Skip to main content

วันนี้ ( 4 กรกฎาคม 2560 ) เราเริ่มต้นวันด้วยการกินข้าวเช้าแบบง่ายๆพร้อมกับการเตรียมตัวในการพบปะกับเจ้าหน้าที่ของกองทุน UN Voluntary Fund for Victims of Torture ที่สำนักงาน Office of the High Commissioner for Human Rights

วันนี้เรามีนัดตอน 11 โมงเช้าแต่เราต้องไปเตรียมเอกสารที่จะใช้ในช่วงบ่ายที่องค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาซึ่งอยู่ใกล้ๆที่พักก่อน แต่ด้วยความหลงก็ทำให้เราเดินวนหากันจนไม่อยากจะบอกว่าถึงขั้นหอบกันเลยทีเดียวแต่ต้องเก็บอาการเพราะคนอื่นไม่หอบไง หลังจากนั้นจึงได้นั่งรถเพื่อไปที่ Palais Wilson ซึ่งอยู่ติดกับทะเลสาบที่สวยงามของเจนีวา แต่อากาศร้อนเท่ากับบ้านเราเลย เรามีเวลาในการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงาน 1 ชั่วโมง ในประเด็นการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกทรมาน เราได้พูดคุยถึงกลไกการป้องกันการทรมานซึ่งเรามองว่าการเยี่ยมหรือการเข้าถึงสิทธิในการเยี่ยม การเข้าถึงของทนาย กลไกในการร้องเรียนและตรวจสอบที่ดี จะเป็นกระบวนการในการป้องกันการทรมาน แต่ในปัจจุบัน ผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการเยี่ยม การพบทนายได้

จากสถานการณ์ปัจจุบันการเยี่ยมแค่ 1 นาที ต่อวัน จึงเป็นความไม่โปร่งใสและทำให้ประชาชนขาดความไว้วางใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ สถานการณ์การละเมิดที่ยังคงอยู่ และ การให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกทรมานซึ่งมีการให้ความช่วยเหลือทั้งการรักษาทางด้านร่างกาย จิตใจ และ การช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการทำงานในเรื่องนี้ในประเทศก็ได้มีความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนมากขึ้น มีการศึกษาถึงการเยียวยาที่เหมาะสมกับผู้เสียหายที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้ และความก้าวหน้าในการจัดตั้งศูนย์เพื่อการเยียวยาผู้เสียหาย

จากการพูดคุยก็ได้แลกเปลี่ยนถึงแนวทางการให้ความร่วมมือและการทำงานร่วมกันในอนาคตเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เสียหายจากการถูกทรมาน นอกจากนี้ก็มีการแลกเปลี่ยนกับสถานการณ์การทรมานในพื้นที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งต่างก็มองเห็นว่าการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมีความสำคัญที่จะทำให้เราวิเคราะห์สถานการณ์และค้นพบแนวทางในการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ทั้งนี้เครื่องมือที่ใช้ถ้าเป็นมาตรฐานสากลเมื่อมีการพูดคุยในระดับสากลจะทำให้เกิดการยอมรับและเข้าใจตรงกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

หลังจากพูกดคุยเสร็จกันเสร็จเราก็เลือกที่จะทานข้าวที่นี้เพราะเกรงว่าจะไปไม่ทันเวลา Lunch briefing ที่ Housed at the Palais des Nations ที่มีเก้าอี้ 3 ขา อยู่ข้างหน้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ผู้พิการที่เกิดจากภาวะสงคราม เมื่อไปถึงห้องที่จะทำการนำเสนอ ก็พบว่า พี่ๆ น้องๆ จากมูลนิธิ Empower มูลนิธิผู้หญิง PI แม่หนุ่ยและแม่ไม้ ที่ได้มาจัดห้องได้น่ารักด้วยบอร์ดที่ติดรายชื่อองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิงในประเทศไทยที่ไม่ได้มาร่วมในเวทีครั้งนี้แต่ได้ร่วมกันจัดทำรายงานเงา

ภาพแสดงกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ขนมจากประเทศไทย โดยเฉพาะขนมที่มีส่วนผสมของทุเรียน วันนี้ได้คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติเป็นผู้ดำเนินรายงาน ซึ่งเราก็ได้นำเสนอกันด้วยความตื่นเต้น พูดเร็ว อ่านโพยไม่ทัน จนไม่รู้ว่าเขาเข้าใจที่เราพูดหรือเปล่าที่โชคดีที่เรามีภาพประกอบ หลังจากการนำเสนอของทุกกลุ่มแล้วก็มีการตั้งคำถามจากคณะกรรมการที่มารับฟังในวันนี้ซึ่งก็มีหลายคำถามเช่น อะไรคือช่องว่างของการนำกฎหมายไปใช้ ปัญหาของคนไร้รัฐที่มีทั้งคนไร้รัฐจากคนที่อพยพมาจากที่อื่นและที่เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแต่ไม่ได้แจ้งเกิดหรือตกสำรวจ ปัญหาเรื่องการค้าประเวณี ในรูปแบบการนั่งดื่มเป็นเพื่อน การเต้น ปัญหาการถูกละเมิดของ LGBT ซึ่งในประเด็น LGBT ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในทางกฎหมายและสังคมเปิดกว้างมากขึ้นแต่ก็มีบางพื้นที่ บางสังคมที่มีการต่อต้านหรือเลือกปฏิบัติ การนำ Bangkok rule มาใช้ในเรือนจำหญิงทั่วประเทศมีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่อย่างไร จำนวนสถิติการทำแท้ง การปกป้องคุ้มครองสิทธิของแรงงานนอกระบบเช่นแม่บ้าน การปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง และแล้วเวลาก็ผ่านไปอยากรวดเร็ว แต่ก็ยังมีอีกหลายๆประเด็นที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึง ทางคณะกรรมการจึงเสนอให้ส่ง FACT SHEET ให้คณะกรรมการผ่านทาง Email และควรรวบรวมส่งเป็นไฟล์เดียวเพื่อความสะดวกของคณะกรรมการ

กลับที่พักเราจึงต้องทำการบ้านส่ง ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าเราอยากให้คณะกรรมการตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยมากที่สุดในประเด็นของจังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นพื้นที่ที่ความขัดแย้งยังคงอยู่ และเหตุผลว่าทำไม เราได้นัดหมายที่ส่งคำถามกันตอน 21:30 น แต่สัญญาณข้อความจากน้องตุ่นก็ส่งมาว่า ขณะนี้เป็นเวลา 21:30 น. แล้วคร้าบพี่น้องคร้าบ ยังไม่มีใครส่ง Fact sheet มาเลย โปรดส่งมาให้หน่อย เมื่อสัญญาณเตือนมาถึงความเร็วของเร็วจึงมีอัตราเร่งที่เร็วปรี๊ด ด้วยความช่วยเหลือของคุณพรเพ็ญ จึงจัดส่งได้ในเวลา 4 ทุ่มกว่าๆ เอาละ นอนได้ นิทาเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การวางแผน การจัดการเรื่องเวลา การเตรียมความพร้อม ความร่วมมือร่วมใจ ความมุ่งมั่น และการมีประสบการณ์ จะทำให้เราทำงานได้สำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตัวชี้วัดของเราเอง

เรื่องเล่านี้ เผยแพร่ครั้งแรกที่ Facebook Anchana Heemina