Skip to main content

 

- ยาเสพติดเป็นสารเคมีที่ทำให้เราหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด ซึ่งผลสุดท้ายคือความสุข โดยปกติคนเราควรจะมีความสุขจากการประกอบกิจวัตรประจำวันทั่วไป การใช้สารเสพติดคือการโกงกลไกลสมองให้สร้างความสุขเทียมขึ้นมา

- ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกเพศทุกวัยแสวงหา บางทีมนุษย์ก็ไม่ได้เลือกรูปแบบหรือประเภทของการได้มาของความสุข และการเข้าหาความสุขของมนุษย์ก็มีหลากหลายทาง ยาเสพติดเป็นทางที่ง่าย ที่สำคัญมันทำให้ถอนตัวจากความสุขแบบนี้ยาก ที่ไหนมีมนุษย์ ที่นั่นย่อมมีการโหยหาความสุข และยาเสพติดก็จะเป็นหนึ่งในคำตอบนั้นในทุกสังคม แทบจะไม่มีกลุ่มสังคมใดในโลกที่ไม่มีสารเสพติดในสังคมนั้นๆ

- ปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหาที่เลือกเกิดแต่เฉพาะในประเทศยากจน กลับกัน ยิ่งประเทศที่เศรษฐกิจดีมีแนวโน้มที่ยาเสพติดจะถูกลักลอบส่งเข้าไปในประเทศมากขึ้น เนื่องจากขายได้ราคาดีกว่าประเทศยากจน

- ประเทศยากจนที่รัฐบาลไร้เสถียรภาพ มักเป็นฐานของการผลิตพืชที่ใช้ผลิตยาเสพติดที่สำคัญของโลก ซึ่งการผลิตนี้ได้รับการดูแลจากคนมีปืน มีอาวุธ มีเครือข่ายส่งขาย ซึ่งเป็นได้ทั้งมาเฟีย กลุ่มกบฎ หรือ แม้กระทั่งรัฐบาลเอง ในโลกนี้มีจุดผลิตใหญ่ๆสามแหล่ง อเมริกาใต้เน้นที่โบลิเวีย เปรู โคลัมเบีย ซึ่งปลูกใบโคคา เอามาทำโคเคน เอเชียกลางหรืออัฟกัน อิหร่าน ผลิตฝิ่น และพม่าผลิตแอมเฟตามีน ส่วนกัญชาปลูกกันทั่วโลก

- โลกาภิวัตณ์ทำให้การซื้อขาย ขนส่ง และตลาดของยาเสพติดมันกว้างไกลกว่าเดิมมาก แนวโน้มการใช้ยาเสพติดส่งผลต่อกันแบบไร้พรมแดน ที่ใดมีความต้องการยาเสพติดจำนวนมากพอ ย่อมมีขบวนการจัดการหาไปรับรองความต้องการนั้น แลกกับรายได้มหาศาล ต้นทุนของยาเสพติดนั้นจะว่าไปอยู่ที่ตัวยานั้นนิดเดียว ที่เหลือคือส่วนที่ต้องแบ่งจ่ายให้ทุกกระบวนการในการจัดการให้ถึงมือผู้เสพ เช่นต้นทุนยาบ้า อาจจะน้อยกว่าเม็ดละ 1 บาท ส่วนราคาขายปลีกคือ 200 บาท ถ้าเข้าไปในยุโรปหรืออเมริกาได้ ราคาอาจขึ้นไปอีกสิบเท่า (อัมเตอร์ดัมส์กัญชาถูกกฎหมายราคากรัมละ 10 ยูโร หรือเท่ากับ กก.ละ 370.000 บาท)

- ที่ฮอลแลนด์ในช่วงปลายคศ. 60 ประสบปัญหาคนใช้ยาเสพติดจำนวนมาก และส่งผลต่อทำให้มีอัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น วิธีคิดสำหรับการแก้ปัญหานี้สำหรับชาวดัตช์คือการใช้กรอบของการให้สิทธิเสรีภาพและให้ความเป็นมนุษย์แก่ผู้ใช้ยาเสพติด
ก่อนมาที่นี่ผมก็ไม่ค่อยเก็ทไอเดียเรื่อง สิทธิของผู้ใช้ยาเสพติด การมาเห็นและได้สัมผัสของจริงตลอดหลายวันที่ผ่านมาทำให้ได้เข้าใจกระบวนการพัฒนานโยบายยาเสพติดบนพื้นฐานของเรื่องที่ว่าได้บ้าง

- หลายประเทศในยุโรปล้วนเป็นประเทศที่เจริญในด้านสิทธิมนุษยชน แต่ในช่วงแรกที่คนใช้ยาเสพติดเริ่มทำตัวมีปัญหากับค่านิยมเดิมในสังคม คนเหล่านี้ก็ถูกสังคมต่อต้านและลดสิทธิไปไม่น้อย
เมื่อผ่านไประยะหนึ่งจึงหันมาทบทวนเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ว่า
คำว่าสิทธิมนุษยชนที่เขาพยายามให้เราเข้าใจคือการให้สิทธิในการสื่อสารและรับฟังเรื่องราวของผู้ใช้ยาเสพติดบ้าง และให้คุณค่ากับการร้องขอเหล่านั้น ถ้าอธิบายให้เขาใจคงต้องเทียบกับการเลี้ยงลูก หากพ่อแม่เจอลูกทำตัวเกเรนอกลูกนอกทาง หากเลี้ยงลูกแบบคนดัตช์คือ อันดับแรกต้องเห็นค่าในตัวลูกเราก่อน หมายถึงมีความต้องการดูแลคนใช้ยาเหล่านั้นจริงๆในฐานะทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
หลังจากนั้นก็รับฟังความต้องการ และหาจุดที่ร่วมกันในการแก้ปัญหาได้

- คนใช้ยาเสพติดในฮอลแลนด์ที่เป็นปัญหาในสมัยช่วงต้น 70 นั้นคือผู้ใช้เฮโรอีนชนิดฉีดเข้าเส้น คนเหล่านี้มักก่ออาชญากรรม ถูกส่งเข้าเรือนจำ เป็นคนพเนจรไร้หลักแหล่ง และเอาเงินที่ได้อย่างสุจริตและทุจริตไปออกนอกระบบด้วยการซื้อยาเสพติด หนำซ้ำมักตามมาด้วยปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น โรคติดต่อทางเลือด เช่น เอดส์หรือไวรัสตับอักเสบ ซึ่งการกลับมาดูแลคนเป็นโรคแล้วจะเสียค่ารักษาแพงมาก (รัฐต้องจ่ายสวัสดิการส่วนนี้)

- รัฐบาลต้องการให้สังคมไม่มีอาชญากรรม ไม่ต้องเสียเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่อยากให้มีประชากรในคุกหนาแน่น ส่วนคนใช้ยาบอกกับรัฐว่าเขาเลิกใช้ยาไม่ได้

- มาตรการแรกๆที่ใช้ คือ ในเมื่อคนใช้ยาเสพติดแบบฉีดเข้าเส้นเลิกไม่ได้ รัฐก็ขอให้ใช้เข็มฉีดยาที่สะอาด เพื่อลดการแพร่โรค รัฐจึงแจกเข็มฟรี แต่ก็มีปัญหาต่อมาอีก คือ คนเหล่านี้มักไปรวมตัวฉีดตามสวนสาธารณะในเวลากลางคืน และทิ้งเข็มบริเวณนั้น จึงต้องออกนโยบายใหม่ ให้เอาเข็มที่ใช้แล้วมาแลกเข็มใหม่ทุกครั้ง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำ needle exchange program มันเกิดครั้งแรกในฮอลแลนด์นี้ และตอนนี้ถูกใช้กับคนไข้ฉีดเข้าเส้นทั่วโลก

- ในสังคมเสรีนิยม การรับฟังและแลกเปลี่ยนกับคนใช้ยาเสพติด ทำให้ระบบการดูแลเป็นไปตามความต้องการคนใช้ยา ผลที่ตามมาคือได้ตามความคาดหวังของรัฐบาล คนป่วยน้อยลง อาชญากรรมน้อยลง เงินออกนอกระบบน้อยลง ทั้งหมดนี้มีคำอธิบายเยอะ แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญที่เขาว่าคือ เขาพัฒนานโยบายยาเสพติดร่วมกับคนใช้ยาเอง

- ด้วยข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงค่านิยมเรื่องเสรีภาพ ทำให้ฮอลแลนด์เปิดกว้างกับสารเสพติดที่มีผลกระทบในแง่ลบต่อสุขภาพไม่มาก พวกพืชเสพติดหลายชนิดสามารถหาซื้อขายได้อย่างถูกกฎหมาย รัฐบาลต้องควบคุมคุณภาพของสารเสพติดเอง ทำให้คนใช้ยาลดความเสี่ยงสุขภาพไปได้ ผลตรงนี้ทำให้คนในประเทศไม่อยากลองยาเสพติดชนิดใหม่ๆอีก ในทางกลับกัน สำหรับที่อื่นๆในโลก เมื่อรัฐบาลปราบปรามยาเสพติดชนิดใด ก็จะมียาตัวอื่นใหม่ๆ เข้ามาทดแทน ซึ่งส่วนมากมักเกิดจากการผสมกันโดยปราศจากความรู้ จึงทำให้มันอันตราย

 

- ในทางกลับกัน หากนับเอาสังคมจารีตนิยมที่เด่นชัดในเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ก็จะพบสถิติที่น่าสนใจไม่แพ้กัน จารีตนิยมที่เป็นปฏิปักษ์กับยาเสพติดมากที่สุดน่าจะเป็นจารีตนิยมแบบอิสลาม สถิติทางอาชญากรรมหลายอย่างของประเทศจารีตนิยมอิสลามที่ใช้กฎหมายชารีอะฮเป็นแนวทางหลักในการบังคับใช้กฎหมาย ก็มีสถิติอาชญากรรมบางประเภทที่มีตราบาปสูงในสังคมศานาต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เช่นในซาอุดิอารเบีย ที่เข้มงวดกับประเด็นเรื่องยาเสพติด สถิติของอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีจำนวนน้อยเช่นกัน รวมถึงกรณีศึกษาจากอัฟกานิสถาน ที่ช่วงการปกครองของตาลีบัน เป็นช่วงเดียวที่อัฟกันไม่มีการส่งออกฝิ่น ไม่มีการปลูกฝิ่นในประเทศ ในขณะที่ปัจจุบันฝิ่นเป็นสัดส่วนถึง 60% ของ GDP ของประเทศ และแน่นอนว่าอาชญากรรมที่เกียวข้องกับยาเสพติดในปัจจุบันก็สูงกว่าสมัยตอลีบันมากมายนัก

- ข้อพิเคราะห์ต่อยาเสพติดในมุมมองของศาสนานั้นอย่างไรเสียก็คงไม่สามารถเปลี่ยนคำวินิจฉัยที่ชัดเจนว่าทุกสิ่งมึนเมานั้นเป็นสิ่งต้องห้าม แม้จะมีข้อสนับสนุนทางบวกมากมายในด้านวิชาการของสารเสพติดทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางสังคม แต่ประเทศเนเธอแลนด์เองก็มีพื้นที่ที่ยอมรับเรื่องกัญชาเสรีเพียง 25% ของประเทศเท่านั้น ส่วนใหญ่คือเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวของประเทศ ในขณะที่พื้นที่ที่เหลือยังคงเคร่งครัดในจารีตและคำสอนของคริสต์อย่างแน่นเหนียว

- ค่านิยมแบบนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ในบริบทของเมืองไทยหรือสามจังหวัดก็ดี ซึ่งค่านิยมทางศีลธรรมและศาสนายังมีอิทธิพลอยู่มาก ยาเสพติดที่ทำให้สติมึนเมานั้นไม่ว่าอย่างไรก็อยู่ในหลักข้อห้ามทางศาสนา การเอาค่านิยมเรื่องเสรีภาพมาปรับใช้คงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่อย่างน้อยการเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวผู้ใช้ยาเสพติดคงต้องทำให้ได้ ถ้าคนจะแก้ปัญหายาเสพติดโดยไม่ฟังความต้องการจากคนใช้ยาเสพติด คงหาทางออกได้ยาก