Skip to main content

             

            กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (The Muslim Brotherhood) หรือ อัล-อิควาน อัล-มุสลิมูน เป็นขบวนการขับเคลื่อนทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจตามแนวทางของอิสลาม เพื่อฟื้นฟูสังคมมุสลิมจากความเสื่อมโทรม ด้วยความเชื่อที่ว่าศาสนาไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมในศาสนสถานแต่เป็นบทบัญญัติซึ่งครอบคลุมทุกกิจกรรมการงานของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องนำหลักคำสอนมาเป็นธรรมนูญในการใช้ชีวิต ก่อตั้งในปีค.ศ. 1928 โดยฮะซัน อัลบันนา ชาวอียิปต์ ถือเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางอิสลามการเมืองที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลที่สุดขบวนการหนึ่งในโลกมุสลิม

            การสิ้นสุดของจักรวรรดิออตโตมันในปี 1923 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกมุสลิม เนื่องด้วยไม่ได้เป็นเพียงการสิ้นสุดของอาณาจักรทางโลกแต่คือการล่มสลายของอาณาจักรทางธรรมของชาวมุสลิม การดำรงอยู่ของกาหลิปหรือคอลีฟะห์ที่กรุงอิสตันบูลนั้นไม่ได้เป็นเพียงประมุขผู้ปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลแต่เป็นผู้สืบทอดภารกิจของท่านศาสดา แต่ใครจะปฏิเสธว่าการล่มสลายของจักรวรรดิแท้จริงนั้นคือหมายเหตุของความอนิจจัง

            ผลของการล่มสลายของจักรวรรดินิยมตะวันออกคือการเข้ายึดครองของจักรวรรดินิยมตะวันตก โลกมุสลิม ณ ขณะนั้นมีทางเลือกทางการเมืองไม่กี่ทาง หนึ่ง ยอมรับความพ่ายแพ้และสวามิภักดิ์ต่อผู้ปกครองใหม่ สอง เลือกจะสู้ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมต่อซึ่งมีเนื้อในคือโลกียะ อันปรารถนาจะก่อตั้งรัฐโลกวิสัย สาม เลือกจะสู้ด้วยอุดมการณ์ศาสนนิยม เพื่อรื้อฟื้นกฎหมายของพระผู้เป็นเจ้ามาปฏิบัติใช้ และก่อตั้งรัฐทางธรรมขึ้นอีกครั้ง

            ไม่ต้องสงสัยว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะนิยมในทางเลือกประการใด

            สำหรับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมนั้นรัฐอิสลามคือสังคมในอุดมคติหรือยูโทเปีย บนความคิดพื้นฐานที่ว่าอิสลามไม่ได้เป็นเพียงศาสนาของชาวมุสลิมแต่เป็นสัจธรรมอันสากลของมนุษยชาติ โดยมีรัฐทางธรรมของท่านศาสดาและเหล่าสาวกเป็นแบบแผน อย่างไรก็ตามรัฐอิสลามก็ถูกท้าทายด้วยการถือกำเนิดของแนวคิดรัฐชาติซึ่งพ่วงมากับคำถามเรื่องความจงรักภักดี แต่สำหรับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมนั้นความภักดีที่ยั่งยืนคือการภักดีต่อชาติอิสลาม (อัล-วะฏอน อัล-อิสลามี) โดยเชื่อว่าชาตินิยมอิสลามต้องมาก่อนเขตแดนทางภูมิศาสตร์ การเมือง เชื้อชาติ หรือภาษา เพราะมันอยู่บนจุดหมายในเรื่องเอกภาพของมนุษย์ และชาตินิยมอิสลามนั้นวางอยู่บนหลักการสามประการคือการมีพระผู้เป็นเจ้า การมีมนุษยธรรม และความเป็นนานาชาติ ด้วยเจตนารมณ์เพื่อรับใช้มนุษย์ทั้งปวง[1]

            แน่นอนว่าทางเลือกที่ทางกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเลือกนั้นย่อมไม่เป็นที่อนุมัติจากบรรดาผู้ปกครอง

                                                                                                             

            กลุ่มภราดรภาพมุสลิมนฐานะชุดความคิดทางการเมืองได้กลายเป็นความท้าทายต่อการดำรงอยู่ของผู้ปกครองนับตั้งแต่วันแรกที่ถือกำเนิด ในฐานะกลุ่มทางการเมืองกลุ่มภราดรภาพมุสลิมคือกลุ่มการเมืองเดียวที่สามารถท้าทายระบอบอำนาจนิยมในภูมิภาคตะวันออกกลาง[2]   และแน่นอนว่าในฐานะผู้เล่นทางการเมือง ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ในทางการเมืองมิอาจถือเป็นอื่นใดนอกเหนือจากสัจธรรม

                       

           

           



[1] จรัญ มะลูลีม, อิสลามการเมืองในการเมืองตะวันออกกลาง, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2555), 164.

[2] Guido Steinberg, The Gulf States and the Muslim Brotherhood [Online], 21 March 2014. Available from https://pomeps.org/2014/03/21/the-gulf-states-and-the-muslim-brotherhood/.