Skip to main content

                                         

เสวนา เรื่อง ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับความปรองดองในสังคมไทย

วันที่ 7 เมษายน 2560  เวลา  08.00 ถึง .13.00 น.

ณ ห้องประชุม ดีพัค ซีเจ ฮอลล์   อาคารศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จัดโดย คณะทำงานประเทศไทยว่าด้วยความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (TJA network , Thailand) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ศูนย์การศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

ความเป็นมา

                ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในประเทศไทย เมื่อเทียบกับหลายประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย  แม้จะไม่หนักหน่วงและกว้างขวาง จนถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนนับแสนก็ตาม แต่ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย ได้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ  อย่างต่อเนื่องและยาวนานมาหลายสิบปี นับแต่ความรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ความขัดแย้งด้วยอาวุธ ระหว่างพรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาล ในช่วงทศวรรษที่ 60-80 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535  ความรุนแรงทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และที่เป็นประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู้ความปรองดองของคนในชาติ คือความรุนแรงที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและการควบคุมการชุมนุมในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาหรือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสีทางการเมือง ซึ่งความขัดแย้งต่างๆเหล่านั้นได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้คนหลายหมื่นคน  ทรัพย์สินเสียหายมากมายยากที่จะคำนวนได้ และที่สำคัญคือความขัดแย้งและความสูญเสียดังกล่าว เป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนเท่าทีควร

                ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานดังกล่าวข้างต้น อาจจะสท้อนให้เห็นถึงสาเหตุส่วนหนึ่งที่เกิดจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และการเมือง ซึ่งมีความสัมพันธ์และค้ำจุนซึ่งกันและกันอย่างไม่อาจแยกออกได้ อาทิเช่น โครงสร้างทางเศษฐกิจที่มีทั้งแบบดั้งเดิมและทันสมัย การผูกขาดทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การกระจุกตัวของโภคทรัพย์และรายได้ ช่องว่างระหว่างคนร่ำรวยซึ่งเป็นชนส่วนน้อยของประเทศ และคนยากจนที่เป็นชนส่วนใหญ่ รวมทั้งการเมืองและการปกครองในระบบอุปภัมภ์และอำนาจนิยมที่ถูกควบคุมโดยสถาบันอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย ทั้งสถาบันทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ฯลฯ กลายเป็นวงจรหรือห่วงโซ่ที่พันธนาการสังคมอย่างเหนียวแน่น จนดูเหมือนว่ายากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่ปะทุเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบทุกกระยะสิบปี อาจแสดงถึงการดิ้นรนของสังคมที่ต้องการสลัดพ้นจากพันธนาการดังกล่าว หรือเป็นความพยายามในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่พัฒนาไปไกลกว่าเดิม ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ไม่เหมาะสมแล้ว ความขัดแย้งอาจพัฒนาเป็นความรุนแรงที่หนักหน่วงกว้างขวางจนเกิดความเสียหายต่อประชาชนยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมาได้

ตลอดช่วงของความขัดแย้งที่ผ่านมา ได้มีความริเริม และความพยายามทั้งฝ่ายรัฐ และภาคประชาสังคม ที่ต้องการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว มีการนำแนวคิด และทฤษฎีต่างๆมาช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาและเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งแนวคิดในเรื่องความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านด้วย

                แนวคิดเรื่อง “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน”  หรือ Transitional Justice- TJ  เป็นองค์ความรู้ชุดหนึ่ง ที่ได้รวบรวมจากความรับรู้และประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆทั่วโลก จากประเทศละตินอเมริกา อัฟริกาใต้ และอีกหลายประเทศในเอเซียและอัฟริกา รวมทั้งยุโรปในบางประเทศ  ความรุนแรงเหล่านั้นมักเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐที่ใช้อำนาจเผด็จการเพื่อให้สังคมดำรงอยู่ในสถานเดิมต่อไป กับฝ่ายต่อต้านที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไปสู่สถานใหม่ๆ ในท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว ได้เกิดความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะกรณีที่รัฐเผด็จการใช้กำลังอาวุธต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านที่เปป็นขบวนการประชาธิปไตย  มีผลทำให้ประชาชน พลเรือน โดยเฉพาะ ผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

                ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนเป็นกระบวนการที่ยึดถือประชาชน โดยเฉพาะเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเป็นตัวตั้ง หรือเป็นศูนยฺกลาง สร้างพลังให้กับคนเหล่านั้น ให้สังคมร่วมกันทำงาน เพื่อเยียวยาบาดแผลจากความรุนแรง ทั้งที่เกิดกับตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด รวมทั้งผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรงและ บาดแผลที่เกิดกับสังคม ให้สามารถฟื้นฟูและก้าวข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไปได้  ที่สำคัญยิ่งคือ ไม่ให้สังคมหวนกลับไปสู่ความขัดแย้งเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีก  โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือการเปลี่ยนผ่านจากสังคมในระบบออำนาจนำยมไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่มีสันติสุข และเป็นสังคมที่เข้มแข็งที่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

            ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นกระบวนการของการขับเคลื่อนทางสังคม ในประเด็นต่างๆที่เชื่อมโยง ส่งผลและเป็นเงื่อนไขต่อกันและกัน คือ (1) การตรวจสอบค้นหาความจริง (2)  การฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ (3) การดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด และ (4) การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างในด้าน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและการเมือง

            การที่สังคมไทยได้เริ่ม ปรึกษาหารือ หรือถกเถียงกันถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองอีกครั้งหนึ่งในขณะนี้ ทั้งมีการประกาศเจตนาและโยนบายของรัฐบาลที่จะสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยได้จัดตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าวในกระบวนการและความริเริ่มของฝ่ายต่างๆ ในการแก้ปัญหาคมขัดแย้งและสร้างความปรองดองนั้น มักจะมีการหยิบยก ความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเสมอ

                ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะจัดเวทีให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง นักวิชาการ และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิดกับผู้เชี่ยวชาญและศึกษาประสบการณ์จากประเทศอื่น และร่วมกันสำรวจความเคลื่อนไหวของกระบวนการปรองดองดังกล่าว และศึกษาแนวคิด ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ว่าสามารถที่จะนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในสังคมไทย ได้มากน้อยเพียงใดและอย่างไร จึงจะจัดให้มีการเสวนาเรื่อง ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับความปรองดองในสังคมไทย ขึ้น

วัตถุประสงค์

1.       เพื่อสำรวจและทำความเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้

2.       เพื่อนำเสนอแนวคิดและหลักการ “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ต่อสังคมไทย

3.       เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ ข้อมูล และข้อคิดเห็น สำหรับการจัดทำข้อเสนอแนะในการนำแนวคิดและหลักการ “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” มาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง

ผู้ร่วมเสวนา  ประมาณ 30 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี ผู้ที่เกี่ยวขข้องกับความขัดแย้งและกระบวนการปรองดอง สื่อมวลชน

วัน เวลา และสถานที่

1.       วันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560 เวลา 8.30 -13.00 น.

2.       ณ ห้องประชุม ดีพัค ซีเจ ฮอลล์   อาคารศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซอยจุฬา 12  ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330  

ผู้จัดการประชุม

1.       คณะทำงานประเทศไทยว่าด้วยความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ติดต่อ นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน (ทนายความ) ผู้ประสานงานคณะทำงานฯ โทร 085-120-8077

2.       ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดต่อ ศ.สุริชัย หวันแก้ว โทร. 0819875413

3.       ศูนย์การศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดต่อ ผศ.ดร.นฤมล  ทับจุมพล โทร.0876850043

4.       สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

ติดต่อ ผศ.ดร.จตุรงค์ บุญรัตนสุนทร โทร 0890571755

 

 

กำหนดการ

08.00 – 08.30.                     ลงทะเบียน

08.30 – 08.40                      กล่าวรายงานความเป็นมาในการจัดงาน โดยนายสมชาย หอมลออ

08.40 – 09.00                      กล่าวเปิด โดย ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง

09.00 - 09.30                       สำรวจกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองไทย

                                         โดย คุณชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า

9.30 – 10.30                         แนวคิด หลักการ TJ และบทเรียน TJ ในต่างประเทศ โดย Mr. Patrick Burgess จาก AJAR

10.30 - 13.00                       เสวนา ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในสังคมไทย

อภิปรายนำโดย อ. ชำนาญ จันทร์เรือง  อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.นฤมล  ทับจุมพล  ศูนย์การศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์  อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

ติดต่อประสานงาน  นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน (ทนายความ) ผู้ประสานงานคณะทำงานฯ โทร 085-120-8077

                          นางสาวเธญา นารี เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร 096-196-5669

 

Event date