Skip to main content

 

 

อาจจะเป็นที่ "ระแคะระคาย" ใจกับบรรดากองเชียร์ชาวไทยในซีเกมส์ ๒๐๑๗ ที่กัวลาลัมเปอร์กันบ่อยครั้ง ผมเองก็ชักแปลกใจเลยลองกางปฏิทินมาดูก็พอจะมีความเห็นได้บ้างตามนี้

"ซีเกมส์" เป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จัดขึ้นทุกสองปีครั้ง แต่ละครั้งเจ้าภาพมีอภิสิทธิ์ในการเลือกเมืองแข่งขัน ช่วงเวลาจัดการแข่งขัน ชนิดกีฬาจัดแข่งขัน และแน่นอนว่า บรรดาหัวข้อเหล่านี้ ก็กลายเป็นแม่บทในการผันไปสู่แผนการจัดการในห้วงเวลาการจัดการแข่งขันต่อไป

เจ้าภาพ "มาเลเซีย" เลือกที่จะจัดการแข่งขันในระหว่างวันที่ ๑๙ ถึง ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ โดยในวันถัดไปคือวันที่ ๓๑ สิงหาคม นั้นเป็น "วันชาติมาเลเซีย" ที่แน่นอนว่าเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองโดยปกติทุกปีแล้ว

 

#การเมืองภายในประเทศ

รัฐบาลมาเลเซียนำโดย "นายกรัฐมนตรีนาจิ๊บ ราซัค" เผชิญอุปสรรคทางการเมืองค่อนข้างบ่อยครั้ง บ้างก็เรื่องการทุจริต บ้างก็เรื่องความไม่เหมาะสม บ้างก็เรื่องการใช้อำนาจ ถาโถมเข้ามาเป็นระยะๆ เสถียรภาพทางการเมืองมาเลเซียจึงแตกมิติไปอย่างซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีการรับมือของท่านนาจิ๊บ ก็ชูประเด็น "ความเป็นเลิศ" ของมาเลเซียมาเป็นหลักประกันถึง "ผลลัพธ์" ของการบริหารประเทศ เพื่อเป็นผลงานในการเตรียมเข้าสู่สนามเลือกตั้งในอีกไม่นานหลังจากนี้

"การกีฬา" ถือเป็นปัจจัยที่แสดงให้เห็นถึง "ความเป็นเลิศ" ของประเทศที่ดีอย่างหนึ่ง การให้ประชาชนมาเลเซียได้เห็นถึง "ความสามารถ" ของนักกีฬาตน ก็คลายความรู้สึกขัดแย้งทางการเมืองได้ระดับหนึ่ง ยังเป็นการเสริมความรู้สึกร่วมในการรวมชาติ สู้เพื่อชาติ ได้ทำให้บรรยากาศทางการเมืองของมาเลเซียอย่างน้อยก็ "บรรเทา" ไปในอีกเปราะหนึ่ง ฉะนั้น อย่าแปลกใจที่เป้าหมายของชาติเจ้าภาพในครั้งนี้คือ

 

"เป็นเจ้าเหรียญทอง" ให้จงได้

การเป็นเจ้าเหรียญทอง มีอานิสงค์และความเสี่ยงหลายประการ ทั้งในแง่ของการบริหาร หรืออาจจะรวมถึงการบริหารความสัมพันธ์กับบรรดาชาติต่างๆ ที่เข้าร่วม

โดยหลักแล้ว รู้กันโดยทั่วไปว่ามหาอำนาจทางการกีฬาที่มีลุ้น "เจ้าเหรียญทอง" ของซีเกมส์ มีด้วยกันไม่กี่ประเทศ นึกออกสองชาติหลักก็เป็น ไทย อินโดนิเซีย

โดยซีเกมส์ห้าครั้งหลังสุด ไทยเป็นเจ้าเหรียญทองถึงสี่สมัย ส่วนอินโดนิเซียได้ไปหนึ่งสมัย

ดังนั้น ในแง่ของการวางแผนให้สองชาติดังกล่าวเจอเรื่องยากๆ ระหว่างการแข่งขัน ในอีกนัยหนึ่งคือ "โอกาส" ที่กว้างขึ้นของชาติเจ้าภาพ

 

#หันมาดูเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

เชื่อหรือไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง "ไทยกับมาเลเซีย" นั้น "ราบรื่นกว่า" ความสัมพันธ์ระหว่าง "อินโดนิเซียกับมาเลเซีย" เสียอีก ดังนั้น "อคติ" บวกกับ "ทัศนคติ" ที่ไม่ค่อยทอเต็มผืนระหว่างชาวมาเลเซียกับอินโดนิเซีย ก็มีผลต่อความรู้สึกเป็นอย่างมาก และเมื่อความรู้สึกไม่ดีถูกปลุกขึ้น ความเชื่อมั่นก็จางลง

ส่วนไทย ใครๆ ก็ทราบว่าเราค่อนข้าง "ผูกขาด" ความเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคนี้ หลายๆ ความเห็นก็อยากให้ไทย "หลุด" บ้าง เพื่อเป็นโอกาสและความหวังในการเข้ามา "ทัดเทียม" กันในด้านกีฬา

ลองนึกย้อนไปช่วงนัดชิงฟุตบอลซูซูกิคัพ ระหว่างมาเลเซีย กับไทย ดูดิ

คอมเม้นของอาเซียนเนี้ยะ อยากล้มทีมชาติไทย มากกว่าเชียร์อีกนะครับ

 

#ประสบการณ์การจัดการ

ยอมรับว่าการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยจัด ส่วนสำคัญก็คือ "เทคโนโลยี" ที่ทุกคนเป็น "นักข่าว" สื่อสารในสิ่งที่พบ ที่เห็น ที่รู้สึกได้ค่อนข้างทันที ดังนั้นเมื่อเจอเรื่องไม่สบอารมณ์ ก็แพร่กันง่าย จ่ายกันสะดวก ไม่แปลกเลยที่การจัดการของเจ้าภาพในครั้งนี้จึงเป็นอีกเรื่องใหญ่ที่ได้รับการ "ด่า" มากที่สุด ซึ่งทีมชาติไทยก็โดนหวยไปเต็มๆ ทั้งอาหารไม่พอ รถไม่มี คนขับหาย สนามซ้อมปิด อะไรเทือกนี้

 

#โรงแรม ที่พัก และอาหาร

เข้าใจว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ใช้หลักสากลคือ "เหมาจ่าย" ให้โรงแรมรับผิดชอบไป น่าเสียดายที่ซีเกมส์คราวนี้ ปรากฏผลหลายประการที่แสดงให้เห็นถึงการ "ขาดประสบการณ์" ไปอย่างไม่น่าเชื่อของผู้ดูแล

อาทิเช่น เรื่องอาหาร เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ปกติแล้วโรงแรมจะรับจ่ายเป็นราคาเหมาหัว ทั้งเหมาห้อง บริการอาหาร แต่นักกีฬาที่อยู่ในช่วงการแข่งขันนั้นทานอาหารมากกว่านักท่องเที่ยวปกติอย่างน้อยสองเท่า และมีกฎเกณฑ์ทางเวลาที่แตกต่างระหว่างชาติต่างๆ ในชาติต่างๆ ก็ยังแตกต่างชนิดกีฬา ทำให้การคาดการณ์และการจัดการของโรงแรมผิดเพี้ยนไป ทั้งในเรื่องปริมาณ ทำให้ไม่พอ หรือเรียกว่าขาด และเรื่องเวลา ที่ทำไม่ทันบ้าง หรือ ไม่มาเลย !

 

อีกเรื่องคือ #การจัดการเรื่องรถ

การจัดการในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไม่ง่าย แต่การป้องกันปัญหาที่ใช้กันได้ดีคือ "การประสานงาน" จากทั้งผู้ให้บริการ และ ผู้รับบริการ ดูจากรูปการแล้ว ผมเดาอย่างค่อนข้างมั่นใจเลยว่า "ขาดการสื่อสารที่ดี" ระหว่างกัน เราจึงเห็นความไม่ลงล๊อคของตารางเวลา และอารมณ์ไม่ดีทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ว่าจะมีการเข้าใจว่าเจ้าภาพน่าจะ "แกล้ง" แต่อย่างไรก็ดี ก็คือการขาดประสบการณ์นั้นเอง

 

#การจัดการตารางเวลาการแข่งขัน

เป็นเรื่องปกติที่ทางเจ้าภาพจะต้องจัดเวลาให้ตนเองมีความได้เปรียบสูงกว่านักกีฬาชาติอื่นๆ แต่ก็พอเหมาะพองาม มิใช่ว่าให้ชาติอื่นแข่งขันในเวลาที่มีความ "ลำบาก" มากกว่ามาก แล้วตนเองได้เล่นในสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ยิ่งในรอบลึกๆด้วยแล้ว การแข่งขันพร้อมกันเป็นกฏเกณฑ์สากลที่นำมาบังคับใช้ เพื่อความยุติธรรม และเพื่อแสดงความเป็นมืออาชีพด้วย ซีเกมส์ครั้งนี้ในชนิดกีฬาฟุตบอล ก็ส่อให้เห็นถึง "การเอาใจตนเอง" ของชาติเจ้าภาพอย่างชัดเจน

ดังนั้น หากรู้แนวนี้ เราจึงไม่แปลกใจที่ว่าเรื่องราวยุ่งๆ ป่วนๆ มักจะเกิดขึ้นในแคมป์ของสองชาตินี้

ซึ่งผลลัพธ์ที่เราเห็นแบบนี้ จะโทษว่าชาติเจ้าภาพ "โกง" ก็ไม่ค่อยเต็มปากนัก เหตุผลที่ผมว่ามีน้ำหนักมากคือ การขาดประสบการณ์และในฉุกคิดนั้นเอง

แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องจากบรรดาชาติสมาชิกที่เข้าแข่งขัน (โดยเฉพาะไทย และอินโดนิเซีย) แต่ก็อย่าลืมว่า "นักกีฬา" ทุกท่านเข้าร่วมการแข่งขันด้วยความเป็นมืออาชีพ เขามี "สปิริต" ในการยอมรับ "อุปสรรค" ในการทำหน้าที่ตัวแทนประเทศชาติ

เช่นกันที่จุดประสงค์ของกีฬาคือ "รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย" หากนักกีฬาหรือผู้เกี่ยวข้องโดยตรงไม่คำนึงถึงหลักใหญ่ของการกีฬานี้แล้ว ก็ย่อมทำให้ความเป็นนักกีฬาทีมชาติเบาบางลงไป ดังนั้น ผมเองก็นับถือในความมุ่งมั่นของนักกีฬาทุกชาติที่แม้จะมีสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ก็สู้ทุกครั้งที่หายใจอยู่

สิ่งที่ขาดหายของชาติเจ้าภาพคือ "การน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์" นำไปสู่ "ความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว" ซึ่งผมก็ผิดหวังเช่นกันกับท่าทีของคณะผู้จัด ที่มีทั้งการเพิกเฉยต่อคำร้อง หรือแม้กระทั่งกริยาที่ไม่พึงประสงค์ในนามเจ้าภาพทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ดี เผื่อใจในการทำความเข้าใจความรู้สึกทั้งกดดัน และ ตื่นเต้น ก็อาจจะทำอะไรได้ไม่ค่อยตรงมาตรฐานนัก

ฉะนั้น ก็เฝ้ารอว่า ทางเจ้าภาพมาเลเซียจะมีปฏิกริยาในการ "ขออภัย ขอโทษ" กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหลายหรือเปล่า หรือมุ่งแต่เป็น "เจ้าเหรียญทอง" ที่มีผลทางการเมืองค้ำประกันด้วยแล้ว จนมองข้ามมิตรภาพอันดีในเวทีการกีฬาในภูมิภาค อย่างนี้ก็ถือเป็นการเห็นแก่ตัวกับความสามารถของเพื่อนๆที่มิอาจจะยกย่องเป็นเจ้าภาพที่ดีได้จริงๆ

และยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบรรดาเพื่อนเชียร์ร่วมชาติจะพอแยกแยะออกระหว่างการแข่งขันกีฬา กับ เรื่องศาสนา ที่มันคนละเรื่องกันอย่างชัดเจน ผมอ่านคอมเม้นท์แต่ละคอมเม้นท์แล้วเห็นเป็นจะเลยเถิดกันในเรื่องกีฬามากนัก จนแอบอดเป็นห่วงมิได้ว่า ในอนาคต การรวมประชาคมอาเซียนที่มีความหลากหลายทั้งชาติพันธ์ ภาษา วัฒนธรรม หรือศาสนา จะเป็นการรวมพลัง หรือกลายเป็นวิกฤตขัดแย้งทางความคิดที่รอเสมือนเป็นระเบิดเวลาอยู่นะ

แยกแยะกัน อะไรผิดพลาด ว่ากันไป ให้อภัยกัน

อะไรถูกต้อง ชมกันบ้างก็ได้ ไม่ผิดอะไรหรอก

เพราะสปิริต ไม่ได้มีแค่ในเรื่องเกมส์กีฬา

 

#PrinceAlessandro

24-08-2017