Skip to main content

 

ลุงตู่ตั้ง 4 คำถามต่อประชาชนด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ หรือมีวาระซ่อนเร้น

 

โดย สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษา กป.อพช.ใต้

 

 

ผมขอออกตัวเล็กน้อยก่อนตอบคำถามที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นเพื่อถามประชาชนไทยทั้งประเทศ ด้วยว่า

- ผมไม่ได้บ้าจี้ไปตามสถานการณ์ แต่ผมคิดว่าการตั้งคำถามแบบนี้ผู้ถามกำลังสำคัญตนเองผิดไปหรือไม่ อย่างไร ต่อการดำรงอยู่ของประเทศนี้

- ผมไม่ใช่นักประชาธิปไตยจ๋า ที่จะออกหน้ามาปกป้องระบบประชาธิปไตยแบบไม่คิดตัวกลัวตาย แต่ผมก็เคารพในระบบนี้ หากคิดว่าประชาธิปไตยไทยยังจะต้องปลูกสร้างรากฐานกันยกใหญ่ ผมจึงสนุกสนานอยู่กับปฏิบัติการทางประชาธิปไตยของประชาชนรากหญ้า ที่ได้ลุกขึ้นมากปกป้องฐานทรัพยากรในชุมชนของตนเอง เพราะคิดว่าการที่คนเล็กคนน้อยกล้าตื่นตัวต่อเรื่องราวของตนเอง คือการสร้างรากฐานทางประชาธิปไตยที่ดีที่สุด

ผมคิดว่าสังคมไทยต้องทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ที่เป็นอยู่ และที่จะไปต่อในอนาคต เพราะเราคงไม่สามารถฝากความหวังไว้กับใครเพียงคนเดียว หรือคณะเดียวได้ คำถามของท่านนายกฯ 4 ข้อ ที่ท่านอยากให้คนไทยช่วยกันตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ ถือเป็นภาพสะท้อนความคิดอ่าน และความเข้าใจของท่านต่อการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี และยังเป็นภาพสะท้อนความเป็นตัวของท่านด้วยเช่นกัน จากคำถามที่ว่า

1. ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ?

2. หากไม่เป็นไปเช่นนั้นแล้ว จะทำอย่างไร ?

3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่นประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง ?

4. ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ?

ผมขอตอบคำถามเรียงลำดับไปตามนี้ครับ

ข้อที่ 1 และ 2 ผมคิดว่ารัฐบาลธรรมาภิบาลไม่เคยมีในสังคมการเมืองไทย ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าทานนายกฯมีความเข้าใจต่อความหมายเรื่อง “ธรรมาภิบาล” ว่าอย่างไร เพราะถ้าคำนี้หมายถึงการได้รัฐบาลที่ดี และต้องได้คนดีที่สังคมยอมรับมาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผมคิดว่าแค่นี้คงไม่พอ แต่รัฐบาลธรรมาภิบาลในความหมายของผม คงหมายถึงกลไกทั้งหมดของประเทศนี้จะต้องถูกจัดวางไว้อย่างสมดุล และถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันได้จริง ที่สำคัญคือจะต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศนี้อย่างแท้จริงด้วย

จึงคิดว่า “ธรรมาภิบาล” ในความหมายของท่านนายกฯที่ผมเข้าใจนั้นคงจะหาได้ยากในวันนี้ หรือในอนาคต แต่ผมยอมรับว่า ในห้วงของการใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 อาจจะเข้าข่ายความหมายที่ผมหมายถึง นั่นคือการมีรัฐธรรมนูญที่ได้ออกแบบกลไกของความเป็นรัฐอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด มีการถ่วงดุลระหว่างอำนาจต่างๆอย่างน่าสนใจ ที่สำคัญคือการสร้างให้บทบาทของภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายมิติ ดังนั้น *การ (ต้อง) ตอบคำถามนี้ ผมจึงคิดว่า *รัฐธรรมาภิบาล* จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับของท่าน และถ้าหากจะให้เกิดขึ้นท่านคงจะพอคิดได้เองนะครับ อันนี้ถือเป็นคำตอบข้อที่ 2 ไปด้วยนะครับ

ข้อที่ 3 ผมอาจจะเห็นด้วยบางส่วนกับคำถามนี้ ด้วยนักการเมืองอาจจะไม่สามารถเอาจริงเอาจังกับการปฎิรูปได้ในช่วงที่เขามีอำนาจ เพราะอะไรที่จะเป็นผลกระทบ หรือเสียผลประโยชน์ของพวกเขาก็มักจะไม่ถูกนำมาแก้ไขให้ดีขึ้น (ซึ่งก็เป็นเช่นนี้มาตลอด และจะยังเป็นต่อไป) ส่วนการออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เรื่องดังกล่าวนี้จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนเท่านั้น ถึงจะสำเร็จได้ แต่การจะทำยุทธศาสตร์ไว้ล่วงหน้าถึง 20 ปี อาจจะพอทำได้แบบกว้างๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วก็จะพลิกผันไปตามสถานการณ์นั้นๆ และจะขึ้นอยู่กับนโยบายการเมืองของแต่ละยุคสมัยด้วยเช่นกัน ในคำถามนี้ท่านนายกฯ อาจจะมีความสับสน ระหว่างเรื่องการเลือกตั้ง กับการพัฒนา เพราะถ้าเรื่องการเลือกตั้งที่สุดแล้ววันนี้รัฐบาลไม่น่าจะมีคำปฏิเสธได้ และคิดว่าท่านนายกฯเองก็ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วจะเป็นอย่างใคร หรือจะได้ใครที่ดีไม่ดีเข้ามา เพราะเมื่อนั้นก็ต้องปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยตัวมันเอง ส่วนของการปฏิรูป หรือการออกแบบการพัฒนาประเทศก็คงเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่จะเข้ามาบริหาร จะต้องดำเนินการไปตามนั้นอยู่แล้ว

ข้อที่ 4 คำถามนี้ผมคิดว่า เป็นคำถามที่เอาอกเอาใจคนที่เบื่อนักการเมือง และเป็นการตั้งคำถามที่สร้างให้ภาพของนักการเมืองยิ่งไม่น่าไว้วางใจมากขึ้นไปอีก นัยแฝงเร้นต่อคำถามนี้คือการทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย และ นั่นคือการสร้างภาพที่ไม่ดีกับความเป็นประชาธิปไตยไปด้วย คำถามนี้ยังนำความสงสัยว่าท่านนายกฯกำลังตั้งคำถามซ้อนเพื่อให้คนไทยคิดไปว่า “ประชาชนพร้อมที่จะยอมรับนักการเมืองในภาพลักษณ์ที่เคยเป็นก่อนหน้านี้ได้หรือไม่”

ผมคิดว่าท่านนายกฯมีความแยบยลต่อการตั้งคำถามเช่นนี้พอสมควร เป็นการถามที่ยกตนข่มท่านจนเกินงาม และเป็นการสำคัญผิดว่าประเทศนี้จะอยู่ได้เพราะพวกตนเท่านั้น ทั้งยังไม่มีความไว้วางใจว่าจะมีใครอื่นที่จะเข้ามาบริหารประเทศนี้ได้ดีกว่า คำถามนี้อาจจะถูกอกถูกใจบรรดาแม่ยกทั้งหลาย และเป็นการเรียกคะแนนนิยมเพื่อสร้างความชอบธรรมเรื่องของการเถลิงอำนาจของท่านต่อไป และคนเหล่านี้ก็จะพร้อมที่จะให้ท่านเสียหลักการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นท่านต่อไป และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเราจะต้องเฝ้ารอให้นักการเมืองน้ำเน่าหมดไปจากประเทศนี้ และรอให้นักการเมืองหน้าใหม่น้ำดีเข้ามา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ผมไม่แน่ใจว่าถึงท่านจะเป็นนายกฯ ไปจนสิ้นอายุขัยของท่านแล้ว เราจะได้พบเห็นสิ่งที่ท่านเพรียกหาหรือไม่

ส่วนตัวแล้วผมจำต้องพยายาม ทำความเข้าใจกับการตั้งคำถามของท่าน ว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ หรือเพื่อหวังผลอื่นใดมากไปกว่านี้มั้ยครับ..ท่าน ?

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟสบุ๊ค Somboon Khamhang 28 พฤษภาคม 2560