Skip to main content

 

การบ่งชี้ตัวตนด้วยลายพิมพ์นิ้วมือที่ปรากฏในอัลกุรอาน

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

ในภาพอาจจะมี ข้อความ

วิทยาศาสตร์ยืนยันหนักแน่นว่าเป็นไปไม่ได้ที่ลายพิมพ์นิ้วมือของสองนิ้วจะเหมือนกัน (No two fingerprints similar) มนุษย์ในโลกปัจจุบันมีจำนวนมหาศาลถึง 7,500 ล้านคน ไม่มีนิ้วมือไหนมีลายพิมพ์นิ้วมือเหมือนนิ้วอื่นเลย เป็นเช่นนี้เองจึงทำให้ลายพิมพ์นิ้วมือ (fingerprint) กลายเป็นคำที่หมายถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลหรือสิ่งของ คำถามมีอยู่ว่ามนุษย์รู้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าลายนิ้วมือของแต่ละคนแตกต่างกัน ความรู้นี้แม้เกิดขึ้นหลายพันปีแล้ว โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่ามนุษย์ยุคโบราณไม่ว่าจะเป็นเมโสโปเตเมียหรือจีนหรือกรีกใช้ลายพิมพ์นิ้วมือแสดงตัวตนของตนเอง แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่เคยมีบันทึกใดเลยที่ยืนยันว่าลายพิมพ์นิ้วมือของแต่ละคนแตกต่างกัน

บันทึกที่ยืนยันชัดเจนว่าลายพิมพ์นิ้วมือคือหลักฐานที่บ่งชี้ตัวบุคคลแต่ละคนเกิดขึ้นใน ค.ศ.1892 โดยนักวิทยาศาสตร์อิตาลีชื่อ Juan Vucetich และอังกฤษชื่อ Sir Francis Galton ยืนยันในบันทึกปีเดียวกันว่ามนุษย์แต่ละคนมีลายพิมพ์นิ้วมือแตกต่างกัน จากหลักฐานที่มีบันทึกชัดเจนนี้เองในที่สุดกลายเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้แสดงลักษณะของบุคคลที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม หากคิดจะยกเครดิตโดยยึดเอาบันทึกที่กล่าวถึงความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลโดยใช้ลายพิมพ์นิ้วมือเป็นเกณฑ์เห็นทีเครดิตนี้ต้องตกเป็นของอัลกุรอานที่นำเสนอออกมาเมื่อ 14 ศตวรรษก่อน เก่าแก่กว่านี้ไม่มีแล้ว

 

بَلَىٰ قَـٰدِرِينَ عَلَىٰٓ أَن نُّسَوِّىَ بَنَانَهُ

“เรา (อัลลอฮฺ) สามารถรวบรวม (ชิ้นส่วน) มนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์กระทั่งปลายนิ้วมือ” อัลกิยามะฮฺ 75:4

 

อัลกุรอานบทนี้ลงมาถึงท่านนบีมูฮำมัด ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในปีที่สามของการประทานอัลกุรอานที่เมืองมักกะฮฺ ใน ค.ศ.612 หรือเมื่อ 1,405 ปีล่วงมาแล้ว โดยกล่าวถึงความสงสัยของมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮฺผู้ทรงสร้างว่าจะรวบรวมร่างกายมนุษย์ภายหลังการเสียชีวิตอย่างไรในเมื่อชิ้นส่วนต่างๆของร่างกายกระจัดกระจายสิ้นสลายไปจนกระทั่งไม่สามารถแยกแยะบุคคลหนึ่งออกจากอีกบุคคลหนึ่งได้แล้ว อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอานบทนี้ว่าทรงแยกแยะแต่ละบุคคลได้ โดยบทที่ 75 กล่าวไว้ในวรรคที่ 3 ว่า “มนุษย์คิดหรือว่าเราจะไม่รวบรวมกระดูกของเขากระนั้นหรือ” เข้าวรรคที่ 4 จึงทรงกล่าวถึง “บะนานะฮฺ” (بَنَانَهُ) หรือปลายนิ้ว เนื้อหาในวรรคที่ 4 นี้กล่าวไว้ชัดเจนว่าทรงแยกแยะได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดยทรงระบุถึงปลายนิ้วมือซึ่งในวันนั้นอาจไม่เข้าใจความหมายลึกซึ้งนัก ทว่าวันนี้รู้กันดีแล้วว่าหมายถึงลายพิมพ์นิ้วมือ เหตุนี้อัลกุรอานจึงสมควรได้รับเครดิตว่าเป็นบันทึกแรกที่แสดงหลักฐานการใช้ลายพิมพ์นิ้วมือบ่งชี้ลักษณะของแต่ละคน

นักอรรถาธิบายอัลกุรอานหรือ “ตัฟซีร” หลายท่านให้ความหมายของบะนานะฮฺว่านอกจากจะหมายถึงปลายนิ้วแล้วยังหมายถึงลายพิมพ์นิ้วมือซึ่งบ่งชี้ถึงตัวตนของแต่ละบุคคล เมื่อเป็นเช่นนี้อัลกุรอานจึงเป็นบันทึกชิ้นแรกในโลกที่กล่าวถึงการใช้ลายพิมพ์นิ้วมือแสดงลักษณะของแต่ละบุคคล ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น