Skip to main content

 

สันติอาสาสักขีพยาน
 

                “เพื่อนที่จากเราไป เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา เป็นเพื่อนที่พึ่งพาได้จริง ละหมาดไม่เคยขาด เจ้าหน้าที่ทำเหมือนเราเป็นไก่ เป็ด พวกเรายังรู้สึกโกรธเคือง ฉะนั้นการดำเนินคดีบนชั้นศาลขณะนี้ ก็หวังว่า คนที่กระทำผิด ก็ต้องว่ากันไปตามผิด มิเช่นนั้นประเทศก็จะแย่”นายรุสลัน แปเฮาะอีเล อายุ 18 ปีบริบูรณ์ เผยความรู้สึกที่เขาและเพื่อนทั้งหมด 10 คน ถูกทหารยิงจนเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 3 คน ขณะที่พวกเขายังเป็นเด็กและกำลังเล่นซ่อนหาบริเวณถนน 412 บ้านบานา ม.2 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อค่ำคืนวันที่ 13 เมษายน 2550  ซึ่งชาวบ้านสามารถล้อมจับเจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 4 นาย ได้ในที่เกิดเหตุ

 

                เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ถึงความคืบหน้ากรณีบ้านบานา เหตุการณ์ทหารยิงเด็ก เมื่อ 3 ปี ที่แล้ว ว่าการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดนั้นเป็นอย่างไร เมื่อระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 6 คน ที่ศาลทหารบกปัตตานี ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายอิงคยุทธบริหาร และวันที่ 22-24 มิถุนายนนี้ จะมีการซักค้าน 6 คน ดังกล่าวจากทนายฝ่ายจำเลย ซึ่งศาลทหารนั้นเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าปสังเกตการณ์หรือรับฟังในศาลได้

 

                เมื่อได้พบปะและพูดคุยกับเด็กที่ประสบกับ เหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญในวันนั้น ซึ่งพวกเขายังคงติดใจ และตาตรึงกับภาพเหล่านั้น อย่างไม่วันลืมเลือน จึงมีคำถามกับรัฐและภาคประชาสังคม เกี่ยวกับ การเยียวยาจิตใจ และการดูแลเด็กเหล่านี้อย่างไรบ้าง เพราะหลายคนไม่ได้รับการศึกษา น่าห่วงใยเรื่องทัศนคติและความรู้สึกของเด็ก ๆ ที่กำลังเติบโตในอนาคต

 

                “ทุกครั้งที่เดินผ่านก็จะนึกถึงภาพเหตุการณ์ในวันนั้น และรู้สึกหวั่นๆ บอกไม่ถูก” รุสลันย้อนความรู้สึกเดิมที่ยังคงมีอยู่ และหลังจากเหตุการณ์ 3 ปี แล้ว เขาก็ไม่ค่อยออกไปที่ตลาดนอกบ้านในตอนค่ำคืนอีก หากจะออกก็เพียงแค่ไปที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้านเท่านั้น

 

                ในขณะที่พ่อของเขา นายแวรอมลี แปเฮาะอีเล ก็ยังมีอาการหวาดผวากับเหตุการณ์ในวันนั้น เขาเล่าว่า ในคืนเกิดเหตุ ตนกำลังกินข้าวอยู่ และได้ยินเสียงปืน ก็รีบสั่งให้ภรรยาโทรหาลูก แต่เมื่อลูกรับโทรศัพท์ก็พูดเสียงสั่น จึงสั่งให้ภรรยาบอกลูกให้กลับบ้านทันที เมื่อลูกกลับมาถึงบ้าน มีอาการช็อค และพูดอะไรไม่ได้ จึงให้ลูกเข้าไปนอนก่อน รุ่งเช้าจึงให้ลูกเล่า ทำให้ทราบว่า ขณะนั้น(คืนเกิดเหตุ)ลูกกำลังซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ ได้มีทหารขับรถมา และยิงขึ้นฟ้า 3 นัด แล้วทหารพูดว่า “จับตาย” และลูกของตนและเด็กคนอื่นจึงพากันวิ่งกลับบ้าน

 

                อาการหวาดผวาที่เกิดขึ้น นายรอมลี บอกว่า 3- 4  เดือนแรกก็ไม่กล้าขับรถผ่านในที่เกิดเหตุ กระทั่ง 3 ปี แล้ว หากได้ขับรถหรือเดินผ่านที่เกิดเหตุแล้ว รู้สึกหวั่นวิตกว่า อาจจะมีเหตุการณ์ลักษณะในวันนั้นเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า และความวิตกกังวลต่อลูก หาก รุสลัน ออกจากบ้านกลางคืน เขาก็จะไม่นอน จนกว่ารุสลันจะกลับมาถึงบ้านก่อน หรือหากลูกไปนอนที่บ้านเพื่อน ก็จะโทรหาเขาตลอด

 

                ทั้งนี้การจัดการของชุมชนในวันนั้น  หลังจากที่ชาวบ้านล้อมจับเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดทั้ง 4 นายแล้ว ก็มีการเจรจาโดยมี นายมะรูดิง เจะกา สท.เทศบาลเมืองปัตตานีในฐานะตัวแทนชุมชน ได้เสนอข้อเรียกร้องให้ทางราชการ และผู้ว่าจังหวัดปัตตานี ในขณะนั้น นายภานุ อุทัยรัตน์ ได้รับข้อเรียกทั้งหมด  4 ข้อ คือ
       1.ให้ ผอ.ศอ.บต.  แม่ทัพภาคที่ 4  ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบในการเจรจา โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นสักขีพยาน
       2. ให้ทหารที่ก่อเหตุชี้แจงและกล่าวโทษ ยอมรับสารภาพว่าได้กระทำเกินเหตุจริง
       3.ให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุและย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 3 วัน เพื่อเป็นตัวอย่างและปกป้องเหตุที่อาจเกิดขึ้นในลักษณะนี้อีก เนื่องจากทหารชุดดังกล่าวไม่มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่จะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 
       4.ให้เยียวยาและชดเชยค่าเสียหาย ต่อครอบครัวผู้สูญเสีย ช่วยเหลือการศึกษาและการประกอบอาชีพให้               

                แต่ รุสลัน เผยถึงข้อ 4 ว่า 3 ปีที่ผ่าน ตนและเพื่อนไม่ได้รับทุนการศึกษาเลย และปีนี้ตนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ก็กำลังทำเรื่องเพื่อขอทุนการศึกษา และต้องการให้รัฐช่วยเรื่องอาชีพให้ครอบครัวของตนและเพื่อน ๆ

                “อยากให้ข้อตกลงที่ผู้ใหญ่ตกลงกันวันนั้นได้รับการตอบสนอง อย่างกรณีเรื่องทุนการศึกษา 3 ปี ที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะมีคนบอกว่า ต้องมีการยื่นเอกสารประกอบมากมายเราก็ไม่ได้ไปยื่น และวันนี้ผมจะเข้ามหาลัย ผมจึงอยากให้ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่เฉพาะตนเท่านั้น น้อง ๆ ทุกคนของผมควรจะได้รับเหมือนกัน และเรื่องอาชีพของครอบครัวก็ไม่ได้รับการดูแลตามข้อตกลงการเจรจา”

                อย่างไรก็ตาม ด้านมะกอเซ็ง ดาโอ๊ะ อายุ 20 ปี เผยความในใจว่า

 

                 “ ความจริงแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับการเจรจาของผู้ใหญ่ที่มีการรับเงิน และดูเหมือนเรื่องทั้งหมดก็จบลงไป เพราะเงินได้รับมาไม่นานก็หมด ผมมองว่า คนที่กระทำผิดควรจะได้รับบทลงโทษเหมือนเพื่อนของผม”

                ทั้งนี้เมื่อดูความรู้สึกของพวกเขาต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ยังคงโกรธเคืองมาก จนมีคำหนึ่งจากหลายๆ ปากของพวกเขาว่าเพื่อนซึ่งสนิทมาตั้งแต่เด็ก ๆ 14 ปีที่วิ่งเล่นกัน และถูกยิงด้วยปืนของทหาร ทั้งที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไร และเป็นคนดีด้วย  “ชีวิตก็ต้องแลกด้วยชีวิต”

                สังคมควรรับผิดชอบอย่างไรกับเด็ก ๆ เหล่านี้ เพราะเด็กๆที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ทั้งหมด 8 คน แต่ที่เห็นความสำคัญในการศึกษามีเพียง 3 คน นอกนั้นก็ไปมาเลเซียและอยู่ที่บ้านเฉย ๆ  แต่พวกเขาต้องเติบโตด้วยอารมณ์ที่แค้นเคือง สังคมควรต้องทำอะไรบางอย่าง มิเช่นนั้น จะเป็นระเบิดเวลาที่น่ากลัว  อย่าง น้องซาการียา สะแลแม (อิบนีอามีน) ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ขานั้น เมื่อถามความรู้สึก เขาบอกว่า เฉย ๆ  ไม่ได้กลัวอะไรแล้ว แต่เมื่อถามพ่อของเขา กลับบอกว่า

                                 “แม้ว่าลูกจะให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้รู้สึกกลัว หรือโกรธอะไรแล้ว ความจริงแล้ว ความแค้นถูกเก็บลึกอยู่ข้างใน แต่ไม่ค่อยได้บอกหรือเล่า ลูกอาจจะยังเด็กมาก หากโตเป็นผู้ใหญ่อาจจะดีขึ้น กว่าจะให้ลุกกลับไปเรียนต่อก็ต้องปลอบใจอยู่นาน”  

               

                ทางด้าน แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 บอกว่า กรณีของซาการียา อิบนีอามีน เป็นคนไข้ของหมอจิตเวช เพราะมีอาการที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากใช้ยาเสพติดด้วย และตามหลักการแล้ว เด็กที่ได้รับผลกระทบเป็นวัยที่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้คุยกับคุณพ่อตลอด  

                เนื่องจากกรณีนี้ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การเยียวยา ที่ผ่านมาจึงไม่มีทุนการศึกษา เว้นแต่การชดเชยเงินเยียวยา โดยผ่านคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อประสานการติดตามส่วนทุนการศึกษานั้น ขณะนี้ทางภาครัฐได้ลงมติ กรณีบานา เป็นกรณีพิเศษเพื่อให้การดูแลต่อไป ทั้งนี้หากบุคคลไหนต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก็สามารถส่งเรื่องได้ทันที