Skip to main content
ความรุนแรง: มุมมองทางสังคมศาสตร์และเทววิทยาอิสลาม
เอกสารประกอบการบรรยาย ณ มหาวิทยาลัยยัรมูก ประเทศจอร์แดน
ผศ.ดร. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“People say ‘no peace without justice’. But this is a very dangerous statement, because there is never full justice in this world. There will always be injustice; it’s the nature of abode. And, therefore, we need to work for justice within peace. In peace wrong can be redressed in ways that they cannot be redressed in war, because war engenders more wrong”.

Shaykh Abdullah bin Mahfudh ibn Bayyah (1935-)
ผู้คนมักพูดว่า ‘สันติภาพจะไม่เกิดขึ้นถ้าปราศจากความยุติธรรม’ แต่ข้อความที่ว่านี้อันตรายเป็นอย่างยิ่งเพราะในความเป็นจริงมันไม่มีความยุติธรรมอย่างเต็มที่ในโลกนี้ ด้วยความอยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมออันเป็นธรรมชาติของชีวิต ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นต้องทำงานเพื่อสร้างความยุติธรรม แต่ด้วย [กรอบคิด และบรรยากาศ] ของสันติภาพ เนื่องจากในสภาพสันติเท่านั้นที่ความผิดพลาดต่างๆ [อันเป็นบ่อเกิดแห่งความอยุติธรรม] จะสามารถถูกแก้ไขไปได้อย่างที่มันไม่สามารถทำได้ในยามสงคราม ทั้งนี้เนื่องจากสงครามนำมาซึ่งความผิดพลาดและความอยุติธรรมยิ่งขึ้นไปอีก
 
มายาคติเรื่อง “ความรุนแรงในฐานะที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์” : มุมมองทางสังคมศาสตร์
มีคำกล่าวว่ามนุษย์มีธรรมชาติของการทะเลาะเบาะแว้ง (Man is quarrelsome) การใช้กำลังและความรุนแรงถือเป็นเรื่องปกติของการดำเนินชีวิตเนื่องจากจะต้องมีการแย่งชิงและแข่งขันกันเพื่อเอาชีวิตรอด นักคิดคนสำคัญอย่างชาร์ล ดาร์วิน (1809-1882) เป็นผู้ที่มีคุณูปการสำคัญต่อแนวคิดดังกล่าว “ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด (Survival of the fittest)” ของเขาได้กลายมาเป็นหลักคิดสำคัญในทางชีววิทยาที่อธิบายว่าเหตุใดสัตว์บางชนิดจึงสูญพันธุ์ไปและบางชนิดจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอด
ไม่เฉพาะต่อวงการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แนวคิดของดาร์วินได้คืบคลานเข้ามาสู่วงการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ Social Darwinism หรือสังคมแบบดาร์วิน ซึ่งมองว่าสังคมก่อตัวขึ้นโดยเริ่มจากสังคมบุพกาลที่สังคมมนุษย์มีความโง่เขลาและมีอาระธรรมที่ล้าหลัง ต่อมาจึงค่อยๆพัฒนาขึ้นผ่านกระบวนการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการการต่อสู้กับศาสนจักรและความเชื่อดั้งเดิม จนกระทั่งสังคมมนุษย์ได้บรรลุถึงความเจริญขั้นสูงสุดเมื่อเกิดการปฏิวัติทางความคิดในยุโรปอันถือเป็นจุดสูงสุดของขั้นตอนของการพัฒนาของสังคมมนุษย์ แนวคิดทางสังคมในลักษณะดังกล่าวได้สร้างความชอบธรรมให้กับยุโรปในการล่าอาณานิคม กล่าวคือ เป็นหน้าที่ของคนขาวชาวยุโรปที่จะต้องทำให้สังคมที่ไม่ใช่ยุโรปมีอารยะธรรมที่ได้รับการพัฒนาเช่นเดียวกับยุโรปแม้จะต้องใช้ความรุนแรงเข้าครอบครองและบีบบังคับก็ตาม
เช่นเดียวกับดาร์วิน โทมัสฮอบส์ (Thomas Hobbes: 1588-1679) นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญของตะวันตกเจ้าของแนวคิดที่เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์มีความเป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจและพร้อมที่จะต่อสู้และฆ่าเพื่อผลประโยชน์และความอยู่รอดสำหรับฮอบส์แล้ว “แม้กระทั่งคนที่อ่อนแอที่สุดอาจทำการชักชวนหรือกล่อมเกลาคนอื่นเพื่อช่วยเขาฆ่า (คนที่เขาต้องการกำจัด)[1] ด้วยเหตุนี้เอง ฮอบส์ จึงสนับสนุนให้มีองค์อธิปัตย์ (sovereign) ที่มีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมธรรมชาติดังกล่าวของมนุษย์เพื่อทำให้สังคมมีความสงบสุข แนวคิดของฮอบส์ได้นำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ อันมีความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางสังคม[2]
ข้อโต้แย้งเรื่องธรรมชาติของมนุษย์และการมีทรัพยากรธรรมชาติอันจำกัดที่จะต้องมีการแย่งชิงซึ่งท้ายที่สุดการใช้ความรุนแรงจึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ได้ถูกสถาปนาเป็นสดมภ์หลักของแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์แนวคิดเกี่ยวกับ “การใช้กำลังเป็นทางออกสุดท้าย” เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่ประชาชน ปัญญาชนตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker)[3] อย่างไรก็ตามวาทกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติและความรุนแรงของมนุษย์ได้ถูกตั้งคำถามมากยิ่งขึ้นจากนักวิชาการทั้งจากสายรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมือง ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คนสำคัญได้ท้าทายแนวคิดดังกล่าวไว้อย่างแหลมคมในงานเขียนจำนวนมากของเขา ชัยวัฒน์ชี้ให้เห็นว่าความคิดและความเชื่อที่ว่าความรุนแรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นเพียง “มายาคติ ”และทำให้ผู้คนไม่กล้าคิดถึงทางออกอื่นๆโดยหลงติดอยู่กับความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่สามารถหลุดพ้นจากการครอบงำของความรุนแรงได้นอกจากนั้นผู้คนยังสับสนระหว่างความขัดแย้งและความรุนแรงรวมทั้งสาเหตุของความขัดแย้งและเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรง และที่สำคัญเมื่อผู้คนถูกทำให้เชื่อว่าความรุนแรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ก็ทำให้เกิดความรู้สึกป่วยการที่จะหาทางออกด้วยทางเลือกอื่นๆอันนำมาซึ่งการสร้างมายาคติขึ้นมาอีกชุดเพื่อรองรับความรุนแรงอีกนั้นอีกด้วย[4]
ข้อถกเถียงของชัยวัฒน์ก็คือ ผู้ที่ได้ข้อสรุปว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติแห่งความรุนแรง มักได้ข้อสรุปมาจากการศึกษาสัตว์หรือการศึกษาประวัติศาสตร์มนุษย์ ชัยวัฒน์เห็นว่าเรามิอาจนำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์มาใช้กับมนุษย์ได้เนื่องจากสภาพธรรมชาติของมนุษย์ในปัจจุบันก็คือสภาพธรรมชาติชนิดที่แยกธรรมชาติออกจากวัฒนธรรมได้ลำบากมาก และมนุษย์นั้นเกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยหลีกเลี่ยงมิได้[5]
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อไม่มีสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่บริสุทธิ์ การสั่งสอนและการขัดเกลาผ่านระบบวัฒนธรรมต่างหากที่เป็นตัวบ่มเพาะให้มนุษย์มีลักษณะรุนแรงก้าวร้าวหรือมีแนวโน้มไปในทางอ่อนโยนและมีไมตรีจิต สำหรับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่มักมีการกล่าวว่าคือประวัติศาสตร์ของความรุนแรงนั้น เนื่องจากการบันทึกประวัติศาสตร์นั้น “เรื่องราว” ของความรุนแรงต้องเป็นเรื่องราวที่ถูกบันทึกอย่างแน่นอน ในขณะที่ความสงบนั้นไม่มี “เรื่องราว” ดังนั้นจึงถูกบันทึกไว้น้อยกว่า “เหตุที่ไม่มีประวัติศาสตร์ของสันติภาพก็เพราะคงไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ของการไม่มีเรื่องราวกันมากนัก ยิ่งกว่านั้นองค์ประกอบของ “เรื่องราว” ที่สำคัญคือ วีรบุรุษ และการกระทำอันองอาจกล้าหาญ ผู้คนจึงดูจะจดจำการทำสงครามที่หาญกล้าได้ดีกว่าการนั่งคิดประดิษฐ์ตัวอักษรของวีรบุรุษในอดีต”[6]
สำหรับความสับสนระหว่างความขัดแย้งและความรุนแรงนั้น แม้ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของสังคมมนุษย์ ความรุนแรงหรือสงครามไม่ใช่ผลของความขัดแย้งหากเป็นวิธีการแบบหนึ่งที่มนุษย์ใช้แก้ไขหาข้อยุติให้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น[7] หรือเราอาจกล่าวได้ว่าความรุนแรงหรือสงครามเป็นผลจากการที่มนุษย์ล้มเหลวในการหาหนทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธีด้วยเหตุดังกล่าวเราจึงจำเป็นต้องแยกแยะระหว่างความขัดแย้งและความรุนแรงออกจากกันให้ชัดเจน และยิ่งไปกว่านั้น ชัยวัฒน์ยังเตือนว่าในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนเห็นภาพของความรุนแรงในลักษณะทันท่วงทีเสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงผลร้ายที่เกิดขึ้นคือ
ในขณะที่เห็นได้ชัดว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ทำลายความเป็นปรกติธรรมดาของชีวิต แต่โลกปัจจุบันกำลังพยายามทำให้มนุษย์ชินชากับความรุนแรงและสร้างความเชื่อขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งที่เห็นความรุนแรงเป็นเรื่องสามัญ ตัวการสำคัญที่มีส่วนในเรื่องนี้คือสื่อมวลชน หน้าที่ประการหนึ่งของผู้ใส่ใจสันติภาพคือพยายามใคร่ครวญสิ่งที่พบเห็นด้วยจิตใจที่วิพากษ์ (critical) อย่าได้ยอมปักใจรับความเชื่อที่ถูกส่งมาให้โดยมิได้ไตร่ตรองเสียก่อน วิธีนี้อาจจะช่วยให้ตระหนักได้บ้างว่า ความรุนแรงมิใช่เรื่องสามัญที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันตามปรกติ หากแต่เป็นตัวทำลายความเป็นปรกติของชีวิตมนุษย์สามัญต่างหาก[8]”
การที่ผู้คนจะหลุดออกไปจากกับดักแห่งมายาคติของความรุนแรงนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยกระบวนทัศน์ใหม่ในการมองสังคมมนุษย์ ศาสตราจารย์ เกล็น ดี. เพจ (born 1929) ชี้ให้เห็นว่า สังคมที่ไม่ใช้ความรุนแรงและปลอดการฆ่าเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งมิใช่เป็นเรื่องเพ้อฝันแต่เป็นสังคมที่มนุษย์สามารถบรรลุถึงได้ โดยเขาพิสูจน์ให้เห็นว่าการฆ่าไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์โดยยกตัวอย่างความต่อเนื่องของสถาบันครอบครัว เนื่องจากถ้ามนุษย์เป็นผู้ฆ่าโดยธรรมชาติหรือหากแม้แต่ครึ่งหนึ่งของมนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการฆ่าคนอื่นระบบครอบครัวก็คงล่มสลาย
เพจชี้ว่า การคำนวณโดยอาศัยสถิติยังพบว่าจำนวนประชากรมนุษย์รวมกันนับตั้งแต่ 1000 ปีก่อนคริสตกาลมีมนุษย์ถึง 95% ที่ไม่เคยทำการฆ่า โดยที่สัดส่วนของผู้ฆ่านั้นแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและยุคสมัยแต่ปริมาณมนุษย์ท่วมท้นทวีคูณย่อมเป็นหลักฐานยืนยันว่าการทำลายล้างอย่างโหดร้ายนั้นไม่ใช่ธรรมชาติมนุษย์[9] นอกจากนั้นจิตวิญญาณของมนุษย์ซึ่งมีรากฐานมาจากศาสนายังยืนยันกันอย่างพร้อมเพรียงถึงหลักการการไม่ฆ่ามนุษย์ “ไม่เคยปรากฏคำสอนในระดับสารัตถะของพระเจ้า พระศาสดา องค์พระผู้สร้าง หรือจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ที่บอกว่า ‘มนุษย์ทั้งหลายจงฟังบัญชาเรา จงฆ่ามนุษย์คนอื่นทั้งชายและหญิง’[10]”
เมื่อพิจารณารากฐานทางวิทยาศาสตร์ต่อความเป็นไปได้ของสังคมที่ปราศจากการฆ่าและใช้ความรุนแรงเพจ ได้ยกตัวอย่างการศึกษาของนักจิตวิทยา นักพันธุกรรมศาสตร์ นักมานุษยวิทยาแนวชาติพันธุ์วิทยาซึ่งพบว่าปทัสถานทางชีววิทยาของมนุษย์คือความร่วมมือ เสียสละ การอยู่รอดโดยความร่วมมือซึ่งกันและกัน หรือ “จงอย่าฆ่า” การค้นพบนี้ชี้ว่าสัตว์หลายสายพันธุ์มีลักษณะร่วมในแง่ที่ความรุนแรงก้าวร้าวถูกทำให้เป็นพิธีกรรม เพื่อที่จะไม่เกิดการทำร้ายทางกายภาพ และมนุษย์ก็มีลักษณะที่ว่านี้ถึงขั้นที่ได้เกิดการพัฒนาวิธีบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ก่อนจะสรุปว่า กระบวนการทางวัฒนธรรมกลับปรากฏการนิยามฝ่ายอื่นว่าไม่มีความเป็นมนุษย์เต็มขั้น และฉะนั้นจึงสามารถตกเป็นเหยื่อได้ตลอดเวลา ตรงนี้เองที่มนุษย์ยกปทัสถานทางวัฒนธรรมที่บงการให้ฆ่า ขึ้นเหนือปทัสถานทางชีววิทยาที่ห้ามการฆ่าฟัน[11]
การที่จะก้าวพ้นความรุนแรงและแบบแผนในเชิงทำลายนั้น จอห์น พอล เลเดอรัค (born1955) ชี้ว่า สามารถเป็นไปได้โดย “พลังธรรมแห่งจินตนาการ” ซึ่งมันคือความสามารถที่จะจินตนาการและผลิตการตอบสนองและการริเริ่มที่สร้างสรรค์ที่ก้าวพ้น และที่สุดก็หลุดจากกรงเล็บของแบบแผนและวงจรการทำลาย[12]
แนวคิดหลักเกี่ยวกับความขัดแย้งและความรุนแรงจึงควรจะเป็นไปในลักษณะที่ ศรีสมภพ ได้สรุปเอาไว้ว่า
ต้องเปลี่ยนความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงมาสู่ความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรง…ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งที่ต้องขจัดออกไป แต่อาจจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นสิ่งที่จำเป็น หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการพัฒนา ในขณะที่การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ในความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกัน สิ่งที่สำคัญคือการทำให้เกิดความสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์ระหว่างตัวแสดงของความขัดแย้งและการทำให้เกิดโครงสร้างต่างๆที่จำเป็นต่อการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน”[13]
 
ความรุนแรงในฐานะญาฮิลียะฮ: มุมมองทางประวัติศาสตร์และเทววิทยาอิสลาม
การตอบโต้อย่างเท่าเทียม แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตของชาวอาหรับสมัยก่อนอิสลามที่อยู่ในสภาพสังคมที่เรียกกันว่า ญาฮิลียะฮ (Jahiliyyah) มุสลิมมักให้ความหมายสภาพดังกล่าวว่า ยุคของความโง่เขลา (Time of ignorance) กระนั้นก็ตามแม้รากศัพท์คำนี้อันมีที่มาจาก JHL จะหมายรวมถึงความโง่เขลาด้วย[14] แต่ความหมายหลักของ JHL คือ ความโมโหร้าย โกรธง่าย ความรู้สึกของการถือเกียรติและศักดิ์ศรีเหนือสิ่งอื่นใด ความทะนงตนและหยิ่งในศักดิ์ศรี ความล้นเกิน และที่สำคัญคือ สภาพจิตใจที่ถูกครอบงำด้วยการต่อสู้และการแก้แค้น[15] โดยปกติในสังคมญาฮิลียะฮ การแก้แค้นจะกระทำในสัดส่วนที่เป็นเท่าทวีคูณของการถูกกระทำในเบื้องแรก[16] สภาพสังคมในลักษณะดังกล่าวถูกหล่อหลอมด้วยจิตวิญญาณแบบมูรูวะฮ (Muruwah) ของชาวอาหรับเบดูอินที่เร่ร่อนในทะเลทราย[17]
มูรูวะฮ คือคุณค่าอย่างหนึ่งที่อาหรับเบดูอินยึดถืออย่างมั่นคง ซึ่งประกอบไปด้วยความกล้าหาญ ความอดทน และการทุ่มเทมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวด้วยชีวิตในการที่จะตอบโต้การกระทำใดๆจากคนภายนอกที่มีต่อสมาชิกของชนเผ่า เพื่อปกป้องรักษาเกียรติยศของชนเผ่า สมาชิกจะต้องพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้กับผู้ที่ถูกถือว่าเป็นศัตรูได้ทุกเมื่อ และพร้อมที่จะฟังและปฏิบัติตามหัวหน้าชนเผ่าอย่างเคร่งครัด เพียงแค่สมาชิกในชนเผ่าเลือดตกยางออกเพียงเล็กน้อยจากการกระทำจากภายนอก อาหรับเบดูอินจะมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าที่จะตอบโต้เพื่อรักษาเกียรติ ถ้าเขาจะต้องฆ่าใครหลายๆคนเพื่อรักษาเกียรตินั้นเขาจะไม่รีรอที่จะกระทำมันเนื่องจากคนภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกในชนเผ่าของเขาจะถูกถือว่าไร้ค่า ผู้ที่อาหรับให้ค่าและยกย่องมากที่สุดจะต้องมาจากชนเผ่าของตน ไม่ว่าจะเป็นบรรพบุรุษหรือหัวหน้าเผ่าที่ยังมีชีวิต ด้วยเหตุนี้ อบูรอบีย์ (Abu Rabi) จากเผ่าฆอนี (Ghani) กล่าวว่า:
“ผู้ที่ดีที่สุดคือชาวอาหรับ และในบรรดาชาวอาหรับที่ดีที่สุดมาจากเผ่ามูฎอร(Mudar) ในบรรดาเผ่ามูฎอรที่ดีที่สุดมาจากกลุ่ม กอยซ์(Qays) และในบรรดาผู้คนที่ดีที่สุดในกลุ่มกอยซ์ มาจากครอบครัว ฆอนี(Ghani) และในบรรดาสมาชิกของครอบครัวฆอนี ข้าคือผู้ที่ดีที่สุด ดังนั้นข้าคือผู้ที่ดีที่สุดในบรรดาผู้คนทั้งหลาย”[18]
และเนื่องจากเกียรติของชนเผ่าสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) ที่สุด อาหรับเบดูอินจะกระทำการทุกอย่างเพื่อรักษาเกียรตินั้นไม่ว่าการกระทำนั้นจะถูกหรือจะผิด ดังที่กวีชาวอาหรับในยุคนั้น (ก่อนอิสลาม) กล่าวว่า:
“ฉันคือ ฆอซียะฮ[ชื่อชนเผ่า] ถ้าเธอจะผิดพลาด ฉันขอผิดพลาดด้วย ถ้าฆอซียะฮจะถูกนำทางด้วยความถูกต้อง ฉันขอติดตามเธอไปด้วย จงช่วยเหลือพี่น้องของท่านเมื่อเขาถูกกระทำหรือกระทั่งเขากระทำกับผู้อื่น”[19]
อาหรับเบดูอิน เป็นผู้ยึดคุณค่าแบบมูรูวะฮอย่างแรงกล้าด้วยชีวิต อาหรับเบดูอินที่แท้จริง (the True Bedouin) ผู้มีความภูมิใจกับความเป็นอาหรับคือผู้ที่เปี่ยมด้วยคุณสมบัติของมูรูวะฮ ผู้ที่ละทิ้งมูรูวะฮ (เช่นหันไปรับอิสลาม) หมายถึงละทิ้งความมีเกียรติ ด้วยเหตุนี้เมื่อภรรยาของ อับบาส บิน มิรดาซ (Abbas Bin Mirdas) ทราบข่าวว่าสามีของนางได้เข้ารับอิสลามตามศาสดามูฮัมหมัดไปแล้วแล้วนางจึงทำลายบ้านที่เคยอยู่ด้วยกันทิ้งเสีย และกลับไปอยู่กับชนเผ่าเดิมของนาง พร้อมทั้งเขียนกวีสาปแช่งสามีของนางว่า:
ขอสาบานด้วยชีวิตของฉัน ถ้าท่านดำเนินตามมูฮัมหมัดและละทิ้งความศรัทธาและผู้ยังประโยชน์ที่เรานับถือ[หมายถึงพระเจ้าประจำชนเผ่าและบรรพบุรุษ] จิตวิญญาณนี้ขอแลกความความต่ำช้า[ของการละทิ้งนั้น]ด้วยความภูมิใจ แม้กระทั่งคมดาบมาจ่อตรงคอ [ฉันก็ไม่คิดจะเสียใจ]”[20]
เห็นได้ชัดว่าคุณค่าแบบมูรูวะฮเป็นอาหารอย่างดีต่ออัตตาและการหาประโยชน์เพื่อชื่อเสียงและเกียรติยศของตัวเอง และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ในทุกรูปแบบ
แทนที่จะถูกครอบงำด้วยญาฮิลียะฮ อัลกรุอ่านแนะนำและกระตุ้นให้มุสลิมดำเนินชีวิตในสภาพ ฮิลม (Hilm) ฮิลม หมายถึง ความอ่อนโยน ความเมตตากรุณา ความอดทนอดกลั้น ความลึกซึ้ง ความเข้าใจ ความมีสติปัญญาและมีเหตุมีเหตุผล[21] ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ลักษณะอย่างหนึ่งของสภาพสังคมญาฮิลียะฮคือ ความทะนงตนและการไม่ก้มหัวให้กับใครของอาหรับเบดูอิน อัลกรุอ่าน เตือนให้พวกเขามีความนอบน้อม ลดความหยิ่งยะโสและความทะนงตนความว่า:
“และมวลข้าทาสของ (อัลเลาะฮ) พระผู้ทรงเมตตายิ่ง พวกเขาเดินบนพื้นดินโดยความนอบน้อม และเมื่อมวลผู้โฉดเขลาได้สนทนากับพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า สันติสุข (แก่พวกนั้น)”(อัลกรุอ่าน 25:63)
ฮิลมเป็นระบบคุณค่าหนึ่งของชาวอาหรับเช่นเดียวกัน แต่เป็นคุณค่าที่ดีงาม ผู้ที่ยึดถือคุณค่านี้ จะมีลักษณะเป็นคนที่มีความอดทน อดกลั้น จิตใจเปี่ยมไปด้วยความเมตตา แทนที่จะระเบิดออกมาด้วยอารมณ์รุนแรง คุณค่าดังกล่าวทำให้พวกเขาสามารถควบคุมอารมณ์ความโกรธและตั้งมั่นอยู่อย่างสงบแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด พวกเขาไม่คิดจะแก้แค้นและยับยั้งการตอบโต้ต่อศัตรูถ้าหากศัตรูทำให้พวกเขาต้องบาดเจ็บ แต่จะมอบหมายให้อัลเลาะห์เป็นผู้ตัดสินและเป็นผู้ตอบแทนการกระทำแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนั้น ฮิลม ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ยึดถือมันให้มองโลกและเกิดการกระทำในแง่บวก พวกเขาดูแลให้การช่วยเหลือผู้อ่อนแอและผู้ด้อยโอกาสในสังคม เห็นอกเห็นใจผู้ตกทุกข์ได้ยาก ปลดปล่อยทาส และปรึกษาหารือระหว่างกันในกิจการสาธารณะ ให้ความช่วยเหลือและให้อาหารแก่ คนยากจนแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีอะไรจะกินก็ตาม ฮิลม จึงเป็นความมีอารยะ ซึ่งตรงข้ามกับความรุนแรงซึ่งเป็นรากของญาฮิลียะฮ
 
บทสรุป
ความรุนแรง (Radicalism) ที่เชื่อกันว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อมองในแง่สังคมศาสตร์มีฐานะเป็นเพียงมายาคติ (Myth) เท่านั้น สภาพสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมภายนอกมนุษย์ เป็นโครงสร้างสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ความรุนแรงไม่ใช่สภาพ “ธรรมชาติ” ของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ความรุนแรงจึงเป็นความผิดปกติของมนุษย์ ทางออกของปัญหาสังคมมนุษย์ที่เข้ากับสภาพธรรมชาติของมนุษย์คือสันติ (Peace) การพูดถึงทางออกสุดท้ายด้วยสงครามและความรุนแรงจึงเป็นการใช้ตรรกวิบัติหรือเหตุผลวิบัติ (Fallacy) ยิ่งเมื่อมองความรุนแรงในมุมมองเทววิทยาอิสลาม ความรุนแรงคือลักษณะหนึ่งของญาฮิลียะฮ อันเป็นสภาพสังคมก่อนยุคอิสลามที่อัลกรุอ่านตำหนิ (Condemn) และกระตุ้นให้มุสลิมละทิ้งแล้วหันมายึดระบบคุณค่าและดำเนินชีวิตอย่างฮิลม อันเป็นการกลับไปสู่ธรรมชาติ (Fitrah) ที่แท้จริงของจิตวิญาณของมนุษย์ ซึ่งเป็นจิตวิญญาณที่สูงส่งอันเนื่องมาจากมันถูกเป่ามาจากบางส่วนของรูฮของพระองค์อัลเลาะห์ (อัลกรุอ่าน 32:9)
_________________________________________
เอกสารอ้างอิง :
[1] Hobbes, Thomas. (1985). Leviathan. C.B Macpherson (ed.). London: Penguin Classic. xii.1-2.
[2]โปรดดูเพิ่มเติมที่ : เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์. (กรกฎาคม-ธันวาคม 2557). “โค่นล้มเลวีอาธาน: อ่าน โทมัสฮอบส์ ในฐานะนักประชาธิปไตยสุดขั้ว เจมส์อาร์มาร์เตล”. เอเชียพิจาร, ปีที่ 1, ฉบับที่ 2, หน้า 249-262.
[3]เกล็น ดี เพจ. (2552). รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า. ศิโรตม์ คล้าไพบูลย์ (แปล). กรุงเทพฯ: คบไฟ. 3-4.
[4]ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2557). ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ของเรา. 76-77.
[5]ชัยวัฒน์, อ้างแล้ว, 78.
[6]ชัยวัฒน์, อ้างแล้ว, 79.
[7]ชัยวัฒน์, อ้างแล้ว, 82. 
[8]ชัยวัฒน์, อ้างแล้ว, 90-91.
[9]เพจ, อ้างแล้ว, 32-33.
[10]เพจ, อ้างแล้ว, 33.
[11]เพจ, อ้างแล้ว, 39.
[12]พอลเลเดอรัค, จอห์น. (2555). พลังธรรมแห่งจินตนาการ:ศิลป์และวิญญาณการสร้างสันติภาพ. สดใส ขันติวรพงศ์. (แปล). กรุงเทพฯ: สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. 67.
[13]ฟารีดา ปันจอร์. (2558). (บรรณาธิการ). คู่มือกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี “เราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร?” รวมความคิดของ ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอส์. Pattani: โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์ (deepbooks) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 14
[14] ดู Hans Wehr, A Dictionary of Modern written Arabic (New York: Spoken Language Services, Inc, 1976), 144.
[15] Karen Armstrong, Muhammad: Prophet for Our Time (London: Harper Perennial, 2006), 79.
[16] ด้วยเหตุนี้ในยามทำการรบระหว่างกันของพวกชนเผ่าอาหรับทะเลทราย เพื่อแย่งชิงและปล้นสะดม (Raid) ซึ่งกันและกัน หรือที่เรียกว่า ฆอซู (Ghazu)  พวกเขาจะพยายามอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการทำร้ายกันหรือทำให้บาดเจ็บจนถึงชีวิต เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะมีการแก้แค้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตามมา
[17]โปรดดู  Ignaz Goldziher, Muslim Studies, S.M. Stern (ed.), C.R. Barber and S.M. Stern (trans.) (New Brunswick, New Jersey: Transaction Publishers, 2008), Chapter 1 on Muruwwah and Din).
[18] Ibid., 15.
[19] อ้างถึงใน Armstrong, op.cit, 25-26.
[20] Goldziher, op.cit., 18.
[21] ดู Hans Wehr, op.cit., 202