Skip to main content

รอมฎอน ปันจอร์

ย้อนกลับไป 4 ปีที่แล้ว วันๆ นี้ (28 กุมภาพันธ์) เป็นวันสำคัญที่เป็นหมุดหมายสำคัญของความขัดแย้งในชายแดนใต้/ปาตานี เพราะเมื่อตัวแทนของรัฐบาลไทย (เลขาธิการ สมช. สมัยนั้น) กับตัวแทนของบีอาร์เอ็นลงนามในเอกสารชิ้นเล็กๆ ขนาดความยาวเพียงสองสามย่อหน้าว่าจะเดินหน้าการพูดคุยสันติภาพ ลายเซ็นของสองคนนั่นและตราประทับหน่วยงานปรากฎขึ้นพร้อมๆ กัน มีการลงนามกำกับโดยเลขาธิการ สมช.มาเลเซียในฐานะประจักษ์พยาน

เรื่องแบบนี้ไม่เคยปรากฎมาก่อน อาจจะมีการพูดคุยสันติภาพอยู่บ้างในทางลับก่อนหน้านี้ แต่แบบแผนของสิ่งที่เกิดขึ้นและที่ตามมาตลอด 4 ปีมานี้ก็แตกต่างอย่างสำคัญ

 

 

ตำแหน่งแห่งที่ของการริเริ่มพูดคุยที่ว่านี้น่าสนใจมาก ตอนหาข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ ผมเคยเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์หนึ่งที่เป็นของหน่วยงานใต้สังกัดของสหประชาชาติที่รวบรวมเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพทั่วโลก เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับหน่วยงานภายในยูเอ็นเองและองค์กรข้ามชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพ ในนั้นมีการแบ่งซอยย่อยเป็นของแต่ละประเทศ (คลิกเอาตามแผนที่ของประเทศนั้นๆ) ซึ่งแสดงผลน่าตื่นเต้นมาก ตัวอย่างเช่นมีของแอฟริกาใต้ 12 ฉบับ โคลัมเบียมี 32 ฉบับ สหราชอาณาจักรมี 15 ฉบับ อัฟกานิสถานมี 20 ฉบับ อิสราเอลมีถึง 33 ฉบับ (รวมกับที่ทำกับปาเลสไตน์ด้วย) ใกล้ๆ บ้านเรามีอินโดนีเซีย 6 ฉบับ (ล่าสุดคือกรณีอาเจะห์เมื่อปี 2005) เมียนมาร์มี 10 ฉบับ (รวมข้อตกลงปางโหลงอันเลื่องชื่อในปี 1947 และล่าสุดข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศปี 2015) และฟิลิปปินส์มากที่สุดในภูมิภาค 55 ฉบับ (แน่นอนล่าสุดคือข้อตกลงบังซาโมโร CAB ในปี 2014)

 

http://peacemaker.un.org/

 

แต่ของประเทศไทยมีเพียงฉบับเดียว นั่นก็คือฉบับนี้ที่ลงนามในวันนี้เมื่อ 4 ปีก่อน (คลิกดู ที่นี่

การมีเพียงฉบับเดียวโดดๆ มันบอกอะไรหลายอย่าง ผมว่าเรื่องนึงที่ชวนคิดก็คือเอาเข้าจริงๆ แล้ว สังคมไทยแทบจะไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับความขัดแย้งด้วยวิธีการแบบนี้มาก่อน (แน่นอนรวมถึงสังคมปาตานีด้วย) วิธีการรับมือจึงดูเก้ๆ กังๆ เรียนรู้ไปด้วย โต้แย้งถกเถียงกันไปด้วย

คิดจากมุมของรัฐไทย ประสบการณ์ในอดีตนั้นไม่เคยมีครั้งไหนที่จะยอมรับและนั่งลงพูดคุยกับ “ศัตรูของรัฐ” ในลักษณะเช่นนี้มาก่อน จะมีก็แต่เปิดที่ทางให้กับ “อดีตศัตรู” กลับคืนสู่สังคมเป็นรายปัจเจก (ซึ่งปัจจุบันกำลังทำกันอย่างขมักเขม้นในโครงการพาคนกลับบ้าน) เรียกวิธีการเอาไว้อย่างเท่ห์ว่า “การเมืองนำการทหาร” ไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับ พคท. หรือกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน รัฐใช้วิธีการแบบนี้และ “เอาอยู่” มาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ เราจึงจะเห็นอาการลังเลเฉไฉไม่ลงรอยในเรื่องทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของภาครัฐ โดยเฉพาะในระยะหลังๆ มานี้ ผมคิดเอาเองว่ามีแนวคิดสามอย่างที่ปะทะกันอยู่ภายในภาครัฐ ซึ่งเราสามารถทำความเข้าใจได้ผ่านวิธีที่รัฐมอง “ศัตรู” ของตนเอง (ดูนี่ครับ https://goo.gl/4nHf8v)

แต่ถ้าคิดจากมุมของขบวนการปาตานี สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 2556 เป็นต้นมาก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ปาตานีถูกผนวกรวมหรือให้ใกล้กว่านั้นคือตั้งแต่ขบวนการติดอาวุธก่อตัวขึ้นมาในช่วง 1960s พวกเขาไม่เคยได้รับการยอมรับสถานะอย่างนี้มาก่อน ไม่เคยมีคนกลางเป็นตัวแสดงอีกประเทศนึงอย่างเปิดเผยมาก่อน ความขัดแย้งได้สุกงอมและคลี่คลายตัวมาอย่างชนิดที่พวกเขาเองก็คงนึกไม่ถึง

ที่จริงแล้วก็รวมถึงผู้คนในสังคมด้วยเช่นกัน เราไม่เคยเจอประสบการณ์แบบนี้มาก่อน เราจึงประเมินกระบวนการพูดคุยแตกต่างกันไป ตัวผมเองก็ค่อยๆ เรียนรู้จากการอ่านและแลกเปลี่ยนกับผู้คนในความขัดแย้งอื่นๆ ว่าเขาทำกันอย่างไร การหาทางออกแบบนี้จริงๆ ก็ไม่ได้มีมาตรฐานอะไรมากมาย มันปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับเงื่อนไขและบริบทแวดล้อมของมัน ความรู้ในเชิงปฏิบัติแบบนี้ก็สะสมผ่านความสำเร็จและล้มเหลวจากกรณีศึกษาที่ทำกันจริงๆ ในสนาม

ประสบการณ์อันอ่อนด้อยของแต่ละฝ่ายนั้นเตือนให้ระลึกถึงอย่างหนึ่ง นั่นก็คือเราควรต้องใจเย็นและเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ของผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาทางออกที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่ายที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจอันเป็นมรดกของการรบราฆ่าฟันกันมาเป็นเวลานาน

ถึงอย่างนั้น โดยเนื้อแท้แล้วการพูดคุยก็เป็นการต่อสู้ต่อรองในอีกแบบหนึ่ง สิ่งที่ขบวนการต่อสู้ผู้ปรารถนาจะปลดปล่อยปาตานีควรคิดคำนวณก็คือจะฉวยใช้จังหวะโอกาสและทรัพยากรทางการเมืองที่สู้อุตส่าห์ “สะสม” มาเหล่านี้อย่างไร จะสร้างอำนาจต่อรองในสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร ผู้คนในปีกต่างๆ ของบีอาร์เอ็นควรต้องคิดใคร่ครวญอย่างจริงจังว่าในเวลาเช่นนี้ จะสร้าง “บาริซัน” ให้พร้อมสำหรับการต่อรองต่อจากนี้อย่างไร

เป็นโจทย์ที่พวกเขาต้องขบคิดครับ