Skip to main content

 

เรื่องราวของชาวปาตานีและขนมเบเกิล

 

 

ก่อนที่ผมจะเดินทางมาที่อเมริกา เคยเจอคนมลายูปาตานีที่มาทำงานที่นิวยอร์คอยู่บ้าง มีบังคนหนึ่งมาเปิดร้านขายเบเกอรี่และอาหารตะวันตกที่หาดใหญ่ใน มีคนรู้จักอีกพอสมควรที่เป็นลูกหลานของของปาตานีที่ในนิวยอร์ค ตอนนั้นก็มีคำถามว่า คนปาตานีมาทำอะไรที่มหานครที่ไม่มีวันหลับใหลแห่งนี้

ก่อนมาก็ติดต่อน้องๆที่รู้จักกันที่อยู่ที่นี่ ได้รับการตอบรับและต้อนรับที่อบอุ่นคนนึงชวนไปกินข้าวที่บ้าน น้องอีกคนก็เสนอให้ที่พัก สมความตั้งใจที่ผมอยากมารู้จักคนปาตานีที่นี่

ช่วงที่ไปนั่งคุยกัน ก็นั่งไต่ถามสารทุกข์สุขดิบของคนมลายูที่นี่ รวมถึงเหตุผลสำคัญของการมาที่นิวยอร์ค

น้องที่เป็นเจ้าภาพมื้ออาหาร เป็นนิวยอรค์เกอร์รุ่นสอง พ่อเป็นมลายูปาตานีที่มาทำงานที่นี่ตั้งแต่สามสิบปีที่แล้ว คุณพ่อของน้องแทบจะรู้จักคนมลายูทุกคนในนิวยอร์ค เราก็ฟังเรื่องเล่าจากน้องอย่างสนุก

-ในนิวยอร์ค

คนมลายูปาตานีในนิวยอร์คมีจำนวนคร่าวๆประมาณ 60-80 คน ไม่มีใครทำทะเบียนอย่างเป็นทางการไว้ บางคนมาแป็บๆก็หายไป บางคนก็อยู่ยาวนาน

คนรุ่นแรกๆที่มาที่นี่ก็มาตั้งแต่สามสิบสี่สิบปีก่อน ตอนนี้ก็เป็นวัยเกษียณ มีคนรุ่นใหม่อยู่ประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้นเอง

คนรุ่นแรกที่มาที่นี่ไม่แน่ใจว่าเป็นใคร และไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใด จึงได้เริ่มทำงานในร้านขายเบเกอรี่ชนิดหนึ่ง เรียกว่าขนม Begals จากคนรุ่นแรกก็คงมีการชักชวนเพื่อนฝูงญาติพี่น้องมาเรื่อยๆ คนมลายูปาตานีที่มาแสวงโชคที่นี่ต่างก็มาทำงานที่ร้านเบเกิลกันทั้งสิ้น โดยจะได้รับงานในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของร้าน นั่นคือ คนปั้นแป้ง งานที่ได้รับค่าแรงและอภิสิทธิ์สูงสุดในร้าน ครึ่งหนึ่งของนักปั้นเบเกิลในนิวยอร์คคือคนมลายูปาตานี

คนปาตานีที่นี่รวมตัวกันหลวมๆ ไม่มีสมาคม ไม่มีเครือข่ายที่แข็งแรง อาจะเพราะด้วยปัจจัยเรื่องจำนวนคนที่มา และเวลางานที่แตกต่างกัน ร้านเบเกิลส่วนใหญ่จะเปิดตลอดทั้งวันทั้งคืน จึงทำให้จะหาเวลาที่หลายๆคนว่างพร้อมๆกันได้ยาก

- จุดสูงสุดของโลกวัตถุนิยม --- เมืองเถื่อน

มหานครนิวยอร์คมีมนต์เสน่ห์ที่น่าสนใจหลายอย่าง ย่านแมนฮัตตันคือส่วนที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีตึกระฟ้ามากที่สุดในโลก ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก ย่านที่ทำเงินมากที่สุดในโลก แต่ภายใต้ความศิวิไลซ์เหล่านี้ มีสิ่งผิดกฏหมายขับเคลื่อนให้เมืองนี้เคลื่อนไหวตลอดเวลา อย่างน้อยๆคนมากหน้าหลายตา หลายสัญชาติที่นี่ เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

ชาติไหนคนบุกเบิกมาทำอาชีพอะไร คนเข้ามาทีหลังก็มักจะได้งานชนิดนั้นๆสืบทอดกันไปเรื่อยๆ

งานขายตั๋วทริปเที่ยวย่านแมนฮัตตันถูกครองโดยชาวโซมาเลีย

งานปั้นเบเกิลถูกครองโดยคนมลายู

ร้านขายโทรศัพท์ถูกครองโดยคนอินเดีย

คนไทยส่วนมากก็เกี่ยวข้องกับร้านอาหารไทย

ทั้งหมดนี้เป็นงานในภาคส่วนเล็กๆที่ชับเคลื่อนเมืองนี้ให้เคลื่อนไหว และไม่มีระบบใดๆการันตีความถูกต้องทางกฎหมายของคนที่มาที่นี่ได้ ดูเหมือนว่ารัฐก็ต้องหลับตาข้างหนึ่งให้สิ่งนี้เกิดขึ้น หากทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมายแล้ว เมืองก็อาจหยุดนิ่งได้เลย

ข้ามเมืองแมนฮัตตันไปนิดเดียว คือ The Bronx ย่านสลัมที่คนผิวสีอยู่กันมาก ไม่เคยมีใครรีวิวทริปเที่ยวในย่านนี้ ผมพยายามหาในพันทิป หรือในเว็บของฝรั่งยังไม่มี เพราะไม่ใช่ที่ที่ควรเข้าไปเที่ยวเลย ผมมาเห็นวิถีชีวิตของแอฟริกันอเมริกันในนิวยอร์ค ก็พอจะเข้าใจได้ว่ามุขเสียดสีคนผิวสีที่เคยได้ฟัง เช่น มุขคนผิวสีกับการปล้น กับความเกียจคร้าน กับกัญชาและยาเสพติด ทำไมถึงมีมุขแบบนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด (ลองตามอ่านตัวอย่างในเพจ คนดำทำธุรกิจ)

-มหานครนานาชาติ

ทุกวัฒนธรรมใหญ่ๆในโลก มีย่านของตัวเองในนิวยอร์คกันทั้งนั้น มีย่านไชน่าทาวน์ ไทยแสควร์ อินเดียนทาวน์ อาหรับทาวน์ โคเรียนทาวน์ เม็กซิกัน บลาๆ ส่วนชาติเล็กๆก็รวมตัวเฉพาะกิจ หรือหาวัฒนธรรมใกล้เคียงในการทำกิจกรรมร่วม

คนมลายูปาตานีไม่ร่วมกิจกรรมกับคนไทย จำนวนคนก็ไม่มากพอจะร่วมกิจกรรมกันเอง ช่วงเวลาที่พอจะรวมตัวได้บ้างคือวันอีดทั้งสอง ซึ่งก็ต้องไปรวมกันกับชาวอินโด ซึ่งอินโดมากันมากพอที่จะจัดตั้งมัสยิดได้ คนมลายูปาตานีที่นี่มาแบบคนไร้ญาติ มาตัวคนเดียว หรือมาเพียงครอบครัวเดียว วันอีดทั้งสองก็เป็นแค่วันธรรมดาวันหนึ่ง มาร่วมละหมาดกันเสร็จก็กลับบ้านไป

-กลับบ้าน

มลายูปาตานีทุกคนวาดหวังถึงการกลับบ้าน ไม่มีใครคิดจะลงหลักปักฐานในนิวยอร์ค เลยไม่มีใครทำกิจการอะไรใหญ่โตให้เป็นภาระเวลาจะจากลา แต่จำนวนไม่น้อนที่วาดฝันจะกลับบ้านก็ไม่ได้กลับซะที ต่ออายุงานของตัวเองไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็อยู่ที่นี่นับสิบๆ ปี