Skip to main content

 

สถานการณ์เด็กในรอบ 13 ปีของความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี

 

 

เนื่องจากวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปีคือวันสิทธิเด็กสากล (International Children's Right Day) ในพื้นที่ชายแดนใต้จึงมีการจัดงานสิทธิเด็กสากลขึ้นมา ซึ่งจัดกันมาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยในปีนี้จะมีการจัดงานภายใต้โครงการ “การรณรงค์เรื่องสิทธิเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง ครั้งที่ 3” : Child Rights Day 2017/Hak Hak Anak ในวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกันจัดโดย เครือข่ายปกป้องคุ้มครองเด็กชายแดนใต้ (Safety Net) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ 22 องค์กร

ผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับ ดร.มายือนิง  อิสอ ที่ปรึกษาและคณะทำงาน ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดย ศวชต. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมจัดงานนี้ด้วย

ดร.มายือนิง  อิสอ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของงานที่ ศวชต. ทำก็คือ การเก็บและรวบรวมข้อมูล โดยข้อมูลจะเป็นชุดสถิติที่บอกกับเราถึงปริมาณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเด็กกำพร้า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต แนวโน้มของแต่ละปีเป็นอย่างไร สูงต่ำแค่ไหนอย่างไร หรือแนวโน้มจะเป็นไปลักษณะใดในอนาคต และเมื่อเราเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เราสามารถที่จะค้นหาได้ง่าย  และที่สำคัญเพื่อเผยแพร่ให้ผู้คนสามารถนำไปอ้างอิงต่อในงานวิจัยต่อไปได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานบริการวิชาการ โดยที่ผ่านๆ มาจะมีบรรดาคณาจารย์และนักศึกษามาขอข้อมูลไปอ้างอิงในงานวิจัยอยู่บ่อยครั้ง

ดร.มายือนิง  อธิบายว่า การทำงานของเราในพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อเราได้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับเด็ก ทั้งเด็กที่ประสบกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ไปจนถึงเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ ทำให้เราสามารถประมวลได้ว่าจะลงพื้นที่เพื่อไปทำกิจกรรมกับเด็กในพื้นที่ไหนบ้างและพื้นที่ไหนก่อนหลัง ข้อมูลเป็นสิ่งที่จะคอยทำหน้าที่นำทางให้กับคนทำงานเพื่อสังคม อย่างพื้นที่ไหนที่มีเด็กประสบเหตุจำนวนมาก คณะทำงานก็จะลงไปทำกิจกรรมในพื้นที่นั้นๆ เป็นพื้นที่แรกๆ ก่อน โดยที่ผ่านมาทางเราเองก็ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเด็กที่ประสบเหตุ เพื่อต้องการให้กำลังใจและฟื้นฟูสภาพจิตใจของพวกเขา

เมื่อพูดถึงเด็กแล้ว พวกเขาคือเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติ เราจะต้องให้ความสำคัญกับพวกเขา เพราะสำหรับเด็กที่ประสบกับเหตุการณ์ความไม่สงบ เราไม่อาจรู้เลยว่าเขาจะรู้สึกและคิดอย่างไร จะโกรธแค้นหรือไม่ เราจึงต้องไปทำกิจกรรมเชิงบวกหรือกิจกรรมสร้างสรรค์กับพวกเขาเหล่านั้น โดยการพยายามให้พวกเขามองโลกในแง่บวก เพราะเขาจะต้องโตไปเป็นกำลังของชาติต่อไป

ดร.มายือนิง  อธิบายอีกว่า จากข้อมูลสถิติที่เราเก็บรวมรวมมาจะพบว่ามีตัวเลขของเด็กที่ประสบเหตุและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจำนวนไม่น้อย ทำให้ตัวเราเองจะต้องคิดทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สังคมได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเด็กที่ประสบเหตุนั้นแน่นอนว่ากระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขาแม้เราจะมองไม่เห็นก็ตาม และหากสภาพจิตใจไม่ถูกเยียวยาก็จะส่งผลกระทบเมื่อเขาโตขึ้นเป็นวัยหนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่ ซึ่งเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางทีอาจส่งผลกระทบต่อสังคมที่ร้ายแรงกว่าเดิมก็เป็นได้

“แม้แต่คณะทำงานของเราเอง เวลาเก็บข้อมูลและได้รับข้อมูลของเด็กที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการได้เห็นภาพของเด็กที่ได้รับผลกระทบ ก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนทำงานเช่นกัน ทำให้เราเองก็ต้องพาคนทำงานของเราไปทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยเช่นเดียวกัน” ดร.มายือนิง  กล่าว

ดร.มายือนิง  อธิบายเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลจะเห็นได้ชัดเจนว่าจำนวนเด็กกำพร้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย (โดยมียอดรวมตัวเลขของเด็กกำพร้าจำนวน 9,226 คน) และจำนวนจะสูงตามเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ตามข้อมูลสถิติแล้วเราจะเห็นได้ว่า เมื่อจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบสูง จำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบก็จะสูงขึ้นตาม ในทางกลับกันเมื่อเหตุการณ์ความไม่สงบลดลง จำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบก็จะลดลงเช่นเดียวกัน

ดร.มายือนิง  กล่าวว่า เราทุกคนควรสนับสนุนให้เด็กๆ มีการศึกษาที่ดี โดยเฉพาะเด็กกำพร้าที่มีเป็นจำนวนมาก เพราะการศึกษาจะเป็นสิ่งที่จะคอยช่วยเหลืออย่างยั่งยืนต่อพวกเขาในอนาคต เพราะแน่นอนว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ ก็คือ ในโรงเรียนต่างๆ ช่วงมัธยมต้นเด็กผู้ชายจะมีจำนวนมาก แต่ในช่วงมัธยมปลายเด็กผู้ชายจะมีจำนวนที่น้อยลง และในช่วงมหาวิทยาลัยจะมีผู้ชายในแต่ละสาขาวิชาอยู่น้อยมาก ทั้งที่สถิติของเด็กที่ประสบเหตุความไม่สงบ ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน คำถามก็คือ ทำไมเด็กผู้ชายจึงหายไปจากระบบการศึกษา?

ดร.มายือนิง  กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่จะฝากสำหรับเด็กๆ ก็คือ เด็กๆ ควรตั้งใจเรียน ต้องเป็นเด็กดี ต้องรู้จักการดูแลตัวเอง เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และไม่มีผู้ใดอยากจะประสบพบเจอ แต่อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น จึงควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพราะเด็กๆ ในวันนี้คือความหวังของสังคมในวันข้างหน้า

 

ผู้สัมภาษณ์ : อิมรอน ซาเหาะ

ผู้ให้สัมภาษณ์ : ดร.มายือนิง  อิสอ

ผู้สนับสนุนข้อมูล : สุภาภรณ์ พนัสนาชี, คณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ Deep South Incident Database (DSID) และ คณะทำงานศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.)

 

แผนที่แสดงจำนวนเด็กกำพร้าของแต่ละจังหวัดในประเทศไทย