๆ องค์กร อาทิ ศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Pusat pemulihan Senibudaya Tempatan Alamsekitar; PUSTA) และยังมีการขับเคลื่อนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ อย่างศูนย์วัฒนธรรมสลาตัน (Pusat Kebudayaan Melayu Patani; BUMI) และชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม (Persatuan Intelek Cinta Seni Budaya; PICSEB) ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่วรรณกรรมมลายูปาตานีให้มากขึ้น

ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎหมายมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย การให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ แก่ประชาชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยในพื้นที่จะมีศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Center; MAC) ที่เป็นองค์กรหลักในการให้ความรู้เรื่องกฎหมายและสิทธิต่างๆ แก่ประชาชน โดยมีการจัดเวทีสาธารณะ และมีการอบรมสัมมนา นอกจากนั้นยังมี เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความ (Southern Paralegal Advocacy Network; SPAN) และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (Jaringan Hak Asasi Patani; HAP) รวมไปถึงมูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็ทำหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องของกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และยังมีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย อย่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross; ICRC)

ความรู้ด้านการเมืองการปกครองและสถานการณ์โลก

ความรู้ด้านการเมืองนับว่าสำคัญไม่แพ้ความรู้ในด้านอื่นๆ เพราะปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาทางด้านการเมืองทั้งสิ้น ในพื้นที่ชายแดนใต้มีหลายเวทีที่ให้ความรู้ในประเด็นดังกล่าวนี้ อาทิ สภาประชาสังคมชายแดนใต้เคยเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหลายๆ องค์กรในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “ชายแดนใต้จัดการตนเอง” โดยมีการจัดทำเวทีพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่จำนวน 200 เวที โดยการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของการจัดการตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญไทย นอกจากนั้นหน่วยงานในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างคณะรัฐศาสตร์ก็มีการให้ความรู้สาธารณะในเรื่องการเมืองการปกครองมาโดยตลอดเช่นกัน นอกจากนั้นสถาบันวิจัยและส่งเสริมการเมืองการปกครองอิสลามมักจะมีการอบรมหลักสูตรเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการเมืองการปกครองในอิสลามให้แก่ประชาชนในพื้นที่อยู่เป็นประจำ หรือเวทีที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยก็เคยมีการจัดในพื้นที่ฯอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน

ขณะเดียวกัน การวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศนับว่าสำคัญต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ แต่จะวิเคราะห์ได้ก็จำเป็นต้องมีทั้งข้อมูลความรู้ในประเด็นดังกล่าวด้วย ในพื้นที่ก็มีการจัดเวทีให้ความรู้ในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน อาทิ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มักจะร่วมมือกับหลายๆ องค์กรจัดเวทีเสวนาสาธารณะเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น หรือวิทยาลัยประชาชนที่มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะเกือบทุกเดือนมักจะจัดในหัวข้อที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเชิญวิทยากรชื่อดังที่มีความชำนาญในด้านต่างๆ มาเป็นวิทยากร นอกจากนั้นองค์กรศาสนาอย่างมัสยิดตลาดเมืองใหม่ จังหวัดยะลา ก็มีการจัดบรรยายสาธารณะที่เกี่ยวกับสถานการณ์โลกมุสลิมอยู่บ่อยครั้ง

ความรู้ด้านการพัฒนาชุมชน สุขภาวะ และพื้นที่ปลอดภัย

การให้ความรู้ในเรื่องของการพัฒนาชุมชน สุขภาพ และความปลอดภัยเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะสันติภาพในสังคมจะยั่งยืนได้ Track 3 ในสังคมนั้นๆ จะต้องมีความเข้มแข็ง จะต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัย และผู้คนจะต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วปัญหาอื่นๆ ย่อมจะตามภายหลัง ในพื้นที่ชายแดนใต้จะมีการให้ความรู้ในด้านนี้โดยมักจะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งจากจังหวัดและอำเภอ โดยมีการจัดบรรยายและอบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ  ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมเองก็มีการขับเคลื่อนและให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวนี้เช่นกัน อย่างโครงการชุมชนศรัทธาหรือกัมปงตักวา นอกจากนั้นยังมีการขับเคลื่อนของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute; LDI) ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกและกระทรวงการคลัง และขับเคลื่อนงานในพื้นที่มานานหลายปี ที่น่าสนใจคือการดำเนินงานของมูลนิธิพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่จะลงพื้นที่ไปสอนชาวบ้านในเรื่องเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนยังชุมชนต่างๆ โดยใช้สโลแกน “สร้างสุขด้วยพลังงาน” และมีเป้าหมายสูงสุดคือชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ในเรื่องของสุขภาพมีหลายองค์ที่คอยให้ความรู้กับประชาชนในด้านนี้ ที่เด่นๆ อาทิ สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มอัดดีนการแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ฯมีหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มักจะดำเนินการประเด็นด้านความปลอดภัยของคนในชุมชนประกอบด้วย เช่น การซ้อมแผนเหตุการณ์ฉุกเฉินประจำปี หรือการให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยฟาฏอนีเคยร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดเวทีสานเสวนา “หมู่บ้านปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย” ให้เป็นรูปธรรมโดยผู้นำท้องที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี และองค์กรภาคประชาสังคมก็เคยมีการจัดเวทีให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยด้วยเช่นกัน อย่างกลุ่มด้วยใจ และสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (Persatuan Perempuan Patani, PERWANI) ก็เคยจัดเสวนาสาธารณะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงและเด็กปาตานีด้วย นอกจากนั้นยังมีโครงการญาลันนันบารู ภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่มักจะจัดเวทีให้ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี

ความรู้ด้านการสื่อสาร

ความรู้ด้านการสื่อสารเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากกระบวนการสร้างสันติภาพจะไม่สามารถแยกออกจากการสื่อสารได้ ในพื้นที่ชายแดนใต้มีหลายเวทีที่ให้ความรู้และพัฒนาทักษะในด้านดังกล่าวนี้ อาทิ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ที่มักจะจัดอบรมและจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อสันติภาพ นอกจากนั้นศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เคยจัดอบรมให้ความรู้กับเครือข่ายวิทยุชุมชนมาหลายครั้ง พร้อมกับจัดเวทีสาธารณะพูดคุยเรื่องความสำคัญของวิทยุชุมชนในกระบวนการสร้างสันติภาพ นอกจากนั้นคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังได้มีการให้ความรู้ที่เกี่ยวกับวารสารเพื่อสันติภาพ (Peace Journalism) ซึ่งเกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณ และจริยธรรมของสื่อมวลชนอยู่เป็นประจำด้วย นอกจากนั้นยังเคยร่วมกับสำนักสื่อวาร์ตานี (Wartani) อบรมและฝึกเยาวชนให้สามารถเป็นสื่อมวลชนได้

ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในหลายพื้นที่ความขัดแย้งสิ่งที่ถูกซ่อนเร้นภายหลังเหตุผลของความขัดแย้งมักจะมีประเด็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติร่วมอยู่ด้วยเสมอ  ส่วนในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีประเด็นในเรื่องดังกล่าวนี้ประกอบด้วยปัญหาที่ดิน ปัญหาแหล่งน้ำ ปัญหาทะเล และปัญหาเรื่องป่า โดยกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นหลักคือสมาคมลุ่มน้ำสายบุรีและเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวปัตตานี นอกจากนั้นยังมีการจัดเวทีสาธารณะโดยภาคประชาสังคมและนักวิชาการเกี่ยวกับภัยของโรงไฟฟ้าในนามเครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Persekutuan rakyat mempertahankan hak masyarakat dan sumber daya alam untuk kedamaian; PERMATAMAS) โดยเฉพาะภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังจะมีการก่อสร้างในพื้นที่ชายแดนใต้

ขณะเดียวกัน ประเด็นภัยพิบัติธรรมชาติเป็นหนึ่งในโครงการที่เคยนำเสนอในเวทีสาธารณะ STEPs TO PEACE หรือเมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้น สื่อต่างๆ มักสัมภาษณ์และหาข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ ลุ่มน้ำปัตตานี (PBWatch) โดยข้อมูลหรือความรู้ที่เกี่ยวกับภัยพิบัติมักจะเผยแพร่ในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ ลุ่มน้ำปัตตานี มักจะเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเตรียมการหรือเตรียมความพร้อมในระยะยาว ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การจัดการก่อนภัยมา การจัดการขณะเกิดภัย และการจัดการหลังพ้นภัย ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุด คือการจัดการก่อนภัยมาที่ประชาชนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติในชุมชน ของตัวเอง และมีการสร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันภัยภายในชุมชน (นักข่าวพลเมือง, 2557, ออนไลน์)

นอกจากการให้ความรู้ในพื้นที่สาธารณะ 8 ด้านข้างต้นแล้ว ยังมีความรู้อีกหลายด้านที่น่าสนใจ เช่น ความรู้เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรม การเพิ่มศักยภาพองค์กร ธุรกิจ กีฬา ศิลปะ การถ่ายภาพ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ที่สามารถหนุนเสริมสันติภาพเชิงบวกได้ทั้งสิ้น นอกจากความรู้ในพื้นที่สาธารณะได้สื่อสารผ่านการจัดเวทีเสวนา พูดคุย หรือบรรยายสาธารณะตามที่ได้ยกตัวอย่างมาบางส่วนข้างต้นที่ในความเป็นจริงมีเวทีในลักษณะดังกล่าวอีกเป็นจำนวนมากที่ได้จัดขึ้นในห้องบรรยายหรือโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งได้จัดเวทีเกือบทุกวัน ขณะเดียวกันยังปรากฏว่ามีการใช้อินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารในยุคสมัยใหม่ที่มีอิทธิพล และมีเป้าหมายในการสื่อสารที่กว้างขวางได้มากขึ้น พื้นที่สาธารณะที่แต่เดิมได้อยู่บนขอบเขตของสังคมและชุมชนก็ได้เคลื่อนไปสู่พื้นที่สาธารณะที่อยู่กับระบบการสื่อสารในช่องทางต่างๆ มากขึ้น ( Paterson and Sreberny, 2004, pp. 3-27) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้มักจะถ่ายทอดสดงานที่สำคัญๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพ นอกจากนั้นยังมีทีมงานเว็ปไซต์อิสลามนราที่มักจะถ่ายทอดสดเวทีสาธารณะหรืองานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นศาสนาอิสลาม และบ่อยครั้งก็มีการถ่ายทอดสดเวทีเสวนาสาธารณะผ่านช่องเคเบิลทีวี อย่างช่อง YCN นอกจากนั้นสื่อกระแสหลักเองก็มักจะนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเวทีสาธารณะที่เกี่ยวกับประเด็นกระบวนการสันติภาพบ่อยครั้งเช่นกัน อย่างสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และช่อง ThaiPBS (เอกรินทร์ ต่วนศิริ และคณะ, 2558, หน้า 30)

นอกจากนั้นยังมีการถ่ายทอดสดเสียงผ่านทางช่องทางวิทยุ เช่น สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น ตลอดจนนำคลิปวีดีโอที่บันทึกไว้มาลงในยูทูป (YouTube) เพื่อให้ดูย้อนหลังได้ และบางองค์กรยังมีการถอดความจากเวทีเสวนาสาธารณะพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือแจกจ่ายอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วหลายเวทียังมีผู้สื่อข่าวไปร่วมฟังและจับประเด็นนำเสนอด้วยภาพ เสียง หรือบทความทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก

จากทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเด็นความรู้ที่นำเสนอในพื้นที่สาธารณะที่สามารถถกเถียงและรับฟังกันอย่างเสรีมีความครอบคลุมในหลากหลายประเด็น เมื่อมองบนฐานของตัวแสดงก็มีความหลากหลายทั้งในส่วนของผู้เข้าร่วมและผู้จัด ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงวิธีการก็มีความต่างออกไปบ้างเช่นกัน ซึ่งอาจสรุปได้ตามรูปภาพที่ 1

 

 

บทสรุป: ข้อท้าทายและข้อเสนอแนะสู่การเติมเต็มความรู้เพื่อหนุนเสริมสันติภาพในพื้นที่สาธารณะชายแดนใต้/ปาตานี

แม้ว่าความรู้ในพื้นที่สาธารณะที่จะช่วยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี จะมีข้อดีในเรื่องของความหลากหลายและความครอบคลุมของเนื้อหา ที่สามารถส่งผลให้ประชาชนที่เข้าร่วมมีความเข้าใจในแต่ละประเด็นได้มากขึ้น ประเด็นสำคัญอย่างความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพยังสามารถกระจายเข้าสู่การสนทนาในสังคมที่มีความขัดแย้ง และทำให้ภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อสันติภาพมีการทำงานที่รู้แนวทางมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถสะท้อนและขยายเครือข่ายของการทำงานเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านั้นไปได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดบรรยากาศของการเปิดพื้นที่ในสื่อสาธารณะให้ทำความเข้าใจในกระบวนการสันติภาพอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เหล่านี้ล้วนเป็นข้อดีที่เกิดขึ้น และอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดแข็งหนึ่งของบริบทความขัดแย้งในพื้นที่นี้ก็ว่าได้ แต่ทว่าบริบทที่เกิดขึ้นกับความรู้ในพื้นที่ฯ ยังคงต้องเผชิญกับข้อท้าทายทั้งจากตัวของความรู้นั้นๆ เอง จากผู้จัดและผู้เข้าร่วม รวมไปถึงจากวิธีการนำเสนอ

ข้อท้าทายของความรู้ในพื้นที่สาธารณะชายแดนใต้/ปาตานี ประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การขาดการบูรณาการของความรู้ให้ครอบคลุมในทุกมิติของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ ความรู้ที่ปรากฏยังคงเป็นความรู้ที่เน้นในบริบทใดบริบทหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น การเน้นเพียงเรื่องราวของสันติภาพในเชิงองค์ความรู้แบบทฤษฎีจนมองข้ามองค์ความรู้สันติภาพที่มาจากฐานของศาสนา หรือ อาจจะเน้นเพียงการนำเสนอความรู้ในแนวทางของวัฒนธรรม ประเพณี จนลืมการประยุกต์ในระบบสังคมสมัยใหม่ เป็นต้น ประการถัดมาของข้อท้าทาย คือ การขาดความรู้ในการนำเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับความเป็นจริงในบริบทของความขัดแย้ง หลายครั้งที่ได้เรียนรู้ แต่เมื่อจะนำไปปฏิบัติจริงกลับไม่สามารถทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้มาได้ เพราะความรู้ที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นยังคงเป็นความรู้ในระยะสั้น ที่ต้องอาศัยการค้นหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเมื่อนำไปประยุกต์ใช้ และประการสุดท้าย คือ บริบทของความขัดแย้งที่ไม่เอื้อให้ความรู้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ และไม่สามารถนำเอาความรู้หลายอย่างไปปรับใช้จริง เนื่องจากสภาวะของความรุนแรงที่เป็นไป ทำให้บางสิ่งก็ไม่สามารถที่จะนำเสนอได้ทั้งหมด และข้อจำกัดจากกฎหมายพิเศษต่างๆ รวมไปถึงสภาวะของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ความรู้ในบางส่วนไม่สามารถนำไปใช้ได้ เช่น ในเรื่องของขั้นตอนการได้รับเงินเยียวยา หรือขั้นตอนตามกฎหมายในการฟ้องร้องกลับหากมีการถูกอ้างหรือโดนใส่ความว่าเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ เป็นต้น

ข้อท้าทายสำหรับผู้จัดและผู้เข้าร่วมคือ ความไม่หลากหลายของกลุ่มที่เข้าร่วม หลายครั้งเป้าหมายของการทำงานยังเป็นคนกลุ่มเดิมๆ การกระจายการเข้าร่วมข้ามกลุ่มของตนเองยังคงมีให้เห็นน้อย จะเห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อกลุ่มไหนจัดกิจกรรมใด ผู้เข้าร่วมก็มักจะเป็นคนกลุ่มเดิม การทำงานและการจัดเวทีที่ยังคงยึดติดกับเพียงกลุ่มของตัวเอง เป็นอีกประการสำคัญ เนื่องจากหลายครั้งในประเด็นที่ใกล้เคียงกันแต่ด้วยองค์กรที่ต่างกันก็ไม่สามารถทำงานด้วยกันได้ กลับจัดเวทีแยกออกไปและแข่งขันกันเอง นอกจากแนวทางการทำงานที่ต่างแล้ว บ่อยครั้งก็ขึ้นอยู่กับแหล่งทุนด้วยเช่นกัน เพราะหลายครั้งที่การทำงานของบางกลุ่มกลับทำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ให้ทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทน ทำให้ประสิทธิภาพนั้นออกมาไม่ค่อยดีนัก ขณะเดียวกันหลายครั้งอีกเช่นเดียวกันที่ผู้เข้าร่วมไปเข้าร่วมเพียงเพราะว่าได้มีค่าตอบแทนในด้านต่างๆ ในบางมุมมิติการมองพื้นที่ในลักษณะของ “พื้นที่อุตสาหกรรมความมั่นคง” ก็สะท้อนมาสู่พื้นที่ของความรู้ด้วยเช่นเดียวกัน

ข้อท้าทายในส่วนสุดท้าย คือ ในเรื่องของวิธีการที่โดยหลักแล้วมักจะเป็นลักษณะของการจัดในห้องประชุม แม้ว่าจะมีการใช้วิธีการที่หลากหลายขึ้นผ่านช่องทางเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีความหลากหลายมากนัก หลายครั้งอีกเช่นกัน วิธีการนำเสนอของความรู้ไม่ได้ถูกสื่อสารให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้โดยง่าย เช่น เมื่อนำเสนองานวิชาการ บรรดานักวิชาการด้วยกันก็มักจะเข้าใจสารที่ต้องการจะสื่อ แต่เมื่อนำเสนอต่อชาวบ้านรากหญ้าแล้ว ก็ควรต้องมีการปรับวิธีการสื่อสารความรู้เหล่านั้นออกไป เพื่อให้ชาวบ้านรากหญ้าได้เข้าใจด้วย เป็นต้น 

สิ่งที่เห็นจากข้อมูลก็คือเวทีสาธารณะส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ Track 2 อย่างมหาวิทยาลัยหรือโรงแรม ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ของ Track 3 ซึ่งการจัดเวทีสาธารณะในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยหรือโดยเฉพาะโรงแรมอาจถูกมองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าพื้นที่สาธารณะ แม้จะตั้งชื่องานว่าเวทีเสวนาสาธารณะก็ตาม ดังนั้นข้อท้าทายจึงอยู่ตรงที่ว่าองค์กรที่ทำงานด้านความรู้จะขยายองค์ความรู้ในพื้นที่สาธารณะไปสู่พื้นที่ของ Track 3 ได้อย่างไร? ตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในพื้นที่ของ Track 3 ก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นอกจากจะสามารถเข้าถึงมวลชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้แล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่และมีงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่ท้องถิ่นของตนเองได้ ทั้งยังเป็นองค์กรที่สามารถทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในชุมชนไม่ว่าจะเป็นสถาบันปอเนาะ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเยาวชน เป็นต้น (อิมรอน ซาเหาะ และอภิชาติ จันทร์แดง, 2557, หน้า 83-86) บางองค์กรเริ่มทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่อีกหลายองค์กรและองค์ความรู้อีกหลายด้านที่ยังไม่ได้ขยายไปสู่ท้องถิ่น

ข้อท้าทายที่สะท้อนข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพที่ปรากฏเท่านั้น แน่นอนว่าไม่สามารถที่จะอธิบายหรือสะท้อนภาพในความเป็นจริงที่เป็นไปได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะต่อการกระจายความรู้ในพื้นที่สาธารณะชายแดนใต้/ปาตานี คือ การบูรณาการขององค์ความรู้ให้ครอบคลุมมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตลอดจนความจริงใจในการทำงาน และการทำงานที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่ควรเป็นการทำงานที่เกื้อกูลและเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างบรรยากาศของสังคมแห่งความรู้ที่จะเอื้อต่อการยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพต่อไป ขณะเดียวกัน วิธีการที่ใช้ควรมีการปรับให้เหมาะสมต่อผู้รับสารเพื่อให้เกิดผลสูงสุดด้วยเช่นเดียวกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับองค์กรที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือบันทึกสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบ ควรจะมีการบันทึกข้อมูลสถิติของการจัดเวทีสาธารณะด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้ผู้คนได้เห็นว่าความเคลื่อนไหวด้านสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีมีมากกว่าความเคลื่อนไหวด้านความไม่สงบอย่างเทียบเคียงกันไม่ได้เลย และบางทีอาจทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์บางอย่างกับบางเวทีสาธารณะที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญก็เป็นได้

 

บรรณานุกรม

นักข่าวพลเมือง. 2557. สัมภาษณ์พิเศษ อ.สมพร ช่วยอารีย์ : เราจะจัดการภัยพิบัติด้วยตัวเองอย่างไร ?. ออนไลน์. http://www.deepsouthwatch.org/node/6616. สืบค้นเมื่อวันที่ (30 มีนาคม 2558).

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช. 2558. เส้นทางกระบวนการสันติภาพปาตานี. สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่: โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนในภาคใต้ของไทย (STEP).

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้. 2555. โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. ออนไลน์. http://www.deepsouthwatch.org/dsj. สืบค้นเมื่อวันที่ (15-31 มีนาคม 2558).

อารีดา สาเม๊าะ และฐิตินบ โกมลนิมิ. 2558. การสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อหาทางออกของความรุนแรง: ความหวัง บทบาทสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ใน คู่มือกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี “เราจะทำงานร่วมกันอย่างไร?” รวมความคิดของ ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอส์. ฟารีดา ปันจอร์, (บรรณาธิการ). ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี: โครงการจัดพิมพ์ดิพบุ๊คส์ (deepbooks).

อับดุลรอนิง สือแต. 2556. บทบาทประชาสังคมและอนาคตประชาสังคมอิสลามในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้. วารสารเอเชียปริทัศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 34(2), 93-137.

เอกรินทร์ ต่วนศิริ และคณะ. 2558. รายงานข้อเสนอนโยบายสาธารณะการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้. ปัตตานี: PATANI FORUM.

อิมรอน ซาเหาะ และสามารถ ทองเฝือ. 2557. การสร้างสันติภาพด้วยอิสลามการเมือง. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติด้านอิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษา ครั้งที่ 2 วันที่ 24 ธันวาคมพ.ศ. 2557 ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

อิมรอน ซาเหาะ และอภิชาติ จันทร์แดง. 2557. การสร้างพื้นที่สุขภาวะท่ามกลางพื้นที่ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีตำบลมะนังดาลำ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วันที่ 23-24 มกราคม 2557 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.

Fraser, Nancy. 1990. Rethinking the Public Sphere: A Contribution to the Critique of Actually Existing Democracy. in Social Text, Duke University Press. 25/26, pp. 56-80.

Gunaratne, Shelton A. 2003. Hebermas, Public Sphere, and Communicative-Action Theory. in the ANZCA03 Conference, Brisbane, July.

Habermas, J. 1974. The public sphere: an encyclopedia article. in New German Critique, 3, pp. 49–55.

Habermas, J. 1989. The structural transformation of the public sphere: An inquiry into a category of Bourgeois society. Cambridge, MA: MIT Press.

Habermas, J. 1992. Further reflections on the public sphere. In Habermas and the public sphere. C. Calhoun, (Ed.). Cambridge, MA: MIT Press.

        Habermas, J. 1996. Between facts and norms. Cambridge, MA: MIT Press.

Kellner, Douglas. 2000. Habermas, the Public Sphere, and Democracy: A Critical Intervention. in Perspectives on Habermas. Hahn, Lewis Edwin, (ed.). Illinois: Open Court Publishing Company.

Khan, Muhammad Zubair; Gilani, Ijaz Shafi and Nawaz, A. (2012). From Habermas Model to New Public Sphere: A Paradigm Shift. in Global Journal of Human Social Science. 12(5), 43-52.

Papacharissi, Zizi. 2002. The virtual sphere: The internet as a public sphere. in New Media & Society, 4(1), 9–27.

Paterson, Chris A., and Annabelle Sreberny. 2004International news in the 21st Century. Eastleigh, UK: University of Luton Press.

Ramsbotham, O., Miall, H., & Woodhouse, T. (2011). Contemporary Conflict Resolution. Polity: Cambridge

Ryan, Mary P. 1990. Women in Public: Between Banners and Ballots, 1825-1880. Baltimore: The John Hopkins University Press.