Skip to main content

 

เคิร์ดและเคอร์ดิสถาน: ขบวนการชาตินิยมในศตวรรษที่ 20

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ไม่มีข้อความกำกับภาพอัตโนมัติ

 

กระแสอุดมการณ์ชาตินิยมในหมู่ชาวเคิร์ดเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการปฏิวัติในกรุงคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูล) ในปี 1908 ที่นำโดยกลุ่มยังเติร์ก (Young Turks) อุดมการณ์ของพวกยังเติร์กในเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ (constitutional reform) และการปกครองแบบตัวแทนแห่งตน (representative government) ได้รับความสนใจอย่างมากจากพวกปัญญาชนของอาณาจักรออตโตมาน ซึ่งก็รวมถึงชาวเคิร์ดด้วย

แต่ปัญหาก็คือ นักชาตินิยมชาวเคิร์ดซึ่งก่อรูปขึ้นใหม่จากกลุ่มสมาคมและสังคมเมือง ไม่ได้เป็นที่สนใจของผู้นำท้องถิ่น (Aghas) เพราะคนกลุ่มนี้มีพื้นฐานมาจากสังคมชนบท

ดังนั้น อุดมการณ์ชาตินิยมของชาวเคิร์ดจึงเป็นกระแสที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะไม่สามารถชักจูงให้ผู้นำท้องถิ่นมาเป็นแนวร่วมด้วย

ในทางตรงข้าม ผู้นำท้องถิ่นกลับคิดว่าขบวนการชาตินิยมชาวเคิร์ดของคนรุ่นใหม่อาจเป็นภัยคุกคามต่อสถานภาพเดิมของพวกเขา ที่มีอำนาจมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดในที่สุดก็ถูกทำลายลง จากการที่อาณาจักรออตโตมานประกาศสงครามโลกกับกลุ่มสัมพันธมิตรในเดือนตุลาคม 1914

ความพ่ายแพ้ของอาณาจักรออตโตมานต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1918 ได้นำไปสู่ระเบียบใหม่ทั้งหมดในภูมิภาค ส่วนพื้นที่ดินแดนของอาณาจักรออตโตมานเก่าก็ถูกตัดออกเป็นส่วน ๆ กลายเป็นรัฐใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากการกำหนดเขตแดนของมหาอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงพรมแดนทางชาติพันธุ์ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ รัฐเหล่านี้ถูกก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ที่เคยเป็นอาณาจักรของพวกอาหรับเดิม โดยได้รับการยุยงส่งเสริมจากจักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1

ความใฝ่ฝันของชาวเคิร์ดในการตั้งรัฐอิสระของตนเองส่วนหนึ่งได้รับแรงผลักดันจากประธานาธิบดี Woodrow Wilson แห่งสหรัฐฯ จาก โครงการ 14 ประเด็น (Fourteen Point Program) โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสันติภาพโลกขึ้นมา

ประเด็นที่ 12 ของโครงการยืนยันว่า ชนกลุ่มน้อยของอดีตอาณาจักรออตโตมานจะต้องได้รับการประกันให้พัฒนาการปกครองตนเองขึ้นมา โครงการนี้ทำให้ชาวเคิร์ดรู้สึกพอใจที่อนาคตการจัดตั้งรัฐอิสระของพวกเขามีความเป็นไปได้มากขึ้น

แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะโอกาสที่ชาวเคิร์ดได้รับจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังสงคราม ดูเหมือนไม่มีความแน่นอน ความสำนึกในความเป็นชาติไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวเคิร์ด แต่กลับจำกัดอยู่เพียงแวดวงปัญญาชนที่อยู่ในเมืองเท่านั้น ความจงรักภักดีแบบชนเผ่า ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิม ยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ตามชนบทในเทือกเขาห่างไกล อันเป็นพื้นที่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของผู้นำท้องถิ่น (Aghas) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่หวาดระแวงต่อการเคลื่อนไหวของชาวเคิร์ดรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าที่อยู่ในเมือง

ในขณะเดียวกันผู้นำท้องถิ่นเดิมก็หวาดระแวงผู้นำชนเผ่าคนอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และไม่ต้องการร่วมมือร่วมใจกับผู้นำชาวเคิร์ดเหล่านี้ในการสร้างความรู้สึกร่วมกันที่จะสร้างความเป็นชาติขึ้นในหมู่ชาวเคิร์ดด้วยกัน

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น สนธิสัญญา Severs ในเดือนสิงหาคม 1920 จึงเป็นสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชาวเคิร์ดยังไม่มีความพร้อม แม้ว่าสนธิสัญญาดังกล่าวจะเอื้อต่อสถานะการปกครองตนเอง (autonomy) ของชาวเคิร์ดในดินแดนตุรกีและดินแดนที่เคยอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษอย่างโมซุล (ปัจจุบันอยู่ในอิรัก) ก็ตาม

ชาวเคิร์ดจำนวนไม่น้อยเสียดายที่พลาดโอกาสดีจากสนธิสัญญา Serves แต่ถึงแม้ว่าขณะนั้นพวกเขาจะมีผู้นำชาตินิยมที่เข้มแข็งพอที่จะก่อตั้งรัฐอิสระขึ้นมาได้จริง ๆ ความพยายามอันนั้นก็อาจไม่เป็นผลอันเนื่องจากการปฏิวัติโดย กามาล อตาเติร์ก (Kamal Atatuk)

ทั้งนี้เป็นเพราะอตาเติร์กปฏิเสธการลงนามระหว่างรัฐบาลออตโตมานกับมหาอำนาจในสนธิสัญญา Serves ที่จะส่งผลให้ดินแดนตุรกีถูกแบ่งย่อยและอยู่ภายใต้อิทธิพลของต่างชาติ

ในขณะเดียวกัน ผู้นำชาวเคิร์ดส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับอิทธิพลศาสนามากกว่าความรู้สึกเรื่องชาตินิยม ก็ยินดีที่จะสนับสนุนการปฏิวัติของ อตาเติร์ก ที่พวกเขามองในขณะนั้นว่าเป็นการปกป้องอัตลักษณ์มุสลิมต่อภัยคุกคามจากพลังอำนาจของชาวคริสเตียนกรีก ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามารุกรานตุรกีจากตะวันตกและพวกอาร์เมเนียน (และโซเวียต) จากตะวันออก

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญา Lausanne ในเดือนกรกฎาคม 1923 ได้ปิดฉากความหวังของชาวเคิร์ดในการจัดตั้งรัฐเอกราช เพราะมีการสถาปนาอำนาจอธิปไตยของตุรกีเหนือดินแดนที่อตาเติร์กยึดได้ ซึ่งรวมถึงอนาโตเลีย อันเป็นดินแดนที่ชาวเคิร์ดส่วนใหญ่อาศัยอยู่

ในขณะที่ข้อเสนอแนะของอังกฤษที่ขอให้ตุรกียอมรับชาวเคิร์ดให้เป็นชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ (national minority) ก็ถูกปฏิเสธ

ถึงแม้ว่าในขณะนั้น อตาเติร์กจะพิจารณาให้สถานะการปกครองตนเอง (autonomy) แก่ชาวเคิร์ด แต่เรื่องนี้ก็ไม่เคยถูกระบุชัดเจน หรือถูกนำมาหารือในเวทีสาธารณะ ด้วยพัฒนาการอย่างนี้จึงเท่ากับเป็นการปูทางไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาลตุรกีกับนักชาตินิยมชาวเคิร์ดในอนาคต