Skip to main content

 

 

สงครามกับคนชายขอบ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ได้รับรู้เรื่องชาวกระเหรี่ยงรายหนึ่งที่รับราชการปฏิบัติหน้าที่เป็นทหารพราน จากเหตุระเบิดในวันที่ 22 กันยายน เหตุเกิดที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานีเมื่อ 22 ก.ย.2560 เวลาประมาณ 06.40 น. สภ.สายบุรี ได้รับแจ้งเหตุ คนร้ายไม่ทราบจำนวน วางระเบิด ชป.ทหารพราน 4412 จำนวน 9 นาย ขณะออก ว.เส้นทางโดยรถยนต์ บริเวณถนนสาย 42 (สายเก่า) พื้นที่ บ้านเจาะกือแย ม.1 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้ จนท. ทพ.เสียชีวิต จำนวน 6 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 3 ราย

อส.ทพ พิทักคมสิต ศักดิ์วิเศษสม เกิดวันที่ 26 มิถุนายน 2539 อายุเพียง 21 ปี ตั้งใจสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นทหารพรานด้วยตนหลังจากเรียนจบมัธยม 6 ตอนเรียนมัธยมก็เรียนนักศึกษาวิชาทหาร อาจเนื่องจากมีญาติใกล้ชิดก็รับราชการเป็นทหารพรานในจังหวัดชายแดนใต้ อส.ทพ. พิทักคมสิต มีชื่อเล่นว่าเล็ก เป็นลูกชายคนเดียวมีพี่น้องรวมสี่คน เล็กเป็นลูกชายคนที่สาม การสูญเสียครั้งนี้เป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ในครอบครัวของเล็ก

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียของบุคคลที่รักในครอบครัวของทหาร ตำรวจและประชาชนทั่วประเทศที่สูญเสียในสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานมาถึงเกือบ 14 ปี

ความร่วมสมัยและการเมืองที่วุ่นวายในสังคมไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาทำให้การศึกษาผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ครบคลุมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชนชายขอบที่มีส่วนในการสู้รบในนามกองทัพไทย เห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญและน่าทำการศึกษา แม้นักวิชาการหรือผู้ติดตามหลายกลุ่มจะศึกษากันแทบจะทะลุปุโป่งทั้งทางนักวิชาการทางทหารและนักวิชาการด้านสันติวิธี รวมทั้งการทำงานด้านพัฒนาหลายด้าน แล้วก็ตามแต่ส่วนใหญ่เน้นผลกระทบที่ม่ีต่อชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น

ในเชิงเปรียบเทียบเมื่อมาศึกษาถึงผลกระทบของสงครามเวียดนาม-สหรัฐเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมานั้นยังคงมีผลต่อคนสหรัฐอเมริกาที่ส่งไปรบที่เวียดนามและต่อสังคมอเมริกันอยู่ไม่น้อย แม้สงครามสหรัฐในเวียดนามจบลงไปกว่า40ปี เป็นที่ยอมรับว่ากระแสความไม่พอใจของประชาชนในการทำสงครามของรัฐบาลสหรัฐขณะนั้นเกิดขึ้นจากทหารสหรัฐอเมริกาและครอบครัวเองที่ส่งเสียงบอกรัฐบาลเขาในขณะนั้น ว่า “หยุดส่งคนไปตาย” สงครามสร้างบาดแผลในบ้าน มากกว่าที่ก่อไว้ที่สนามรบเสียอีก

เมื่อครั้งที่เคยได้ไปศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 ปีก่อน ที่เมืองแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า แซนตา เฟ้ (Santa Fe) เราพบกับชาวอินเดียแดงอายุเกษียณคนหนึ่ง นั่งทำสร้อยแหวนเงินเพื่อขาย เขาเรียกเราเข้าไปคุย โดยถามว่ามาจากเวียดนามหรือเปล่า เขาเคยไปนะเวียดนาม เราก็บอกว่าเรามาจากประเทศไทย แต่เขาคงเห็นหน้าอาเซียนอย่างเราคุ้นๆ แล้วก็เล่าต่ออย่างไม่ยอมหยุด เรื่องราวที่ทำให้เราน้ำตานองหน้า เขาเล่าว่าตอนอายุ 18 ปี ถูกส่งไปรบที่เวียดนาม เขาไม่รู้ว่าที่นั้นคือที่ไหน ทำไมต้องไปรบ

วันที่เราพบเขา เขานั่งรวมกลุ่มกับอดีตทหารหลายคน ฝึกทำเครื่องเงินซึ่งเป็นโครงการบำบัดช่วยเหลืออดีตทหารอเมริกันจากสงครามเวียดนามที่เขาตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม การทำงานทำเครืื่องเงินทำให้เขามีสมาธิ ช่วยให้เขามีรายได้และช่วยบำบัดด้านจิตใจ

เขาเล่าต่อด้วยน้ำเสียงเศร้าแต่แฝงไปด้วยความจริงจังว่าเขาไม่สามารถได้ยินเสียงเด็กร้องแม้แต่ลูกหรือหลานตัวเอง ไม่สามารถได้ยินเสียงปิดประตูดังๆ มันทำให้เขาคิดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่เวียดนาม และ มีวันหนึ่งเขาตั้งใจไปกินอาหารในร้านอาหารเวียดนามแห่งหนึ่ง ไม่ได้ชอบอาหาร แต่ตั้งใจไปขอโทษชาวเวียดนาม หลังจากวันนั้นเขาบอกว่าเขาดีขึ้นมาก แล้วก็ได้กุ๊กทำอาหารเวียดนามเป็นเพื่อน ทำให้เขาคุยได้และสามารถเล่าเรื่องนี้ให้เราฟังได้ เหมือนได้รับการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจได้ระดับหนึ่ง

มีชาวอัฟริกันอเมริกัน และชาวอินเดียแดงชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากต้องเข้าสู่การสู้รบในนามของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ประเทศเองก็ไม่ได้รักและเคารพ หรือเข้าใจความเป็นอัฟริกันอเมริกันหรือชนเผ่าพื้นเมืองเท่าไรนัก เหตุใดคนชายขอบในหลายๆ พื้นที่สงครามกลับกลายเป็นเหยื่อสงครามโดยที่ตนอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ใดใด และวีรกรรมกลับกลายเป็นบาดแผลทางด้านจิตใจที่ยากที่จะเยียวยา

หรือเราต้องยอมรับโดยดุษฎี ว่าสงครามมักมีบาดแผล แล้วปล่อยให้มันดำรงอยู่ต่อไป

บันทึกไว้ 23 กันยายน 2560

ภาพจาก Internet

ที่มา Pornpen Khongkachonkiet