Skip to main content

13 ปีกับการจากไปของ “ทนายสมชาย นีละไพจิตร”

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

ถนนจุฬาลงกรณ์ 12 ข้างโรงแรมปทุมวันปรินเซส ศูนย์การค้า MBK เขตปทุมวัน คืออาคารคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนี้มีสะพานทางเดินลอยฟ้าหรือสกายวอล์คทอดผ่านหน้าอาคารไปตลอดแนว เดินบนสะพานผ่านหน้าคณะสหเวชศาสตร์เห็นห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ “สมชาย นีละไพจิตร” จากด้านนอกได้อย่างชัดเจน

ห้องปฏิบัติการนี้มีคอมพิวเตอร์จำนวน 30 ชุด จัดสร้างขึ้นใน พ.ศ.2548 จากเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาจำนวน 1,310,282 บาท เพื่อรำลึกถึงเพื่อนคนหนึ่งของผมคือทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งหายสาบสูญไปในปีก่อนหน้านี้ ห้องปฏิบัติการเปิดใช้งานในวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ผู้เป็นประธานในพิธีเปิดคืออาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีตรองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับศาสตราจารย์ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมเป็นคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ 8 ปีตั้งแต่ พ.ศ.2543-2551 ดำรงตำแหน่งสมัยแรกได้เพียงสองสัปดาห์ เดือนกันยายน 2543 เกิดคดีดังนิสิตคณะสหเวชศาสตร์คนหนึ่งถูกตั้งข้อหามียาบ้าในครอบครอง 1 เม็ด กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ผมในฐานะคณบดีนำนิสิตต่อสู้คดีในชั้นศาลโดยติดต่อสภาทนายความให้ส่งทนายสมชาย นีละไพจิตร เข้ามาช่วยเหลือ ทำคดีกันยาวนานตั้งแต่ปลาย พ.ศ.2543 จนถึง กลาง พ.ศ.2545 ความเก่งกาจของทนายสมชายในการสืบพยานฝ่ายจำเลยและการหักล้างพยานฝ่ายโจทย์เป็นมหากาพย์ที่คนเรียนกฎหมายควรได้เรียนรู้ไว้ คดีสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ซึ่งยกฟ้องนิสิตตามศาลชั้นต้น

คุณสมชายเป็นทนายความนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยระหว่างนั้นเป็นทนายให้กับผู้ต้องหาคดีแบ่งแยกดินแดนภาคใต้หลายราย จนกระทั่งวันที่ 12 มีนาคม 2547 ทนายสมชายถูกอุ้มหายไปในยามดึกบนถนนรามคำแหงกลายเป็นบุคคลสาบสูญตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ เพื่อร่วมรำลึกถึงคุณสมชายรวมทั้งเพื่อร่วมตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมที่ยังคงอยู่ในสังคม ผมรวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาซึ่งมีทั้งอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา พี่ดำรง พุฒตาล บริษัท พาราไซแอนติฟิค บริษัทโอสถสภา บริษัทโอลีน รวมทั้งจากครอบครัวดะห์ลันจัดทำเป็นห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ “สมชาย นีละไพจิตร” ซึ่งเป็นคนที่ชาวคณะสหเวชศาสตร์ และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เคยลืม

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2560 ที่จะถึงนี้ คุณสมชายจะหายไปครบ 13 ปี สังคมยังลงโทษผู้ก่อกรรมต่อคุณสมชายไม่ได้เลยแม้แต่รายเดียว นั่นคือช่วงเวลายาวนานสำหรับความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับทนายสมชายและครอบครัวนีละไพจิตร รวมทั้งกับสังคมไทยทั้งสังคม

เดินบนทางเดินลอยฟ้าผ่านหน้าคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเข้าไปที่ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมชาย นีละไพจิตร เมื่อได้เห็นขอช่วยกันตั้งจิตรำลึกถึงคุณความดีของทนายความนักต่อสู้ ผู้ที่ทำงานตรากตรำโดยบ่อยครั้งไม่ขอรับค่าตอบแทนให้กับสังคมผู้นี้ ร่วมกันจดจำเขาไว้ ขอสังคมอย่าได้ลืมคนดีอย่างเขา