Skip to main content

ในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีเวทีเสวนาโต๊ะกลมเวทีหนึ่งที่น่าสนใจ หัวข้อ “การบ่มเพาะตนเพื่อเป็น ‘มุสลิมที่ดี’ และการแสวงหา ‘ชีวิตที่ดีกว่า’ ผ่านการศึกษาแบบเป็นทางการ: การดิ้นรนและการริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านการศึกษาของชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้” ซึ่งประชาไทได้สรุปความมาถ่ายทอดต่อแก่ผู้สนใจในวงกว้าง เนื้อหาของการเสวนาโต๊ะกลมนี้ประกอบด้วย 2 ตอน ตอนนี้เป็นตอนจบ สามารถอ่านเนื้อหาในตอนแรกและรับชมคลิปการเสวนาได้ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2017/08/72647 หรือ http://deepsouthwatch.org/node/11109)

 

ดร.อับดุลฮาฟิซ หิเล:

"โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสอนหลักสูตรศาสนาควบคู่ไปกับสายสามัญ ที่ผ่านมาประสบปัญหาเดียวกับปอเนาะได้การถูกมองจากรัฐว่าเป็นแนวร่วมของขบวนการต่อต้านรัฐไทย อีกทั้งยังประสบความยากลำบากจากการที่ภาครัฐไม่ค่อยสนับสนุนส่งเสริมและมองโรงเรียนเอกชนฯ ว่าเป็นคู่แข่งของโรงเรียนรัฐบาลในการรับนักเรียน การรวมตัวกันของโรงเรียนเอกชนฯ เป็นเครือข่ายในรูปสมาพันธ์และสมาคมก็เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนฯ ได้พัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลาย รวมถึงหลักสูตรอาชีวะศึกษา และสร้างความร่วมกับหลายหน่วยงานในประเทศอาเซียนเพื่อพัฒนาการศึกษา "

 

ในส่วนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น หลายท่านอาจเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่แปรสภาพมาจากปอเนาะ แต่จริงๆ แล้วโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเกิดจากผู้ที่ไปเรียนในมัดราเซาะห์ หรือโรงเรียนในประเทศต่างๆ และได้นำเอาการเรียนการสอนแบบระบบโรงเรียนมาใช้ที่สามจังหวัดภาคใต้ ในขณะที่โต๊ะครูปอเนาะส่วนใหญ่ที่เดินทางไปเรียนที่ซาอุดิอาระเบียนั้นเรียนในมัสยิด (ไม่ใช่ในระบบโรงเรียน)

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลที่นำระบบมัดราเซาะห์หรือโรงเรียน/ระบบชั้นเรียนมาใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นครั้งแรก ก็คือ ท่านหะยีสุหลง ที่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 สถาบันของหะยีสุหลงไม่ได้เรียกว่า “ปอเนาะ” แต่เรียกว่า “โรงเรียน” และเป็นจุดเริ่มต้นของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเดิมเรียกว่า “โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม” ในเวลานั้นอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน พ.ศ. 2505 ปัจจุบันอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน พ.ศ. 2550 และฉบับเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2554

ปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงานศึกษาธิการในปี 2559 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 257 แห่ง มีครูกว่า 10,000 คน มีนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ 211,000 คน มีการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างจากปอเนาะ และต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมต้น จนถึงมัธยมปลาย รวมทั้งอาชีวศึกษาด้วย ในกรณีอาชีวศึกษานี้รัฐเพิ่งสนับสนุนให้มีเมื่อไม่นานมานี้ สิ่งที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปก็คือ มีหลักสูตรอิสลามศึกษาควบคู่ไปกับหลักสูตรมาตรฐานวิชาสามัญทั่วไปที่มี 8 สาระวิชา โดยหลักสูตรศาสนาก็มี 8 สาระวิชาด้วยเช่นกัน ทำให้นักเรียนต้องเรียนเป็นสองเท่า จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาที่หนักที่สุดในโลก

ในส่วนของการรวมกลุ่มกันของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2547 มีสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงสมาคมเดียว แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ ก็เหมือนว่าพวกเราถูกบีบบังคับต้องมีการรวมกลุ่มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั้งปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต่างตกเป็นจำเลยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ โดยในปี พ.ศ. 2550 จึงมีการจดทะเบียนสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา อีกสามปีต่อมาก็มีการจดทะเบียนสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดปัตตานีและสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดนราธิวาส และปี พ.ศ. 2554 ก็มีการตั้งเป็นสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นในรูปของเครือข่ายสมาคมฯ เพื่อรวมกลุ่มขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามด้วยกัน

ตั้งแต่อดีตแล้วที่รัฐไทยมีความหวาดระแวงต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในช่วงหลังปี พ.ศ. 2547 แม้สถานการณ์ความไม่ไว้วางใจจะดีขึ้นในช่วงรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยระหว่างปี พ.ศ. 2554-2557 ก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นศูนย์รวมของปัญญาชนที่จบเรียนจบจากต่างประเทศ เพราะทั้งเจ้าของโรงเรียน บุตรหลานเจ้าของโรงเรียนและโต๊ะครู ตลอดจนครู ผู้สอน ส่วนใหญ่จบการศึกษามาหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ซาอุดิอาระเบีย คูเวต อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย ลิเบีย ซูดาน และจอร์เจีย ทั้งนี้ รัฐมองว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดที่เห็นต่างกับรัฐ ในอดีตเคยมีการเหมารวมว่าคนที่เรียนจบจากอินโดนีเซียและลิเบียทั้งหมดว่าคือแนวร่วมแบ่งแยกดินแดน แนวร่วมอาจมีอยู่จริงแต่ไม่ใช่ทุกคน

ที่สำคัญ รัฐยังมีทัศนคติที่มองว่า งบประมาณที่รัฐบาลจ่ายเพื่อสนับสนุนเด็กนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นอัตรารายหัว รายละ 15,000 บาทต่อปีในระดับมัธยม และรายละ 13,000 บาทต่อปีในระดับประถมนั้น เป็นเงินที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนำไปสนับสนนกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐ นอกจากนั้นในส่วนของเงินสนับสนุนนี้รัฐก็ยังมีความพยายามตัดทอน ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากการวิจัยหลายๆ ชิ้นบอกว่า โรงเรียนรัฐบาลใช้จ่ายเงินต่อหัวของนักเรียนต่อปีมากถึง 40,000-60,000 บาท ขณะที่โรงเรียนเอกชนใช้เพียง 15,000 บาทต่อหัวต่อปีเท่านั้น ทั้งที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต้องสอนวิชาทางศาสนาถึง 8 วิชา ต้องใช้ครูอีก 8 คน เช่นเดียวกับสายสามัญ เงินงบประมาณสนับสนุนที่ได้มาก็ต้องเอามาเป็นค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของครูเนื่องจากเราจำต้องมีจำนวนครูมากเป็นสองเท่า

เราอาจต้องยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ดีนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ เพราะมีปัจจัยหลายๆอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา แต่กระนั้นเมื่อเทียบกับโรงเรียนรัฐบาลในพื้นที่ด้วยกันแล้ว โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะได้รับคะแนนการประเมินที่สูงกว่า เราพยายามพัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลาย ตอนนี้เราเปิดหลักสูตรอิสลามศึกษาจากอิหร่าน หลักสูตรอัลกุรอานวิทยาศาสตร์ หลักสูตรภาษาอาหรับอิสลามศึกษา หลักสูตรภาษาอังกฤษอิสลามศึกษา หลักสูตรภาษามลายูกลางอิสลามศึกษา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้คนนอกพื้นที่ที่อยากจะไปเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มาเรียนด้วย แต่ทั้งนี้เรายังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร ที่ผ่านมาเราจัดกันเองตามความสามารถและศักยภาพ

สำหรับการรวมตัวกันเป็นสมาคมและสมาพันธ์ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลังปี พ.ศ. 2547 ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อต่อรองกับภาครัฐ การสนับสนุนของรัฐที่ผ่านมาเน้นไปที่การพัฒนาโรงเรียนรัฐบาล มีการทุ่มงบประมาณสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่ารัฐกำลังพยายามดึงนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิลามให้มาเรียนในโรงเรียนรัฐบาลแทน นอกจากนั้นทางสมาคมฯ และสมาพันธ์ฯ ก็พยายามเกาะกลุ่มเพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศอาเซียน เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประตูสู่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน ที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนา จัดการแลกเปลี่ยนความรู้ของครู ส่งเด็กนักเรียนไปเรียนต่อ โดยที่ทางรัฐเองก็ไม่ค่อยสนับสนุนทั้งที่เรื่องนี้เป็นโอกาส

ผมเองนั้นไปศึกษาต่อที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยขอทุนศึกษาเล่าเรียนจากประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากไม่มีทุนในประเทศไทย โดยมีความหวังว่าหลังเรียนจบมาจะกลับมาพัฒนาการศึกษาที่นี่ แต่เมื่อกลับมาผมกลับตำรวจมาล้อมทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน และทหารก็มาล้อมที่โรงเรียนและที่บ้านอีกรอบ กล่าวหาว่าผมเป็นแนวร่วม เป็นการยัดเยียดข้อหาให้ นี่คือมุมมองและแนวคิดของรัฐที่มีต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนการศึกษา อาจกล่าวได้ว่ารัฐไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และมองโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามว่าเป็นศัตรู มองนักเรียนที่จบจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและที่ไปเรียนต่อยังต่างประเทศว่าเป็นผู้ที่เห็นต่างกับรัฐ

นอกจากนั้น รัฐไทยยังไม่เคยสนับสนุนเพื่อสร้างความเป็นสากลให้กับคนในพื้นที่ นักเรียนของเราแข่งขันอัลกุรอานได้ที่หนึ่งของโลก ซึ่งพวกเขาก็สมัครไปกันเอง ดิ้นรนกันเอง เมื่อชนะและเป็นข่าว หน่วยงานรัฐถึงเข้ามาและบอกว่าจะให้รางวัลและใบประกาศต่างๆ บางทีก็เอาไปออกทีวี นี่คือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้น มีคนเคยพูดว่า รัฐไทยหลอกคนในพื้นที่มาโดยตลอดเป็นร้อย ปีมาแล้ว การปฏิรูปต่างๆ ทั้งด้านการศึกษาและโครงสร้างต่างๆ ไม่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและขาดการมีส่วนร่วมของคนที่รู้ปัญหาจริง แม้โดยทั่วไปแล้วทุกทางออกมีปัญหา แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้นั้นกลายเป็นว่าทุกทางออกมีปัญหา

ที่สำคัญ รัฐมองไม่เห็นประโยชน์ของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่จริงที่นี่เป็นศูนย์กลางภาษามลายูของประเทศไทย ภาษาแม่ของคนที่นี่คือภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนภาษาไทยนั้นเป็นภาษาที่สอง จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประตูอาเซียนในโซนภาคใต้ เชื่อมต่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และสิงคโปร์ คนที่นี่ไปเปิดร้านอาหารจำนวนมากในประเทศมาเลเซีย คนจากภูมิภาคอื่นไม่สามารถทำได้เช่นนี้เพราะมีข้อจำกัดเรื่องภาษาและวัฒนธรรมมลายู ส่วนนักเรียนที่เรียนจบจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีหลายพันคน ก็มักทำงานในบริษัทไทยที่ไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย พวกเขามีบทบาทอย่างมากในการผลักดันกิจการและธุรกิจต่างๆ ของบริษัทเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่รัฐไทยไม่รับรู้ หรือกรณีคนที่เรียนจบมาจากประเทศซีเรีย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ ราว 30 คน และมักถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แท้จริงคนเหล่านี้ประกอบอาชีพในการต้อนรับคนอาหรับที่มารักษาพยาบาลในประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นพันล้านบาทต่อปี นี่คือส่วนที่ดีที่รัฐไม่เคยมองเห็น

ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าชายแดนใต้จะต้องมีแต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเท่านั้น พวกเราส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมในด้านการศึกษา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลาย ในพื้นที่ชายแดนใต้มีโรงเรียนหลายแบบ มีโรงเรียนขยายโอกาสของรัฐบาลที่สอนจนถึงชั้น ม.3 อยู่ตามตำบลต่างๆ มีโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอ ประจำจังหวัด รวมทั้งโรงเรียนเอกชนสามัญทั่วไปที่มีคนพุทธเป็นเจ้าของ ในโรงเรียนเหล่านี้เด็กนักเรียนมุสลิมและพุทธเรียนร่วมกันได้ดี นอกจากนั้นก็มีแหล่งเรียนรู้ เช่น TK Park ของจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างศาสนาอยู่เสมอ และพวกเราก็เข้าร่วม สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของศาสนาเลย แต่เป็นเรื่องที่มาจากความคิดและความรู้สึกที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆ

*********************************

ดันย้าล อับดุลเลาะ

การศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการต่อรองกับอำนาจรัฐ การศึกษาทำให้คนมลายูมุสลิมสามารถเข้าไปบทบาทในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและประชาสังคม แต่การเข้าถึงการศึกษาก็มีอุปสรรคในด้านเศรษฐกิจ จึงต้องพึ่งทุนการศึกษาจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งทุนต่างประเทศ สำหรับคนที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในภาคอื่นของประเทศ ก็มักต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม อาทิ การรับน้องที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติตัวตามหลักศาสนา การตอกย้ำ “ความเป็นไทย” ที่มองว่าทุกคนต้องเหมือนกัน และการถูกจับตามองจากรัฐที่หวาดระแวงนักศึกษาชายแดนใต้มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่พวกเขายังเป็นเด็กนักเรียน

 

หากถามว่าการศึกษาสำคัญต่อคนชายแดนใต้อย่างไร ในมิติทางการเมืองอาจมองได้ว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อรองกับอำนาจรัฐ จะเห็นว่าในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2547 มีคนท้องถิ่นจำนวนมากที่เป็นปัญญาชน เป็นคนทำงานในองค์กรเอกชน และเป็นข้าราชการในพื้นที่ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เรียนจบระดับปริญญาตรี โดยมีภูมิหลังการเรียนในสถาบันปอเนาะมาก่อน น่าสนใจว่าหลังการประท้วงครั้งใหญ่หน้ามัสยิดกลางปัตตานีในปี พ.ศ. 2550 นักศึกษาที่มีบทบาทหลักในการชุมนุมครั้งนั้นหลายคนเมื่อเรียนจบก็ได้ก่อตั้งองค์กรหรือเข้าทำงานในภาคสังคมในด้านการพัฒนาและการเสริมพลังอำนาจให้คนในพื้นที่

ตามหลักคำสอนของศาสนา การศึกษาเป็นข้อบังคับของทุกคน และไม่ใช่แค่การศึกษาด้านศาสนาเท่านั้น แต่การศึกษาในศาสตร์อื่นๆ ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนด้วย และเป็นภาระที่คนเราจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเลือกเรียนในศาสตร์แขนงต่างๆ เพื่อให้องค์ประกอบของสังคมครบสมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนสอนศาสนาแล้วบางคนก็เลือกเรียนต่อด้านศาสนา ขณะบางคนก็เลือกเรียนต่อในศาสตร์ทั่วไป โดยทั้งสองแบบอาจเรียนในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้

อย่างไรก็ดี การศึกษาต่อก็เกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย การออกไปเรียนต่อไกลบ้าน เช่น ในกรุงเพทฯ หรือ เมืองใหญ่ๆ นั้น มีค่าใช้จ่ายสูงและค่าครองชีพสูง เมื่อเทียบกับการเรียนในมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจจึงมีผลต่อการเลือกเรียนต่อด้วย ดังนั้น ทุนการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการศึกษาต่อ คนที่ฐานะไม่ค่อยดีแต่หัวดี ก็มักสอบชิงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนมหาดไทย ทุนของ มศว. (ทุนศึกษาศาสตร์ปฐมวัย) และทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งบางส่วนเป็นทุนสำหรับการเรียนด้านศาสนา น่าสนใจว่าตอนนี้ทุนการศึกษาของประเทศอินโดนีเซียเป็นทางเลือกที่นิยมของเยาวชนชายแดนใต้มาก เพราะให้ฟรีทั้งค่าเทอมและค่าครองชีพ อีกทั้งค่าครองชีพของอินโดนีเซียไม่สูงเท่ากับในประเทศมาเลเซียหรือในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางด้วย

ในมิติเรื่องการศึกษากับอำนาจต่อรอง มีความน่าสนใจในประเด็นที่ว่า เมื่อเยาวชนมุสลิมไปศึกษาต่อนอกภูมิภาค พวกเขาจะมีความสัมพันธ์ที่กลมกลืนและมีความเป็นพี่น้องกันสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนมุสลิมอยู่น้อย เช่น ในภาคอีสาน ภาคเหนือ เมื่อน้องปีหนึ่งที่เป็นมลายูมุสลิมเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเหล่านี้ก็มักเจอปัญหาบางประการ เช่น ปัญหาเรื่องอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ และการปรับตัวในช่วงแรกๆ ซึ่งที่ปรึกษาสำคัญของน้องๆ เหล่านั้นก็คือรุ่นพี่ที่เคยผ่านชีวิตปีหนึ่งมาก่อน จึงเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่กลมเกลียว นิสิตนักศึกษาเหล่านี้ได้ต่อรองกับฝ่ายต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ที่สำคัญคือ ในช่วงของการรับน้อง ได้มีการต่อรองขอให้เว้นช่วงเวลาให้นักศึกษามุสลิมปี 1 ได้ละหมาดและปฏิบัติกิจทางศาสนา ด้วยความที่เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย อำนาจในการต่อรองก็น้อยตามไปด้วย นักศึกษามุสลิมก็ต้องหาช่องทางและกลวิธีการต่อรอง เช่น ไม่ต่อรองในระดับคณะ แต่ไปต่อรองในระดับมหาวิทยาลัยแทน การหาทางพูดคุยทำความเข้าใจกับอาจารย์และองค์การบริหารของนักศึกษาถึงสิทธิของพี่น้องชาวมุสลิม เป็นต้น

ที่ผ่านมาเคยมีบางกรณีที่เกิดปัญหาว่าน้องปีหนึ่งที่เป็นมุสลิมคนเดียวของคณะมาเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องสายเพราะต้องไปปฏิบัติศาสนกิจ แล้วน้องคนนี้ก็โดน “พี่วินัย” หรือ “พี่ว๊าก” ลงโทษ เมื่อน้องบอกว่าไปละหมาดมา ด้วยความที่ไม่เข้าใจพี่วินัยก็ถามว่า “คุณไม่รักเพื่อนหรือ” ขณะที่น้องคนนี้ก็ตอบว่า “ผมเลือกพระเจ้ามากกว่าเพื่อน” อันนำมาสู่ความขัดแย้งเนื่องจากต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน ในส่วนของพี่วินัยเองไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนมุสลิมต้องละหมาด ในขณะที่น้องมุสลิมก็รู้สึกว่าต้องตอบโต้เนื่องจากตนถูกกดทับอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกพื้นที่ชายแดนใต้ก็ตาม

ในวงการการศึกษาจำเป็นต้องทำความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สถาบันการศึกษาหลายแห่งยังเน้นแต่ “ความเป็นไทย” ที่จริงๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่ เราได้เรียนประวัติศาสตร์ที่เน้นศูนย์กลาง โดยที่แทบไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ล้านช้าง ล้านนา ฯลฯ เราไม่เคยเข้าใจที่มาที่ไปของกลุ่มคนเหล่านั้น หากเรามีความเข้าใจมากขึ้นความขัดแย้งก็คงน้อยลง คนมลายูมุสลิมที่มาอยู่ต่างถิ่นก็คงไม่ต้องมาเจอกับสภาวะที่ว่าจะต้องเลือกระหว่างการรักพระเจ้ากับการรักเพื่อน ไม่ต้องมาเลือกระหว่างคำสั่งของพี่ว๊ากกับคำสั่งของพระเจ้า ทั้งนี้ แน่นอนว่ามุสลิมก็ต้องเลือกคำสั่งของพระเจ้าอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้การเลือกนี้ไม่เป็นปัญหาในสายตาของสังคมส่วนใหญ่

นอกจากที่นักศึกษามลายูมุสลิมจะต้องทำความเข้าใจผู้คนและการใช้ชีวิตนอกภูมิภาคแล้ว คนข้างนอกก็ควรต้องช่วยกันทำความเข้าใจพวกเขาด้วย ผมเรียนอยู่ขอนแก่น ทุกวันศุกร์ผมจะแต่งชุดแบบอาหรับไปละหมาดที่สุเหร่า จากนั้นก็ไปนั่งที่ร้านกาแฟ ก็มักมีคนเข้ามาถามว่า "เป็นมุสลิมใช่ไหม" เมื่อตอบว่า "ใช่" คำถามถัดมา คือ "เป็น ISIS หรือเปล่า" พอตอบว่า "ไม่ใช่" ก็ถูกถามต่อว่าคิดอย่างไรกับ ISIS ซึ่งผมก็มักตอบสั้นๆ "ผมไม่รู้จัก เพราะ ISIS อยู่ไกลจากตัวผมมาก" สำหรับอีกคำถามก็คือ "เป็นคนชายแดนใต้หรือเปล่า" เมื่อตอบว่า “ใช่” ก็จะถูกถามต่อว่า "คุณเป็นพวกขบวนการฯ หรือเปล่า ทำไมพวกเขาถึงโหดร้ายมาก ทำไมถึงฆ่าพระ ฆ่าคุณครู ฯลฯ" คำถามเหล่านี้สะท้อนความคิดของคนจำนวนมากว่าคนมุสลิมชายแดนใต้ต้องเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบหรือต้องเป็นพวกหัวรุนแรง ในเวลาที่นักศึกษามุสลิมจากชายแดนใต้ไปเช่าหอพัก บางแห่งก็ถามพวกเราว่า "มีพกวัตถุระเบิดมาด้วยไหม"

นอกจากนั้นนิสิตนักศึกษามุสลิมจากชายแดนใต้ โดยเฉพาะรายที่จบมาจากสถาบันปอเนาะ ก็ยังตกเป็นที่เพ่งเล็งและต้องสงสัยจากฝ่ายความมั่นคง ความหวาดระแวงนี้คือมรดกทางความคิดของทางฝ่ายความมั่นคงตั้งแต่สมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ที่มองความเป็นมลายูหรือความเป็นมุสลิมว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ทั้งนี้ ศาสนาอิสลามกับการเมืองแยกออกจากกันได้ยาก ฝ่ายความมั่นคงจึงมักมองว่าความเคลื่อนไหวของชาวมุสลิม แม้กระทั่งการรวมกลุ่มเรียนหนังสือหรือประกอบศาสนกิจ ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ จนทำให้นักศึกษาจากชายแดนใต้ในกรุงเทพฯ หรือต่างพื้นที่ที่ต้องถูกตรวจค้นอยู่เสมอ น่าสนใจว่าฝ่ายความมั่นคงไม่ได้เพ็งเล็งนักศึกษาจากชายแดนใต้ทุกคน แต่จะมีลิสต์เฉพาะสำหรับคนที่เรียนจบจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสถาบันปอเนาะบางแห่ง หมายความว่า รัฐไม่ได้หวาดระแวงพวกเราเพราะว่าพวกเราเป็นนักศึกษา แต่เขาหวาดระแวงพวกเราตั้งแต่เราเป็นนักเรียนแล้ว ดังนั้น เมื่อศิษย์เก่าของโรงเรียนเหล่านี้รวมกลุ่มทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นที่ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคก็จะถูกเพ่งเล็งจากรัฐอย่างมาก

ในด้านการปฏิรูปศึกษา ควรมีการจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้เรียน ปัจจุบันการเรียนถึง 4 ภาษาต่อวัน หรือการเรียนที่ซ้อนกัน 2-3 ระบบ อย่าง ที่เป็นอยู่กลับเป็นการกดศักยภาพของเด็ก อย่างไรก็ดี ไม่ว่าในการศึกษาจะมีปัญหาสักแค่ไหน แต่นักศึกษามลายูมุสลิมก็ยังคงมีบทบาทในด้านความเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ อันนี้เป็นศักยภาพของนิสิตนักศึกษาชายแดนใต้ที่สามารถต่อยอดพัฒนาไปได้

นอกจากนั้น หากโรงเรียนมัธยมของรัฐบาลมีการสอนศาสนาที่เข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ เด็กมลายูมุสลิมก็คงเข้าไปเรียนในโรงเรียนรัฐมากขึ้น เป็นทางเลือกจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้เด็กทั้งจากโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็มักมีปฏิสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกันเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมผ่านสภาเด็กและเยาวชน หรือกิจกรรมผ่านองค์กรพัฒนาเอกชน หรือภาคประชาสังคม นำมาสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น ศบอต. ในยุคของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้มีกิจกรรมให้เด็กนักเรียนไทยพุทธและเด็กนักเรียนมลายูมุสลิม รวมทั้งลูกของข้าราชการที่เสียชีวิตในพื้นที่ และลูกของชาวบ้านมลายูมุสลิมที่เสียชีวิตในพื้นที่ ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ในตอนแรกก็เกิดปัญหา คือ เด็กไทยพุทธไม่ยอมคุยกับเด็กมุสลิม เพราะคิดว่าพวกมุสลิมฆ่าพ่อเขาตาย ขณะที่เด็กมุสลิมก็ประท้วงบอกว่าตนจะไม่นอนร่วมห้องกับคนพุทธ เพราะเขาเชื่อว่าข้าราชการชาวพุทธฆ่าพ่อและญาติของเขา จึงต้องมีปรับความเข้าใจใหม่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแบบนั้น กระทั่งสถานการณ์ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าการที่เด็กนักเรียนทั้งสองกลุ่มได้รู้จักและมีปฏิสัมพันธ์กันสามารถนำมาสู่การแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้

 

ข้อคิดเห็นจากผู้ฟัง

ไสว หัสการบัญชา : การศึกษาในภาคใต้เป็นมรดกตกทอดจากยุคหนึ่งไปสู่ยุคหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน และไม่ว่าโลกจะก้าวหน้าไปอย่างไร แต่รูปแบบการสอนด้านศาสนาที่ชายแดนใต้แบบประเพณีที่สืบทอดความเป็นมุสลิมก็ยังจะคงอยู่คู่กับพื้นที่ไปอีกนานเท่านาน ความรู้ด้านศาสนาของที่นี่มีความคล้ายคลึงกับของชาวอาหรับมาก แม้จะใช้ภาษาแตกต่างกันก็ตาม ผมคาดหวังที่จะเห็นการบูรณาการที่เพิ่มขึ้นระหว่างการศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามและปอเนาะกับการศึกษาของรัฐบาล ตัวผมเองผ่านการศึกษามาทั้งสองแบบ จบมัธยมจากโรงเรียนของรัฐ ต่อมาก็ผันตัวเองเข้าสู่การศึกษาด้านศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ และก็สามารถทำงานในภาคราชการได้ เราควรส่งเสริมให้เยาวชนมีโอกาสทางการศึกษา มีที่ยืนในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่มีความกังวลใจในเรื่องที่จะต้องมีความเป็นไทย รวมทั้งต้องเลิกอคติและความไม่ไว้วางใจที่มีต่อสถาบันการศึกษาด้านอิสลาม

(***หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท)