Skip to main content

            สำหรับมามา หรือ “ ฮาซานะ เจ๊ะมีนา” แล้ว   “ตลาด” มีความหมายต่อครอบครัวยิ่งนัก   เพราะอย่างน้อย 6ชีวิต คือ เธอและสามี รวมทั้งลูกๆอีก  4  คน ล้วนแล้วแต่ต้องฝากปากท้องและความอยู่รอดของครอบครัวไว้กับตลาด

            15 ปี ที่เธอและสามีเปิดแผงขายปลาสดและอาหารทะเลในตลาดพิมลชัย  อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อส่งเสียให้ลูกๆได้เรียนหนังสือ จนลูกชายคนโตคือ “มะยากี (ยีลี)  แวยาแว”  วัย 29  ปี  สามารถเรียนจบฮาฟิส (การท่องจำอัลกุรอาน) และศาสนาชั้นสูงจากมัรกัสยะลา  และได้กลายเป็นที่พึ่งหลักของครอบครัว  โดยออกมาช่วยแม่ขายของและขับรถรับส่งแทนพ่อที่แก่ตัวลงและเริ่มป่วย  ซึ่งตอนนี้คงได้แต่ทำหน้าที่เป็นอิหม่ามอยู่ที่บ้าน  โดยไม่สามารถออกมาขายของในตลาดกับแม่เช่นที่เคยทำด้วยกันมากว่าสิบปี

            แต่แล้วความหวังก็ดับสูญ  หลังสิ้นเสียงระเบิดเมื่อเช้าตรู่ของ วันที่  22 ม.ค. 2561 เมื่อหนึ่งใน 3 ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เป็นลูกชายของเธอ คือ ยีลีนั่นเอง  ในขณะที่เขากำลังขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งกุ้งตามลูกค้าสั่ง ซึ่งกำลังจะขับกลับมายังแผงขายปลาของครอบครัว  แล้วก็ผ่านตรงจุดเกิดเหตุนั้นพอดี  

            “ตูม” สิ้นเสียงระเบิด เขาตายคาที่  ด้วยแรงระเบิดจากรถมอเตอร์ไซค์บอมบ์  วิญญาณของผู้ที่บริสุทธิ์เช่นยีลี  คงจะกลับคืนสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างสุขสงบ จะทิ้งไว้ก็แต่ความสับสนอลหม่านในตอนนั้น  เสียงกรีดร้องของคนที่ได้รับบาดเจ็บนับสิบ และการขอความช่วยเหลือ ท่ามกลางฝุ่นควันของระเบิด และซากปรักหักพังของร้านรวง 

            นอกจากยีลีแล้ว ระเบิดยังได้คร่าชีวิตแม่ค้าในตลาดอีก 2 คน และบาดเจ็บอีกราว 20 คน !!

            วันนั้นมามาบอกว่า  เธอขายของอยู่ในตลาดบริเวณตอนใน    ซึ่งอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุ  เลยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เมื่อรู้ว่าลูกโดนระเบิดจากการเช็คข่าวจากโทรศัพท์ของชาวตลาด  หัวใจก็แทบสลาย  และรีบรุดไปดูร่างที่สิ้นลมแล้วของลูก ที่ถูกส่งไปยังโรงพยาบาล

            วันที่กลุ่มผู้หญิงจาก Civic Women ไปเยี่ยมมามาที่บ้าน ที่บางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี  และสัมภาษณ์เพื่อทำรายการนักข่าวพลเมือง  มามาพูดอะไรแทบไม่ออก เสียงให้สัมภาษณ์เบา และดูหวิวๆ   เสียงของมามาก็คงระบมบอบช้ำพอๆ กับหัวใจ มีน้ำตาซึมๆอยู่ที่ขอบตา แต่ไม่ไหลรินให้เห็น  อาจจะไหลล้นเต็มอยู่ในหัวอก หรือไม่ก็สะอื้นไห้จนเหือดแห้งหายไปแล้วก็ได้ในวันที่ลูกเสียชีวิต

            และด้วยการเป็นศรัทธาชน ที่เชื่อว่าการเกิดตายเป็นไปตามลิขิตของพระเจ้า  มามาจึงดูสงบนิ่งเยือกเย็น ไม่ต่างจากภรรยาสาวของยีลี  “นุสรี เวาะมะ”  ซึ่งเป็นครูสอนอัลกรุอาน วัย 22 ปี ที่เพิ่งครองคู่กันมาเพียงแค่ 8 เดือน  เธอก็ดูสงบนิ่งไม่แพ้กัน  ภายใต้ผ้าคลุมปิดหน้าสีดำ

[ภาพประกอบ: (ซ้าย) ภาพผู้เสียชีวิต นายมะยากี แวยาแว อายุ 29 ปี, (กลาง) คนในครอบครัวมะยากี, และ (ขวา) ภาพแม่ของผู้เสียชีวิต นางฮาซานะ เจ๊ะมีนา (คนกลาง) ขณะให้สัมภาษณ์]

            ครอบครัวที่เป็นผู้สูญเสียมุสลิมส่วนใหญ่มักจะเก็บอาการ  ไม่แสดงออกถึงความโศกเศร้าสูญเสียอย่างรุนแรงให้เห็นกันได้ง่ายๆ  เป็นเพราะมีศาสนาช่วยปลอบประโลมเยียวยาจิตใจ รวมทั้งช่วยลดทอนความโกรธแค้น ขมขื่น   ด้วยเหตุนี้ เมื่อถามว่ามามามีอะไรจะฝากไปยังผู้ก่อเหตุ เธอจึงไม่มีอะไรฝากอย่างมีอารมณ์  เว้นแต่บอกด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ ว่า “ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก สงสารคนที่ต้องทำมาหากิน”

            ความกังวลของมามา ดูเหมือนจะมีเรื่องเดียว นั่นก็คือ การสูญเสียลูกชายคนนี้ไป  ก็เหมือนกับขาดหัวหน้าครอบครัวไป ความหวังที่จะให้เขาสืบทอดกิจการร้านค้าที่ทำมาสิบกว่า ปี  ในขณะที่ลูกคนอื่นๆ ยังอยู่ในวัยเรียน  เป็นอันต้องดับสูญไป

            เมื่อถามว่า เธอจะไปขายของในตลาดอีกไหม เธอบอกว่าก็ต้องไป  เพราะนี่เป็นอาชีพของเธอ ถ้าไม่ค้าขายแล้ว จะไปทำอะไรกิน ในเมื่อเธอค้าขายในตลาดที่นั่นมาตั้ง 15 ปีแล้ว

            พ่อค้า แม่ค้าหลายคนก็คงไม่ต่างจากเธอ กลัวก็กลัวนะ  แต่ยังคงต้องไปทำมาค้าขายในตลาดเป็นประจำทุกวัน ก็คงไม่ต่างจากคนซื้อ สักพักก็คงต้องกลับมาจับจ่ายใช้สอยในตลาดกันใหม่เช่นเคย ตลาดจึงเป็นพื้นที่สาธารณะ  ที่ผู้คนได้มาทำกิจกรรมที่สำคัญในชีวิตประจำวันร่วมกัน

            และสำหรับชาวตลาด เช่นมามา รวมทั้งบรรดาพ่อค้า แม่ค้าทั้งหลายแล้ว   “ตลาด” เป็นแหล่งหาเลี้ยงชีพอันสุจริต ของคนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีคนอยู่ข้างหลัง ให้ต้องรับผิดชอบดูแล

            “ตลาด” จึงเป็นเสมือนลมหายใจของชีวิตชาวตลาดทุกคน

            อย่าทำร้ายตลาดเลยนะ!

            #พื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัย

 

โซรยา จามจุรี และคำนึง ชำนาญกิจ บันทึกเรื่องราว

(หมายเหตุ : ติดตามในตอนหน้า เยี่ยมและสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในตลาดอีกราย คือครอบครัวของคุณสุปรีดา เจนนฤมิตร)