Skip to main content

อ่าน : องค์กรภาคประชาสังคมในรัฐมอนแทน่า ประเทศอเมริกา (ตอนที่ 1) : การบริจาคคือการลงทุนที่สำคัญยิ่ง

 

สร้างพื้นที่ที่สร้างสรรค์

 

สุดสัปดาห์แรกของทุกเดือน ในเมืองมิสซูลา รัฐมอนแทน่า จะมีบรรยากาศที่คึกคักมากๆ เนื่องจากองค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นลักษณะ Enter price  จะจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่เน้นศิลปะ ดนตรี โดยจะจัดตามร้านค้าต่างๆ และเกือบทุกร้านจะมีการจัดนิทรรศการรูปภาพศิลปะ บางภาพก็จะล้อเลียนการเมืองการปกครองของประเทศ และแน่นอนหลายๆ ภาพก็สื่อวัฒนธรรมหรือวีถีชีวิตของผู้คนในชุมชน บางองค์กรจะสกรีนรูปภาพต่างๆ หรือโลโก้องค์กรบนเสื้อผ้าและแจกฟรีให้กับผู้ที่เดินเข้าชม เพื่อรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์องค์กรนั่นเอง บางร้านก็จะถือโอกาสระดมทุนพร้อมกันด้วย   

ที่น่าสนใจคือ มีองค์กรหนึ่งส่วนใหญ่มีสมาชิกเป็นอาสาสมัคร ร่วมกันจัดทำอาคารพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงนิทรรศการรูปภาพโดยจะขอสนับสนุนจากคนในชุมชน ส่วนรูปภาพส่วนใหญ่ที่มาจัดแสดงนั้นก็จะมาจากคนในชุมชนที่บริจาคเข้ามา  ภาพดังกล่าวก็จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนทุกเดือน และแน่นอนสามารถเข้ารับชมฟรี  

การได้เข้าสัมผัสในกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้รู้สึกว่าชุมชนในรัฐแห่งนี้ให้ความสำคัญกับศิลปะเป็นอย่างมาก และกิจกรรมลักษณะนี้เป็นการสร้างบรรยากาศของเมืองให้มีความสร้างสรรค์ คึกคักและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน จะเห็นหลายครอบครัวต่างจูงลูก จูงหลาน และบางคนก็จูงหมา มาเที่ยว ชม  (คนที่นี่จะรักหมากับเด็กมากๆ) นอกจากนี้ได้เห็นอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงาน อย่างคนหนึ่งเขาทำธุรกิจและเขาก็ยังเป็นอาสาสมัครมาช่วยงานที่อาคารพิพิธภัณฑ์ที่ได้พูดถึงในตอนต้นนั้นด้วย

 

อาสาสมัคร

 

โดยปรกติเวลาเราไปสมัครงาน หากใครมีใบประกาศบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือชุมชนก็มักจะเป็นโอกาสพิเศษที่คณะกรรมการจะคัดเลือก ซึ่งในมอนทาน่าก็เช่นกัน แต่บางสายงานเขาก็ถูกกำหนดเลยว่า คุณต้องมีใบประกาศนียบัตรในการไปเป็นอาสาสมัครในงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลากี่ชั่วโมง ครั้งหนึ่ง เคยมี Lisa Maclenberg ผอ. ของ MIP เชิญอาสาสมัครขององค์กรท่านหนึ่งมาพูดคุยกับเรา น่าทึ่งมากๆ เขาอายุประมาณเกือบ 80 ปี เป็นอาสาสมัครที่มาช่วยเหลือเรื่องเอกสาร เราก็ถามว่า ทำไมถึงมาเป็นอาสาสมัครได้ เขาก็บอกว่า ตอนนี้เกษียณแล้วที่ผ่านมาเขาทำงานด้านสังคมสงเคราะห์มาโดยตลอด เมื่อเกษียณแล้วเขาก็ยังมีกลุ่มเพื่อนทำงานช่วยเหลือสังคม บางคนก็เอาเวลาไปดูแลครอบครัว ส่วนเขาคิดว่า การเป็นอาสาสมัคร คือ ไม่ต้องการให้ตัวเองยุ่ง เพราะการเป็นอาสาสมัครมีอิสระมากกว่า สามารถทำงานได้ตอนไหนก็ได้ แต่ที่สำคัญอยากทำงานบริการสังคม และอยากรู้เรื่องราวปัญหาของผู้ต้องขังในอีกด้านหนึ่งด้วย

ส่วนเทอรี่ (ครอบครัวที่คอยดูแล)เคยบอกว่า ถ้าเขาเกษียณแล้ว เขาอยากเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่ม เราก็ถามว่า ทำไมต้องเรียนภาษาเพิ่ม เขาก็บอกว่า นอกจากชอบแล้ว เขาก็จะได้ไปเป็นอาสาสมัครกับบางองค์กรที่ต้องสื่อสารกับคนฝรั่งเศส

ครั้งหนึ่งกำลังนั่งคุยกับ ผอ. Jeannette Rankin Peace Center (JRPC) จู่ ๆ ก็มีหญิงวัยกลางคนเดินเข้ามาที่ออฟฟิส และบอกว่า จะมาถามข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรเพื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ทาง ผอ.ก็ได้อธิบายเกี่ยวกับองค์กรว่ามีงานด้านไหนบ้าง และเมื่อเขาได้ฟังรายละเอียดเขาก็แลกเปลี่ยนกันต่อว่า จะสามารถช่วยเหลือด้านไหนบ้าง โดยเขาจะสามารถเข้ามาช่วยเหลือช่วงสุดสัปดาห์ หรือช่วงวันหยุด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างหายากในบ้านเรา

ส่วนอีกเคสหนึ่งเป็นเด็กมัธยมปลาย ช่วงปิดเทอมเขาก็ขอพ่อแม่เขาไปเป็นอาสาสมัครที่ Food Bank หรือธนาคารอาหาร งานส่วนใหญ่ก็จะเป็นการบรรจุสินค้าที่บริจาคจากห้างร้านต่างๆ หรือจากส่วนบุคคล บางคนก็จะมาทำสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้บางโรงเรียนก็จะมีการบังคับให้นักเรียนแต่ละคนจะต้องเป็นอาสาสมัครในองค์กรต่างๆ ซึ่งก็จะเป็นเครดิตของนักเรียน หรือระบบมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน จะมีการระบุชั่วโมงว่า ต้องเป็นอาสาสมัครในแต่ละสาขาหรือสายงานที่เกี่ยวข้อง

หากเปรียบเทียบกับบ้านเราก็มีจะโครงสร้างและระบบลักษณะนี้บ้างเหมือนกัน แต่เมื่อสังเกตการณ์เป็นอาสาสมัครของเขานั้น เขาทำด้วยใจจริง และอยากช่วยเหลือสังคมจริง บ้านเราก็คงต้องช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะเริ่มจากโรงเรียนระดับมัธยมต้นโดยการอธิบายคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ควบคู่ไปด้วย

ถามว่า อาสาสมัครที่นี่ ได้เงินบ้างหรือค่าตอบแทนบ้างหรือเปล่า ซึ่งจะต่างบ้างกับพื้นที่บ้านเรา บางทีอาสาสมัครอาจจะได้เป็นค่าเดินทางหรืออาหารบ้าง แต่ทีนี่ อาสาสมัครก็คือ อาสาสมัครจริง สิ่งที่เขาจะได้อย่างเดียวคือ การได้ตอบแทนหรือช่วยเหลือสังคม เท่าที่พวกเขามีความสามารถเท่านั้น