Skip to main content

นิทานฮาลาล ตอนที่ 3 : ประเด็นน่าเวียนหัวเรื่อง “อัลกอฮอล์”

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

ยากที่สุดในเรื่องการตัดสินว่าสิ่งใดฮาลาลหรือไม่ฮาลาลทั้งในส่วนการพิจารณาทางศาสนาและวิทยาศาสตร์คือเรื่อง “อัลกอฮอล์”

ในทางวิทยาศาสตร์หากเห็นคำว่าอัล (Al) เป็นต้องรู้ทันทีว่ามีต้นกำเนิดมาจากภาษาอาหรับ โดยภาษาอาหรับใช้คำว่า الكحول (อัลกุฮูล) อย่างไรก็ตาม คำนี้ไม่มีปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน มีเพียงคำว่า الخمر (อัลฆ็อมรฺ) หมายถึงเครื่องดื่มที่เป็นพิษหรือเป็นอันตราย (intoxicants) โดยคำว่าอัลฆ็อมรฺปรากฏสามครั้งในอัลกุรอาน ได้แก่ อัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 219 อัลมาอิดะฮฺ 5:90 และ 5:91 ในภายหลังจึงค้นพบในทางวิทยาศาสตร์ว่าส่วนที่เป็นพิษในเครื่องดื่มมึนเมาก็คือสารเคมีที่มีโครงสร้างโมเลกุลเป็นอัลกอฮอล์นั่นเอง

อัลกอฮอล์ในทางวิทยาศาสตร์คือสารเคมีที่มี –OH เป็นองค์ประกอบในโมเลกุล อัลกอฮอล์จึงมีเป็นร้อยชนิด โดยชนิดที่นำมาใช้ดื่มให้มึนเมาคือ “เอธานอล” หรือ “เอธิลอัลกอฮอล์” นอกจากนำมาดื่มแล้วยังใช้ในทางการแพทย์ ในทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม จึงเป็นอัลกอฮอล์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังพบในปริมาณน้อยๆในอาหารทั่วไป เนื่องจากในอากาศมีแบคทีเรียที่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอธิลอัลกอฮอล์ได้ อย่างเช่น ในน้ำส้มสายชู ข้าวหมาก น้ำซีอิ๊ว น้ำปลา ลองไปตรวจดูเถอะ เครื่องมือวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆอย่าง GC-MS/MS ตรวจเจอเอธิลอัลกอฮอล์แม้มีปริมาณน้อยมากๆแค่ 1 ปิโคกรัม ประเด็นคือเอธิลอัลกอฮอล์เหล่านั้นเป็นอัลฆ็อมรฺหรือสิ่งเป็นพิษในเชิงศาสนาอิสลามหรือไม่ ส่วนนี้แหละที่ว่าตัดสินได้ยาก

เรื่องอัลกอฮอล์เคยเป็นประเด็นใหญ่ที่ประเทศคูเวตเมื่อนานนับสิบปีมาแล้ว ที่อินโดนีเซียและมาเลเซียก็เช่นกัน เรื่องเริ่มขึ้นที่คูเวต เมื่อกระทรวงสาธารณสุขต้องการกำหนดระดับอัลกอฮอล์ในอาหารว่าเท่าใดจึงจะถือว่าเป็นพิษต่อสุขภาพ คำว่าสุขภาพของอิสลามนั้นเป็นไปตามนิยามใหม่ขององค์การอนามัยโลกนั่นคือมีองค์ประกอบสี่ส่วน ได้แก่ กาย ใจ สังคม/สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณ ตรงจิตวิญญาณนี่เองที่ต้องให้ทางกระทรวงศาสนาเป็นผู้กำหนดเพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความศรัทธา เหตุนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงสอบถามไปทางกระทรวงศาสนาและได้คำตอบกลับมาว่า “ศูนย์” หมายถึงอัลกอฮอล์ต้องไม่ปรากฏในอาหารเลย เนื่องจากอิสลามกำหนดไว้แล้วว่าหากหนึ่งไหทำให้เมา หนึ่งหยดก็ห้าม เหตุนี้จึงมีอัลกอฮอล์ไม่ได้ ต้องเป็นศูนย์เท่านั้น

เมื่อฝ่ายศาสนากำหนดมาเช่นนั้น กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องนำไปปฏิบัติ เริ่มด้วยการตรวจอาหารทุกขนิดในตลาดว่ามีชนิดใดบ้างที่มีอัลกอฮอล์จะได้สั่งห้ามรวมทั้งกำหนดแนวทางปรับปรุงสูตร ผลการสำรวจปรากฏว่าแทบไม่มีอาหารชนิดใดที่ไม่มีอัลกอฮอล์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ยุคใหม่สามารถตรวจอัลกอฮอล์ในอาหารได้แม้มีปริมาณน้อยแสนน้อย น้ำอัดลมทุกชนิด น้ำผลไม้ล้วนมีอัลกอฮอล์จำนวนน้อยปนอยู่ทั้งสิ้นทั้งนี้เพราะในอากาศมีแบคทีเรียที่หมักน้ำตาลในอาหารให้เปลี่ยนเป็นอัลกอฮอล์อย่างที่บอก

เรื่องก็เลยยุ่งเพราะแทบไม่มีอาหารชนิดใดในท้องตลาดให้คนคูเวตกินได้เลย จึงเป็นเหตุผลให้ต้องพิจารณากันใหม่ ในที่สุดได้ข้อสรุปว่าอาหารส่วนใหญ่ในท้องตลาดที่ไม่ใช่เครื่องดื่มมึนเมามีอัลกอฮอล์ปนอยู่ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร คูเวตจึงเป็นประเทศแรกที่กำหนดอัลกอฮอล์ว่าต้องไม่เกินร้อยละ 0.5 ของน้ำหนัก อีกนานหลายปีหลังจากนั้น ประเทศไทยจึงกำหนดแนวทางเดียวกัน ตามมาด้วยมาเลเซียและอินโดนีเซีย ตอนหน้าค่อยมาว่ากันต่อเรื่องอัลกอฮอล์

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

นิทานฮาลาล ตอนที่ 1: คำถามจากผู้ใหญ่ทำไมฮาลาลไทยสู้มาเลเซียไม่ได้

นิทานฮาลาล ตอนที่ 2: นั่งเอกเขนกกินด้วยเจ็ดลำไส้