Skip to main content

               วันที่ 30 กรกฎาคม 2559 เวลา 8.30 นาที  เป็นเวลานัดหมายในการลงพื้นที่เพื่อวาดแผนที่เดินดิน โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักๆคือ วาดแผนที่เดินดินในชุมชนและ ตามหาผู้ที่สามารถสอนมโนราห์และเล่นมโนราห์ได้  การลงพื้นที่ครั้งนี้ เราใช้รถยนต์พาเยาวชนลงชุมชนตำบลยุโป เพราะระหว่างทางจากโรงเรียนถึงตำบลยุโปเป็นพื้นที่สีแดง อีกทั้งระยะทางไกล จึงเปลี่ยนแผนจากการเดินเป็นการขึ้นรถยนต์แทน แต่ยังยืนยันคอนเซปเดิมคือ เยาวชนจะต้องเดินเข้าหาชุมชนเพื่อสอบถามเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมโนราห์และตามหาผู้ที่สอนและผู้รู้เกี่ยวกับมโนราห์ให้ได้  และเหมือนโชคจะเข้าข้างเพราะได้พบกับครูจรัส ทองอินทร์ และ ครูละม้าย รามแก้ว  เป็นครูสอนมโนราห์ในตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จึงทำให้วัตถุประสงค์ที่วางไว้ไม่ยากเกินเอื้อม

ยุคครูช่วง ผู้กำเนิดโนราห์ในตำบลยุโป

ครูช่วง หรือชาวบ้านทั่วไปจะรู้จักในนาม  คณะช.เจริญศิลป์ โดยพื้นเพครูช่วงเป็นคนอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และเป็นครูคนแรกที่กำเนิดมโนราห์ในตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

ก่อนที่ครูช่วงจะเสียชีวิต

ครูช่วงย้ายเข้ามาอาศัยในพื้นที่ ตำบลยุโป ก็มีลูกศิษย์ที่เข้ามาร่ำเรียน และ ฝึกฝนการรำมโนราห์ โดยลูกศิษย์คนแรกของครูช่วงคือ ครูเจริญ หนูเงิน อายุประมาณ 80 ปี พื้นเพก็เป็นคนอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาเช่นกัน 

เมื่อครูเจริญ ได้ร่ำเรียนวิชามโนราห์จนชำนาญ ก็ได้เปิดการสอนรำมโนราห์ให้กับผู้ที่มีความสนใจ ความรัก ความสัมพันธ์ทางสายเลือดเกี่ยวข้องกับมโนราห์ โดยศิษย์รุ่นแรกของครูเจริญ ก็จะมี ครู จรัส ทองอินทร์  ครูละม้าย รากแก้ว ครูเพียร ทองอินทร์ ครูสงวน ล่วนทอง ครูสมศรี หน่อทองและ ครูติ้ม แสนสุข ซึ่งท่านที่ถูกกล่าวมานี้ เป็นครูที่อยู่ในตำบลยุโป

 

ครูเจริญ หนูเงิน(ครูที่นั่งอยู่บนเก้าอี้) 

ยุคปัจจุบัน มโนราห์ ตำบลยุโป

                ปัจจุบันครู จรัส ทองอินทร์ และ ครูละม้าย รากแก้ว หรือ ชาวบ้านจะรู้จักในนาม คณะ จรัส- ละม้ายศิลป์ ได้สอนเยาวชนในหมู่บ้าน และ นักเรียนจากโรงเรียนในตัวเมือง เข้ามาร่ำเรียนและฝึกร่ำ จนประสบความสำเร็จหลายคน ได้แก่ ครูมานะ ป.ปาน เคยเป็นคุณครูโรงเรียน อนุบาลยะลา และ ครูศิษดา สุวรรณมณี ที่สามารถถ่ายทอดการรำมโนราห์ที่มีแบบฉบับของตำบลยุโปได้ และการสอนมโนราห์ในตำบลยุโปมีมาแล้ว 50 ปี ตั้งแต่รุ่นครูช่วงจนถึงรุ่นครูจรัสมีศิษย์ที่เข้ามาร่ำเรียน ประมาณ 50 คนและศิษย์ที่อายุน้อยที่สุด อายุ 4 ขวบ

ครู จรัส ทองอินทร์(ใส่เสื้อขาว) และ ครูละม้าย รากแก้ว(เสื้อดำลายดอกไม้อยู่ใกล้กับครูจรัส)

 

คณะจรัส- ละม้ายศิลป์

คณะจรัส- ละม้ายศิลป์ ได้ทำการแสดงในสามจังหวัดไม่ว่าจะเป็น งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานแก้บ่น เป็นต้น ซึ่งงานแต่ละงานจะมีกรอบของพิธีกรรมประกอบในการแสดงนั้นด้วย และทุกๆปีก็จะมีการจัดงานไหว้ครูหรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า วันครอบครู  จัดขึ้นที่บ้านของครูจรัส ทองอินทร์              

                การลงพื้นที่ของเด็กๆคราวนี้นอกจากได้รู้เกี่ยวกับที่มา ที่ไปของประวัติศาสตร์มโนราห์แล้ว สามารถวาดแผนที่เดินดินในตำบลยุโป ปักหมุดบ้านของชาวบ้านที่สามารถเล่นมโนราห์ และ บ้านของครูมโนราห์ในชุมชนได้อีกด้วย

  อีกทั้งการทำแผนที่เดินดินของเยาวชนครั้งนี้ มีครูจรัสและครูละม้ายช่วยกันเพิ่มเติม ซึ่งท่านทั้งสองได้เชิญชวนให้เยาวชนเข้ามาเรียนรู้พิธีกรรมการครอบครูมโนราห์ที่จะมีขึ้นวันที่ 20 สิงหาคม 2559

สรุปคือ

มโนราห์ในตำบลยุโป ต้นกำเนิดมาจากอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา นำโดยครูช่วง แล้วนำมาสอนในตำบลยุโป  ต่อมาก็จะเป็นรุ่นครูเจริญ และปัจจุบันก็เป็นรุ่นครูจรัส กับครูละม้าย ที่ยังเป็นผู้สอนแก่เยาวชนและเด็กที่สนใจในการร่ำเรียนมโนราห์ นับเป็นการถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น ที่ท่านหวังว่า มโนราห์ยุโปจะขยายให้เป็นวงกว้างเพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้สืบทอดต่อไป