Skip to main content

ปัตตานี และนราธิวาส ประกาศเขตภัยพิบัติหลังน้ำท่วมสูง 3 วัน

 

มารียัม อัฮหมัด และมาตาฮารี อิสมะแอ 
ปัตตานี และนราธิวาส
 
 
    171129-TH-floods-1000.jpg
    นายมูฮำหมัดรุสลัย มะเสะ เกษตรกรชาวหนองจิก ปัตตานี อุ้มแกะออกจากฟาร์ม หลังจากที่น้ำท่วมสูง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560
     มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันพุธ (29 พฤศจิกายน 2560) นี้ จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส ได้ประกาศให้หลายอำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว หลังจากฝนตกต่อเนื่องและมีน้ำท่วมขัง เป็นเวลากว่า 3 วัน จนมีชาวบ้านได้รับผลกระทบเกือบสองแสนราย และในวันนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ที่จังหวัดปัตตานี ตามรายงาน มีประชาชนเสียชีวิตในจังหวัดภาคใต้รวม 6 รายแล้ว นับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา

    นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน มีประชาชนกว่า 2 หมื่นครอบครัวได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ จังหวัดจึงได้ประกาศให้ 13 อำเภอ เป็นเขตภัยพิบัติแล้ว

    “ได้ประกาศให้พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว 13 อำเภอ รวม 67 ตำบล 452 หมู่บ้าน ชาวบ้านเดือนร้อน 22,054 ครอบครัว 86,094 คน อพยพชาวบ้านไปอยู่ศูนย์อพยพ 59 ครัวเรือน 251 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 17 หลัง ถนนเสียหาย 104 สาย ดินสไลด์ 10 แห่ง โรงเรียนได้รับผลกระทบ 53 แห่ง ต้องประกาศหยุดการเรียนการสอน 30 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตร 7,546 ไร่” นายสุรพรกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

    ด้านนายวีรนันทน์ เพ็ญจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 11 อำเภอ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรีไหลผ่าน เนื่องจากระดับน้ำเข้าขั้นวิกฤต

    “ในพื้นที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม 11 อำเภอ 68 ตำบล 344 หมู่บ้าน บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 8,956 ครัวเรือน 14,625 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โรงเรียนหยุดการเรียนการสอน 10 โรง พื้นที่เกษตร 1,300 ไร่” นายวีรนันทน์กล่าว

    โดยในวันเดียวกัน ร.ต.ท.ธีรศานต์ มิ่งหมื่นไวย์ รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธร อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เปิดเผยว่าได้ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ คลองบ้านคลอง ม.4 ต.บ้านนอก อ.ปะนาเราะ ว่ามี คนจมน้ำจึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามไม่สามารถช่วยได้ทัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

    “พบเป็นศพ ทราบชื่อนายสุไลมาน บาเหะ อายุ 16 ปี จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ นายสุไลมานกำลังทอดแหหาปลาบริเวณคลอง ได้ลื่นล้มจนตกลงไปในคลองจมน้ำหาย และพบเสียชีวิตในเวลาต่อมา” ร.ต.ท.ธีรศานต์กล่าว

    นับตั้งแต่มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ระลอกใหม่มานานนับสัปดาห์ จนเกิดน้ำป่าไหลหลากฉับพลันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีน้ำท่วมหนักเข้าขั้นวิกฤตมาแล้วเป็นเวลา 3 วัน เจ้าหน้าที่ในจังวหัดต่างๆ ได้รายงานยอดผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 ราย  ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 4.7 หมื่น หลังคาเรือน 1.67 แสนคน และพื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย 1.6 หมื่นไร่

    นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากต่อไป เนื่องจากคาดว่าในวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2560 จะยังมีฝนตกหนัก ลมแรง ให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม และในทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

    นายลุกมาน ยานยา เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขื่อนบางลาง จ.ยะลา ประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 วันที่จะถึงนี้ เนื่องจากฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง และเขื่อนอาจต้องปล่อยน้ำซึ่งจะกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำที่ไหลไปยังจังหวัดปัตตานี

    “ฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้เขื่อนบางลางมีระดับน้ำ 105 เมตร หรือเท่ากับ 974.91 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำการระบาย ในช่วง 2-3 วันนี้ 2.93 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับ 34 เมตรต่อวินาที ขณะนี้ทางเขื่อนยังไม่ได้ปล่อยน้ำออกจากสปิลเวย์ เนื่องจากเขื่อนยังสามารถรองรับน้ำฝนได้อีก 30 เปอร์เซนต์ การปล่อยน้ำ 2 ล้านลูกบาตรเมตรต่อวัน จะทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ และพื้นที่ลุ่มได้รับผลกระทบบ้าง จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” นายลุกมานกล่าว

    ด้านการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเบื้องต้นได้นำอาหาร และน้ำดื่มแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และส่งหน่วยแพทย์เข้าดูแลแล้ว

    “ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ จัดทำอาหารแห้ง และน้ำดื่ม 600 ชุด เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม บริเวณ อ.หนองจิก และ อ.โคกโพธิ์ สนับสนุนเรือยาง 2 ลำ เรือท้องแบน 4 ลำ ชุดแพทย์ 1 ชุด ให้กับหน่วย ต่างๆในพื้นที่ได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน” พล.ต.จตุพรกล่าว

    ในพื้นที่สุไหงโก-ลก นายกรียา อาแซ เจ้าหน้าที่ปกครอง อำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวเตือนประชนไทยไม่ให้เดินทางไปยังมาเลเซีย เพราะว่าพื้นที่ ริมแม่น้ำโก-ลก ทางฝั่งรันตูปันยัง ฝั่งมาเลเซีย เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมากกว่าฝั่งอำเภอสุไหงโก-ลก ของไทย ทำให้ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร  ส่วนเส้นทางการเดินทางที่จะเข้าไปในตัวเมืองโกตาบารู มีน้ำท่วมสูง รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ทั้งนี้ หากยังไม่มีภารกิจสำคัญขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ามาจนกว่าสถานการณ์อุทกภัยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

    อย่างไรก็ ตามสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซีย สามารถใช้บริการรถหกล้อของเอกชนที่บริเวณด่านชายแดนรันตูปันยัง เพื่อไปยังจุดให้บริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ1 กิโลเมตร โดยมีค่าใช้จ่าย 10 ริงกิต (ประมาณ100 บาท) ต่อคนต่อเที่ยว

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-floods-11292017153952.html