Skip to main content

 

               การดำเนินโครงการใดๆก็ตาม เมื่อมีตัวขับเคลื่อน คือ เยาวชนในโรงเรียน ที่สามารถเปิดพื้นที่ในโรงเรียนเป็นพื้นที่กลางในการดึงชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำศาสนาและ ผู้นำชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการด้วยกัน  ต้องอาศัยการพูดคุย การสานสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโครงการที่เยาวชนกำลังจะดำเนินในชุมชน ซึ่งโครงการลักษณะนี้ถือ เป็นโครงการที่มีพลังในชุมชนเป็นอย่างมาก และมีความหมายอย่างมาก เมื่อโครงการเหล่านี้ถูกสื่อสารออกมา จะทำให้โครงการที่ทำเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถทำให้ชุมชนอื่นๆได้เรียนรู้ร่วมไปด้วยกันได้

               เช่นเดียวกันกับ เยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคมโรงเรียน ยะหาศิรยานุกุล จังหวัดยะลา  รุ่นที่ 1 ได้ดำเนินโครงการ “สายใยรักษ์ยะหา ชุมชนยะหา : ศาลาดูดวงจันทร์ “  เยาวชนเหล่านี้ได้ดำเนินโครงการผ่านมาแล้ว 1 ปี ซึ่งกิจกรรมที่ได้ทำนอกจากการเชิญชวนชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ร่วมแลกเปลี่ยน และรับทราบเกี่ยวกับโครงการที่เยาวชนจะดำเนินการในชุมชนแล้ว

                กิจกรรมที่มีความสำคัญในการได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับศาลาดูดวงจันทร์คือ กิจกรรมการลงพื้นที่วาดแผนที่เดินดิน เพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับศาลาดูดวงจันทร์ ,กิจกรรมพัฒนาศาลาดูดวงจันทร์ที่ได้ร่วมมือกับคนในชุมชน, กิจกรรมการจัดนิทรรศการกี่ยวกับศาลาดูดวงจันทร์โดยจัดบนศาลาดูดวงจันทร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาให้กับผู้มาเยือนในการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันถือศิลอดและวันเฉลิมฉลองฮารีรายอ กิจกรรมเหล่านั้นได้จัดขึ้นปีที่ผ่านเป็นปีแรก และจะจัดขึ้นทุกๆปีหลังจากนี้ นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสื่อสารที่สามารถทำให้เยาวชนได้ใกล้ชิดกับคนในชุมชน และได้สานสัมพันธ์กับชาวบ้านในชุมชนอื่นๆอีกด้วย  นอกจาก กิจกรรมภาคสนามแล้ว เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะต่างๆในห้องเรียนสัปดาห์ละหนึ่งวัน เพื่อฝึกทักษะต่างๆให้กับเยาวชน อาทิเช่น ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการจับประเด็น ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น

 

 

 การดูดวงจันทร์หรือการดูพระจันทร์เสี้ยว

                เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หรือตรงกับฮิจเราะห์ศักราช ๑๓๘๘ หรือประมาณ ๔๘ ปี มาแล้ว โดยเห็นพระจันทร์เสี้ยวครั้งแรกที่บ้านไบก์ หมู่ที่ ๕ ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลาเพราะทางทิศตะวันตก

               การเห็นพระจันทร์เสี้ยวที่ บ้านไบก์ ในครั้งแรกนั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้”นายสือแม บินฮายีอารน” ซึ่งอาศัยอยู่บ้านอาสิน หมู่ที่ ๖ ตำบลยะหา จังหวัดยะลาโดยท่านมีแนวคิดว่าในเมื่อบ้านไบก์  สามารถมองเห็น พระจันทร์เสี้ยวได้ บ้านอาสินยะหาสามารถเห็นพระจันทร์เสี้ยวได้เช่นกัน

                ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ตรงกับฮิจเราะห์ศักราช ๑๓๙๐ นายสือแม บินฮายีอารน ได้ขึ้นบนภูเขาปาเระครั้งแรก เพื่อดูพระจันทร์เสี้ยว ปรากฏว่า  ท่านเห็นแสงไฟลักษณะเหมือนกับตะเกียงน้ำมันก๊าด อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางซ้ายมือประมาณ ๑ เมตร การเห็นแสงไฟในครั้งนั้นท่านได้ลงจากภูเขา และไปบอกกล่าวให้กับโต๊ะครูปอเนาะต้นทุเรียน ชื่อโต๊ะครู อับดุลเลาะห์ มูอัลเล็ม จากนั้น โดยโต๊ะครูอับดุลเลาะห์  กับ นายสือแม จึงไปพบกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาซึ่งในสมัยนั้นคือ ท่านอิสมาแอ บินหาวัน ท่านได้ทำการ สอบสวนลักษณะการมองเห็นแสงไฟตลอดจนวาดรูปให้กับนายสือแม ยืนยัน ว่า แสงที่ นายสือแม เห็นนั้นคือคุณลักษณะของพระจันทร์เสี้ยวหรือไม่  ซึ่งผลปรากฎว่า แสงที่ นายสือแม เห็นเป็นพระจันทร์เสี้ยว

                 แต่ขณะนั้นคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดยะลา ไม่สามารถประกาศอย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากการดูพระจันทร์เสี้ยวจะต้องมีพยาน ๒ คนขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในพื้นที่และคนต่างพื้นที่ขึ้นไปดูพระจันทร์เสี้ยว บนศาลาดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดเดือนในปฎิทินอิสลาม , กำหนดวันถือศิลอด และกำหนดวันฮารีรายอจนถึงปัจจุบัน