Skip to main content

 

โอกาสของบัณฑิตไทยในการทำงานภาคธุรกิจ Shared Services and Outsourcing ในมาเลเซีย[1]

 

อรชา รักดี[2] ธวัช นุ้ยผอม[3] สุทธิศักดิ์ ดือเระ[4]

 

ธุรกิจให้บริการบริหารธุรกิจและการจัดจ้างจากภายนอก (Shared Services and Outsourcing-SSO) เป็นการจัดการองค์กรสมัยใหม่ที่ทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุนในการดำเนินการ โดยอาจจัดจ้างองค์กรภายนอกหรือการให้หน่วยงานภายในบริษัทดำเนินการภาระงานที่ซ้ำซ้อน เช่น งานลูกค้าสัมพันธ์ งานการเงินบัญชี ฝ่ายบริการลูกค้า เป็นต้น ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ง่ายที่สุดของ SSO คือ บริการCall Center ของบริษัทต่างๆ เช่น แอปเปิล ซัมซุง ฟูจิซีร็อก รูปแบบของกิจกรรม SSO ได้ทวีความสำคัญและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น และนำไปสู่ความพยายามย้ายฐานการเป็นผู้ให้บริการ SSO ไปยังต่างประเทศ รวมถึงประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์ให้อุตสาหกรรมการให้บริการเป็นหนึ่งในกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญของชาติ อันจะนำไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (high income economy) โดยการสนับสนุนและร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

จากการจัดอันดับโลกเมื่อปี 2016 มาเลเซียได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่สามของโลกในประเภทที่ตั้งการให้บริการระดับโลกของภาคธุรกิจการให้บริการธุรกิจ ซึ่งเป็นอันดับที่ได้รับติดต่อกันมานานกว่าสิบปี เป็นรองเพียงแต่ประเทศจีนและอินเดียตามลำดับ และในปี ค.ศ. 2014 ยังได้รับการคัดเลือกและจัดอันดับให้เป็นประเทศจุดหมายปลายทางดีเด่นของธุรกิจ SSO ในประเภทธุรกิจให้บริการจากต่างประเทศ (offshoring) การก้าวขึ้นสู่อันดับสามของโลกของมาเลเซียนั้นมาจากจุดแข็งของการมีสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประชากรพูดหลากหลายภาษา และการเมืองที่มีเสถียรภาพ รวมทั้งความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ตามจากข้อจำกัดด้านจำนวนประชากรของมาเลเซียซึ่งมีประมาณสามสิบล้าน ทำให้ความสามารถในการป้อนแรงงานเข้าสู่ภาคธุรกิจ SSO มีอย่างจำกัด ประกอบกับธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องการเจ้าของภาษาในการให้บริการลูกค้า บริษัทต่างชาติจึงต้องอาศัยการนำเข้าแรงงานข้ามชาติที่มีความรู้ความสามารถจากประเทศอื่นๆ เพื่อลดปัญหาและจุดอ่อนในประเด็นดังกล่าว

 บัณฑิตไทยจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปมาเลเซียเพื่อไปเป็นพนักงานคนไทยในภาคธุรกิจ SSO ที่มาเลเซีย จากการศึกษาพบว่า กว่าครึ่ง (ร้อยละ 50.8) ที่เป็นพนักงานคนไทยในภาคธุรกิจ SSO เป็นบัณฑิตจากจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และที่เหลือมาจากจังหวัดอื่นๆ เช่น สงขลา สตูล นครราชสีมา ขอนแก่น กรุงเทพฯ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ให้บริการในฝ่ายบริการลูกค้าและการสนับสนุนทางเทคนิค คอยรับสายโทรศัพท์ลูกค้าจากประเทศไทยเมื่อลูกค้ามีปัญหา พนักงานคนไทยเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 3,001-4,000 ริงกิต และมีรายได้อื่นๆต่อปีเฉลี่ย 3,000 ริงกิต มีการส่งเงินกลับบ้านประมาณ 1,000 ริงกิตต่อเดือน

คุณสมบัติที่สำคัญที่เป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจนี้ คือ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในสาขาใดก็ได้ สามารถพูดภาษาไทยได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษในระดับการสื่อสารได้เนื่องจากการฝึกอบรมและการสื่อสารในองค์กรเป็นภาษาอังกฤษ มีความซื่อสัตย์ มีจิตบริการ และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี หากพูดภาษาอื่นๆได้ เช่น อาหรับ มาเลย์ ก็จะยิ่งมีความพิเศษ เมื่อพิจารณากระบวนการสมัครเข้าทำงานในบริษัทของภาคธุรกิจ SSO พบว่าจะเน้นประกาศรับสมัครภายในบริษัทเป็นลำดับแรก โดยอาศัยเครือข่ายพนักงานคนไทย ซึ่งมักจะสมัครผ่านเพื่อน หรือ ญาติที่ทำงานอยู่ในบริษัท แต่เมื่อบริษัทยังไม่สามารถหาผู้ที่เหมาะสมได้บริษัทก็จะเปิดรับสมัครภายนอก โดยอาจรับสมัครเอง หรือ ใช้บริษัทนายหน้ารับสมัครงาน ทั้งนี้การสมัครงานทำได้โดยการส่งประวัติส่วนตัวผ่านคนไทยที่ทำงานในภาคธุรกิจSSOในมาเลเซีย หรือ ส่งผ่านเวปไซต์จัดหางาน เช่น Jobstreet.com.my ของประเทศมาเลเซีย หรือ JobDB.com ในประเทศไทยหรือเข้าดูข้อมูลประกาศงานตำแหน่งพนักงานคนไทยในเวปไซต์ของบริษัทในภาคธุรกิจ SSO โดยตรง ซึ่งจะผ่านกระบวนการทดสอบภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และความรู้เฉพาะตำแหน่งในที่สุด

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า โอกาสของแรงงานไทยในธุรกิจ SSO ยังคงเปิดกว้าง เพราะนโยบายของประเทศมาเลเซียก็ดี นโยบายของบริษัทในภาคธุรกิจ SSO ก็ดี รวมถึงกฎหมายของมาเลเซียเองก็ดีไม่ได้ปิดกั้นการเข้าไปทำงานของแรงงานที่มีฝีมือจากต่างชาติ แต่ปัญหาประการสำคัญที่พบนอกจากด้านภาษาอังกฤษของแรงงานชาวไทยแล้ว ยังพบว่า แรงงานชาวไทยในภาคธุรกิจนี้ยังขาดความรู้และความเข้าใจในกฎหมายแรงงานและกฎระเบียบใหม่ๆ โดยเฉพาะกฎระเบียบเกี่ยวกับภาษี ที่แรงงานจะถูกหักร้อยละ 28 ต่อเดือนหากไม่มีสถานะผู้พำนักที่มีถิ่นอาศัยอยู่ถาวร (resident status) นอกจากนี้แรงงานชาวไทยยังขาดความรู้ในนโยบายใหม่ของมาเลเซียที่เรียกว่า Cooling Off Period ที่ต้องให้แรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 ริงกิต เมื่อใบอนุญาตทำงาน (Employment Pass)ที่ได้รับเป็นเวลา 1 ปีหมดอายุลง ต้องเว้นระยะการทำงานในมาเลเซียเป็นเวลา 3 เดือน จึงจะสามารถสมัครเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียได้ใหม่

หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่า โอกาสสำหรับบัณฑิตไทยที่จะไปเป็นแรงงานข้ามชาติในภาคธุรกิจ SSO ของมาเลเซียยังคงมีความหวังและโอกาส หากแต่แรงงานชาวไทยควรได้รับการอบรมความรู้ด้านกฎหมายแรงงานและกฎระเบียบต่างๆ ในธุรกิจ SSO ซี่งอาจกระทำผ่านหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของทูตแรงงาน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ หรือกลุ่มแรงงานในธุรกิจด้าน SSOที่อาจรวมกลุ่มในรูปแบบชมรมหรือสมาคม นอกจากนี้แรงงานชาวไทยต้องพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษและทักษะการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อพัฒนาทักษะความสามารถ และแก้ปัญหาต่างๆได้แล้ว เชื่อได้ว่าโอกาสที่บัณฑิตไทยจะเคลื่อนย้ายไปทำงานในภาคธุรกิจ SSO ในมาเลเซียย่อมมีมากขึ้น ท้ายที่สุดนอกจากจะลดปัญหาภาวะการว่างงานในประเทศได้ทางหนึ่งแล้ว เม็ดเงินที่ได้จากการส่งเงินกลับบ้านของแรงงานไทยย่อมเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในที่สุด



[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย โอกาสของแรงงานข้ามชาติไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : การวิจัยสำรวจธุรกิจ Shared Services and Outsourcing ในมาเลเซีย ได้รับทุนสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งความเห็นในบทความนี้เป็นของผู้วิจัย วช. สกว. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

[2] อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

[3] อาจารย์ประจำ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

[4] อาจารย์ประจำ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์