Skip to main content

 

 

 

งาน10 ปีหน้า 10 ปีหลัง วาระผู้หญิงชายแดนใต้ เนื่องในวันสตรีสากล 2560

หลักการและเหตุผล

"วันสตรีสากล" (International Women's Day)  เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) จากนั้นในปี ค.ศ.1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก จนกระทั่ง คลารา เซทคิน นักการเมืองสตรีสังคมนิยมชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วยแม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ คลารา เซทคิน และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานสตรีให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็ก รวมทั้งมีการรับรองข้อเสนอของคลารา เซทคินที่ผลักดันให้ผู้หญิงทั่วโลกได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง และกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันสตรีสากลทั้งนี้เพื่อเป็นการสดุดีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี

ปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454)หลังจากการรณรงค์และการลงมติที่เมืองโคเปนเฮเกน มีกิจกรรมวันสตรีสากลทั้งในประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์โดยในวันที่ 19 มีนาคม ผู้ชายและผู้หญิงมากกว่า 1 ล้านคนเข้าร่วมการรณรงค์และเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงานของผู้หญิง สิทธิในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง สิทธิที่จะได้รับการอบรมวิชาชีพ สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองและสิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฎิบัติ

ปี ค.ศ. 1913-1914 เป็นช่วงการรณรงค์เพื่อสันติภาพและยุติสงครามปี ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460)ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกุมภาฯ ผู้หญิงในรัสเซียได้ร่วมกันนัดหยุดงานเพื่อรณรงค์ “ขนมปังและสันติภาพ” เป็นปฏิกริยาต่อการเสียชีวิตของทหารชาวรัสเซียกว่า 2 ล้านคนในสงครามโลก(ครั้งที่ 1) แม้ว่าจะถูกต่อต้านโดยผู้นำทางการเมืองจำนวนมาก ผู้หญิงเหล่านี้ก็ยืนหยัดในการนัดหยุดงานอย่างต่อเนื่องมากกว่า 4 วันจนพระเจ้าซาร์ยอมสละราชสมบัติ และรัฐบาลชั่วคราวประกาศให้สิทธิผู้หญิงลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ปี ค.ศ. 1918 – 1999 (2461 - 2542)หลังจากการก่อกำเนิดของขบวนการสังคมนิยม วันสตรีสากลได้เติบโตจนกลายเป็นวันสากลที่ได้รับการยอมรับและมีการเฉลิมฉลองอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้หญิงทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้วหลังจากนั้นเป็นเวลาหลายทศวรรษวันสตรีสากลได้เติบโตและมีความเข้มแข็งมากขึ้นทุกปี เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่องค์กรสหประชาชาติได้จัดการประชุมวันสตรีสากลเพื่อประสานความพยายามเพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางกระบวนการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในปี ค.ศ. 1975 (2518) องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “ปีสตรีสากล” องค์กรสตรีและรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกได้มีส่วนร่วมในวันสตรีสากลทุกปีในวันที่ 8 มีนาคม โดยการจัดกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ทั่วโลก เพื่อยกย่องการมีส่วนร่วมของสตรี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการต่อสู้และผลักดันเพื่อรับรองว่าผู้หญิงจะมีสิทธิเท่าเทียมในสังคมโดยได้รับการยอมรับและคงไว้ในทุกภาคส่วนของสังคม

เนื่องในวันสตรีสากล ปี 2560 คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้  (Peace Agenda of Wumen/PAW) เห็นความสำคัญและร่วมรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของการเคลื่อนไหวของสตรีในการเรียกร้องและกระทำการเพื่อให้ได้ศักดิ์ศรี สิทธิและความเท่าเทียมและการผลักดันให้เกิดผลดีต่อสตรีนานัปการ

 

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ก่อตัวมาจากเจตจำนงขององค์กรทางสังคมที่ขับเคลื่อนงานมิติต่าง ๆ ของผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้แดนภาคใต้ 23 องค์กร โดยเริ่มจากการถอดบทเรียนจากการทำงานและเคลื่อนไหวร่วมกันของขบวนผู้หญิงในพื้นที่ในวันที่19 เมษายน 2558 ซึ่งมีข้อสรุปว่าการเคลื่อนไหวของขบวนผู้หญิงยังมีพลังไม่มากพอในการผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจับมือกันให้เป็นพลังที่แข็งแรง จึงมีมติให้จัดตั้ง “คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้” และต่อมา  มีการแถลงข่าวเปิดตัวและรณรงค์  “ข้อห่วงใยของผู้หญิงต่อวงจรความรุนแรงชายแดนใต้”ในวันอังคารที่ 28 เมษายน 2558 ณ โรงแรมปาร์ควิว ปัตตานี  หลังจากนั้นจัดกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องจากทุกฝ่ายให้ยุติความความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

 

Event date