Skip to main content

 

คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (จบ) : บทบาทอาเซียน

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ในภาพอาจจะมี 13 คน, คนที่ยิ้ม, ฝูงชน

 

หนึ่งในปัญหาที่กินไม่เข้าคายไม่ออกของอาเซียนและเป็นเรื่องแสลงหูแสลงใจหากจะหยิบขึ้นมาพูดกันคือปัญหาสิทธิมนุษยชน เพราะที่ผ่านมาอาเซียนจะยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นวิถีอาเซียนที่ทำให้ยังสามารถรวมกลุ่มกันมาได้จนถึงทุกวันนี้ แต่กระนั้นอาเซียนก็ต้องถูกวิจารณ์ว่าละเลยปัญหาสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอดเพราะไม่มีกลไกใด ๆ ที่สามารถปกป้องคุ้มครองหรือควบคุมรัฐสมาชิกให้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้ เราจึงเห็นปัญหาการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนควบคู่ไปกับการปฏิเสธของรัฐว่าไม่มีการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เมื่ออาเซียนเข้าสู่ความเป็นประชาคมเดียวกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 หรือที่เรียกว่า ASEAN Community มีการจัดทำกฎบัตรขึ้นเป็นครั้งแรก ประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจและถูกจับตามากที่สุดก็คือเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะ เพราะมีระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน ภายใต้แผนงานเสา การเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political and Security Community)

ก่อนหน้านั้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 2012 อาเซียนมีการจัดทำปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนร่วมกัน (ASEAN Declaration on Human Rights) ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญชิ้นแรกที่ระบุถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ซึ่งคาดหวังกันว่าแต่ละประเทศจะยึดหลักนี้และนำไปเป็นนโยบายส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในของตนเอง ในอีกด้านหนึ่งก็มุ่งหวังว่าจะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนกันมากยิ่งขึ้น มีกลไกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนร่วมกันในระดับภูมิภาค ดังนั้น การจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นทั้งความหวังและความท้าทายสำหรับอาเซียน ประเด็นคืออาเซียนจะวางสมดุลอย่างไรระหว่างการจัดการกับปัญหาสิทธิมนุษยชนกับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน

ปัญหาโรฮิงญาถือเป็นงานช้างหรืองานใหญ่ที่เป็นวิกฤติท้าทายอาเซียนมากที่สุดขณะนี้ เป็นบททดสอบความเป็นประชาคมอาเซียนที่โลกจับตามอง

อย่างไรก็ตาม อาเซียนมีความพยายามพูดคุยกัมาตลอดนับตั้งแต่ ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นในปี 2012 ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย พยายาม ผลักดันให้เกิดการพูดคุย กับรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อแก้ไขปัญหา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา แต่ติดปัญหาที่ว่ารัฐบาลเมียนมาร์ไม่เคยยอมรับว่ามีปัญหาสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ ที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แต่อย่างใด การพูดคุยเจรจาจึงถูกจำกัดกรอบเฉพาะเรื่องผู้ลี้ภัยทางทะเลเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ ในขณะที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทารุณกรรม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งเป็นวงจรที่สร้างปัญหาผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวิกฤติล่าสุดที่หนักหน่วงมาก

เหตุการณ์ระลอกล่าสุดเป็นบททดสอบสำคัญไม่เฉพาะต่อประชาคมอาเซียน แต่รวมถึงประชาคมโลกด้วย กระนั้นบทบาทของอาเซียนก็ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ

หากจะไล่เรียงตามช่วงเวลาและบทบาทของตัวแสดงหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจสรุปได้คราว ๆ ดังนี้

- เหตุหารณ์เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม และเลวร้ายลงเรื่อย ๆ (ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว) เกิดคลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนมากหลบหนีข้ามพรมแดนไปยังฝั่งบังกลาเทศ

- วันที่ 19 กันยายน นางอองซาน ซูจี แถลงการณ์ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกด้วยภาษาอังกฤษ นับเป็นเวลาเกือบกว่าเธอจะออกมาแถลงซึ่งถือว่าล่าช้ามากเมื่อมองจากวิกฤตของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เธอเองก็ถูกถูกกดดันจากทั่วโลก แต่เนื้อหาของการแถลงนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขั้นแล้ว ซูจียังโดนวิจารณ์หนักมากกว่าเดิม เพราะยังปกป้องปฏิบัติการของทหารและไม่แสดงความรับผิดชอบหรือให้หลักประกันใด ๆ ต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาวโรฮิงญาในอนาคต ที่สำคัญคือยังไม่ยอมรับตัวตนของชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์เช่นเคย ที่สำคัญกลับพยายามจะบ่งบอกว่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขั้นในรัฐยะไข่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้หน่วยงานภายนอกเข้าไปตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ซูจีได้รับปากว่าจะคุ้มครองดูแลพลเรือนทุกกลุ่มในรัฐยะไข่

- วันที่ 23 กันยายน บังกลาเทศในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นและให้ที่ลี้ภัยกับชาวโรฮิงญากว่า 6 แสนคน ได้ออกแถลงข่าวว่าการไหลทะลักของชาวโรฮิงญาดูเหมือนว่าจะหยุดลงแล้ว หมายความว่าไม่มีผู้ลี้ภัยหนีพยายามหนีข้ามมาแล้ว (ต่อมายังพบว่ามีผู้ลี้ภัยหนีข้ามมาอยู่เรื่อย ๆ )

- วันที่ 24 กันยายน คณะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์ก ได้ออกการแถลงการณ์กรณีสถานการณ์ในรัฐยะไข่ โดยประณามการโจมตีของกลุ่ม ARSA เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และการใช้ความรุนแรงของทุกฝ่าย โดยระบุว่าสถานการณ์ในยะไข่เป็นปัญหาระหว่างชุมชนที่ซับซ้อนและมีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์ ขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงกระกระทำใด ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และให้ร่วมกันหาทางออกที่ยั่งยืน โดยขอให้มีการพูดคุยกันระหว่างเมียนมาร์กับบังกลาเทศ นอกจากนั้นยังขอให้เมียนมาร์รับรองความปลอดภัยของพลเรือนทั้งหมด หยุดความรุนแรงในรัฐยะไข่โดยทันที จัดการปัญหาผู้ลี้ภัยด้วยกระบวนการพิสูจน์ทราบ ในแถลงการณ์ยังแสดงความยินดีที่เมียนมาร์เริ่มทำงานกับสภากาชาคสากลเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ข้อสังเกตคือในแถลงการณ์ไม่ได้เอยคำว่า “โรฮิงญา” เลย สอดคล้องกับท่าที่ของเมียนมาร์ที่ไม่ใช้คำว่าโรฮิงญาเลย จุดนี้จึงทำให้มาเลเซียไม่พอใจทั้งประท้วงและไม่ร่วมในแถลงการณ์นี้ด้วย มองว่าอาเซียนกำลังพยายามเบี่ยงเบนประเด็นและมองข้ามความจริง

ทั้งนี้ บทบาทของอาเซียนอาจมองได้หลายมุม ด้านหนึ่งหากมองในแง่บวกอาจกล่าวได้ว่าอาเซียนค่อนข้างระมัดระวังในการแสดงท่าทีของตัวเองแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ถ้าไม่ขยับอะไรเลยก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์แต่ถ้ารุนแรงไปก็อาจทำให้ประเทศสมาชิกอย่างเมียนมาร์ไม่พอใจและอาจส่งผลต่อความเป็นประชาคมในระยะยาว ที่สำคัญคือยังคงยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของเป็นเทศสมาชิกเหมือนเช่นเคย

แต่หากมองในอีกด้านหนึ่ง อาเซียนถูกวิจารณ์ว่านอกจากไม่มีกลไกอะไรที่เป็นรูปธรรมในการจัดการกับปัญหาแล้ว อาเซียนยังไม่ได้มองหรือให้ความสำคัญกับวิกฤตที่เกิดขึ้นว่าเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งเท่ากับว่าอาเซียนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร เพราะกว่าอาเซียนจะออกแถลงการณ์ก็ใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็ม อีกทั้งยังเป็นการประชุมนอกรอบที่นิวยอร์กระหว่างการประชุม......สหประชาชาติ ประเด็นคือเหตุใดถึงไม่จัดประชุมอย่างเร่งด่วนให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อยับยั้งไม่ให้วิกฤตบานปลายอย่างที่เห็น ยิ่งไปกว่านั้นคือแถลงการณ์ของอาเซียนยังออกหลังแถลงการณ์ของอองซูจี หมายความว่าอาเซียนแทบจะไม่ได้กดดันอะไรต่อเมียนมาร์เลย โดยเฉพาะเมื่อดูจากเนื้อหาของแถลงการณ์ นอกจากนี้ การแสดงท่าทีของอาเซียนก็เกิดขึ้นหลังจากที่บังกลาเทศประกาศว่าคลื่นผู้ลี้ภัยได้หยุดลงแล้ว (ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น) หมายความว่าอาเซียนไม่ได้มีส่วนช่วยหยุดยั้งคลื่นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเลย

อาเซียนอาจยังยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกันตามวิถีเดิม ๆ ที่ปฏิบัติกันมาเพื่อรักษาอาเซียนให้เกาะกลุ่มกันได้ต่อไป แต่ปัญหาที่ตามมาและจะส่งผลในระยะยาวอาจก่อให้เกิดวิกฤตที่ใหญ่หลวงต่อทั้งภูมิภาค ด้านหนึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกระหว่างประเทศสมาชิกเพราะหลายประเทศในภูมิภาคได้รับผลกระทบจากคลื่นผู้ลี้ภัยด้วย คนมากกว่าครึ่งล้านกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยไม่มีที่อยู่อาศัย เด็กอีกเป็นแสน ๆ คนไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีครอบครัว และปัญหาอื่น ๆ อีกมาย ในอีกด้านหนึ่ง วันนี้อาเซียนอาจจะมองว่าอาเซียนทำดีที่สุดแล้วเท่าที่ทำได้และมองว่าองค์กรหรือความเป็นประชาคมนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แต่ปัญหาโรฮิงญาเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของภูมิภาคโดยรวมเพราะต้องไม่ลืมว่าจากประสบการณ์ของภูมิภาคตะวันออกกลางที่วันนี้มีปัญหาและความขัดแย้งมากมายนั้นมีแกนกลางหรือที่มาจากปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งโดยรากเหง้าแล้วคือปัญหาการถูกแย่งชิงดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ทำให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัยในบ้านของตัวเองและกระจายไปทั่วภูมิภาค ปัญหาการต่อสู้และกลุ่มติดอาวุธปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์ ปัญหาความขัดแย้งกันเองในภูมิภาค ฯลฯ ปัญหาโรฮิงญาในวันนี้อาจไม่ต่างจากปัญหาของชาวปาเลสไตน์ในวันนั้น (จนมาถึงวันนี้)

ไม่อยากเห็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเหมือนตะวันออกกลาง ไม่อยากเห็นชีวิตอันทุกข์ทรมานของผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ไม่อยากเห็นความขัดแย้งระหว่างประเทศอาเซียน แต่ปัญหานี้อาจเป็นเหมือนระเบิดเวลาลูกมหึมาของภูมิภาคนี้ในอนาคต หากอาเซียนไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดีพอ

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (ตอนที่ 1) : อดีตประธานาธิบดีตูนิเซียพูดถึงปัญหาโรฮิงญา

คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (ตอนที่ 2) : ผมเรียกโรฮิงญา เขาเรียกเบงกาลี

คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (ตอนที่ 3) : ท่าทีโลกมุสลิม