Skip to main content

ไชยยงค์ มณีพิลึก

 
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับโครงสร้างใหม่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ภายใต้การนำของ “เสธ.เมา” พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
 
แนวรบที่ปลายด้ามขวานยังไม่เปลี่ยนแปลง” คำพูดประโยคนี้ยังใช้ได้กับ สถานการณ์การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเสียงปี เสียงระเบิด หยดเลือด ความตาย ความสูญเสีย ความเจ็บปวด  ยังปรากฏให้เห็น และฟ้องด้วยตัวเลขการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นเฉลี่ยวันละ 3-4 ครั้งต่อวัน ซึ่งสวนทางกับคำพูดของ นักการเมือง ในรัฐบาล ที่พยายาม”กรอกหู” ประชาชนว่า สถานการณ์ ความไม่สงบดีขึ้น เหตุร้ายลดน้อยลง  มวลชนให้การสนับสนุน เจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น
 
          เรื่องมวลชนให้การสนับสนุน เจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้นนั้น เป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า เป็นมวลชนที่เป็นแนวร่วม” หรือเป็นมวลชนที่ไม่ใช่แนวร่วม ซึ่งเรื่องนี้ต้องยกความชอบให้กับ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร ที่ได้สร้างมวลชนในเชิงกว้างให้เกิดขึ้น ด้วยการนำเอาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องปุ๋ยชีวภาพ เรื่องปุ๋ยจุลินทรีย์ หรือ”อีเอ็ม” เรื่องฝายกั้นน้ำ วิทยุเครื่องแดง และเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งทุกเรื่องเป็นความสามารถส่วนตัวของ พล.อ.พิเชษฐ์ ทั้งสิ้น
 
          และสิ่งสำคัญ มวลชนที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าให้ความสนับสนุนการทำงานของกองทัพมากขึ้นนั้น เป็นมวลชนที่ในอดีตวางเฉยกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ได้ฝักใฝ่กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน เมื่อเห็นนโยบายของ พล.อ.พิเชษฐ์ ที่เน้นในการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นทำให้ กลุ่มคนที่เคยวางเฉยกับเจ้าหน้าที่รัฐเดินเข้ามาเป็นมวลชนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มวลชนที่เป็นแนวร่วม” และที่ฝักใฝ่ ที่ถูกชักจูงไปเป็น สมาชิกขบวนการ ยังไม่ได้กลับใจมาเป็นมวลชนของรัฐแต่อย่างใด  แต่การที่มวลชนที่เคยวางเฉยต่อเจ้าหน้าที่รัฐ กลับมาเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐ ย่อมเป็นผลดีกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคง หนักใจ กับมวลชนกลุ่มที่วางเฉยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะถ้ามวลชนกลุ่มนี้ซึ่งมีอยู่ ถึงร้อยละ 50 ของคนในพื้นที่ โอนเอนไปอยู่กับฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ได้เปรียบในสงคราม แย่งชิงมวลชน
 
          วันนี้ของ กอ.รมน.ภาค 4 มีการเปลี่ยนตัวผู้นำคนใหม่ จาก พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร ที่ก้าวขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ.เป็น พล.ท.อุดมชัย ธรรมมสาโรรัชต์ ซึ่งขยับจากรองแม่ทัพภาค 4 และรอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 โดยสามารถเบียดขับ พล.ต.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ที่เป็นตัวเก็ง ในวินาทีสุดท้ายของโผโยกย้าย ซึ่งการที่ พล.ท.ดุดมชัย เป็นผู้รับไม้ ต่อจากพล.อ.พิเชษฐ์ ทำให้มีความต่อเนื่องตามแนวทางเดิมของ พล.อ.พิเชษฐ์ ซึ่งเป็นด้านด้านมวลชนเชิงกว้างที่ได้ผล
 
          และสิ่งที่เป็นผลดีกับ พล.ท.อุดมชัย คือการปรับโครงสร้างใหม่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยมีการยุบหน่วยงาน พตท. หรือ กองบัญชาการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่มี พล.ท.กสิกร คีรีศรี เป็น ผู้บัญชาการ รับผิดชอบงานยุทธการ ซึ่งมียศที่เท่ากับผู้เป็นแม่ทัพ ที่ทำให้มองว่าเป็นปัญหาในการบังคับบัญชา กลายเป็น 1 กองทัพ แต่มี 2 หัว เมื่อไม่มี พตท. เท่ากับแม่ทัพภาคที่ 4 จะมีสถานะผู้นำที่สวมหมวก 3 ใบ คือเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เป็น ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 และเป็น ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีอำนาจเบ็ดเสร็จ”อยู่ในมือ “เอกภาพ” การบังคับบัญชาย่อมดีกว่าโครงสร้างเก่า แม้ว่าจะยังมีปัญหาที่กำลังพลที่ปฏิบัติการในพื้นที่ ยังเป็นของ กองทัพภาค 1-2 และ 3 โดยมี ผบ.ฉก.ที่เป็นรองแม่ทัพภาคเหล่านั้น เป็นผู้มีอำนาจโดยตรง ซึ่งเป็นโครงสร้าง ที่เป็นปัญหาอยู่
 
          แต่ การนำพา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อสร้าง “สันติสุขให้เกิดขึ้น ของ พล.ท.อุดมชัย ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่นักวิเคราะห์บางฝ่ายคาดการไว้ เพราะหลังจากที่พล.ท.อุดมชัย ขึ้นนั่งเก้าอี้ “แม่ทัพ” เพียงไม่กี่วัน การก่อวินาศกรรมที่หายไปจาก 4 อำเภอของ จ.สงขลาไปนานนับปี ก็เกิดขึ้นที่จุดไม้กั้นรถไฟ อ.จะนะ จ.สงขลา มีตำรวจ และเจ้าหน้าที่รถไฟบาดเจ็บ 4 ราย และมีการ “ฟันธง”จากหน่วยงานทุกหน่วยว่า ไม่ใช่ฝีมือของ “แนวร่วม” รวมทั้งเหตุร้ายรายวัน ที่เกิดขึ้นถี่ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยังเป็นตัวชี้วัดว่า เหตุการณ์ความรุนแรง ยังคงที่อยู่ในจุดเดิม และจะรุนแรงมากขึ้น เพราะ “แกนนำ” ของ “บีอาร์เอ็นฯ” มีแผนการใหม่ๆ อีกหลายแผน เช่น การตั้งกองกำลังในฝั่งอันดามันเพื่อเชื่อมโยงกับ 3 จังหวัด การจัดทำยุทธศาสตร์การเมืองเชิงรุกในพื้นที่ และการปรับยุทธศาสตร์การทหาร ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องตามให้ทัน
 
          รวมทั้งปัญหาที่ถูกทิ้งให้ “หมักหมมในพื้นที่ เช่น กลุ่มอิทธิพลผลประโยชน์ ซึ่งก่อเหตุร้ายและสร้างความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ยิ่งกว่า “บีอาร์เอ็น” ที่ในรอบ 6 ปี ไม่เคยมีหน่วยงานไหนแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหายาเสพติด ที่ระบาดหนักจนไม่มีหมู่บ้านไหนที่ปลอดจากยาเสพติด และขบวนการค้ายาเสพติดยังเป็นกระเป๋าเงินใบใหญ่ของขบวนการการ รวมทั้งปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ที่ กอ.รมน.ไม่เคย “พิทักษ์” ตามภาระหน้าที่ ปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างสนุกมือ ปัญหาเหล่านี้ ล้วนแต่เป็น “หินลองทอง” สำหรับ พล.ท.อุดมชัย ทั้งสิ้น
 
          สิ่งที่ต้องจับตามองคือโครงการวิทยุ “เครื่องแดง และโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมที่สร้างชื่อให้ อดีตแม่ทัพพิเชษฐ์ จนได้ฉายา “แม่ทัพเครื่องแดง” และ “แม่ทัพอีเอ็ม” เป็น 2 โครงการ ที่เชื่อว่าอาจจะมีปัญหาหรือ “โรยรา” ไปตามวาระ เนื่องจากทั้ง 2 โครงการเป็นความสามารถส่วนตัวของ พล.อ.พิเชษฐ์ รวมทั้งบุคคิลและความถนัดของพล.ท.อุดมชัย ไปไม่ได้กับทั้ง 2 โครงการ ซึ่งท้ายคงต้องมอบหมายให้ นายทหารระดับรองๆ ลงมารับผิดชอบและแผ่วโหยไปในที่สุด
 
          ผมจะไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง และจะทำความสงบให้เกิดขึ้นโดยเร็ว” ที่ พล.ท.อุดมชัย กล่าวกับภาคประชาชน ในวันที่รับตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 4 คือคำมั่นสัญญา ที่มี ชีวิตของคนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเดิมพัน และพล.ท.อุดมชัย จะทำได้จริงหรือไม่ กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์