Skip to main content

ยาสมิน ซัตตาร์

นับตั้งแต่วันที่  7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อิสราเอลได้เปิดฉากการโจมตีเข้าไปยังเขตกาซ่าอย่างต่อเนื่อง กระทั่งส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตจนถึงวันนี้ (25 กรกฎาคม 2014) จำนวนทั้งสิ้น 836 คน ในที่นี้มีเด็ก 201 คน ผู้หญิง 99 คน และ คนชรา 52 คน นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 5,400 ราย ขณะที่ฝ่ายอิสราเอลมีการสูญเสียเช่นเดียวกันแต่ในจำนวนที่น้อยกว่า คือ 35 คน โดยที่ 33 คนเป็นทหาร 2 คนเป็นประชาชนทั่วไป[1]

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นความเศร้าเสียใจและความโกรธจากกลุ่มมุสลิมที่กระจายอยู่ทั่วโลกเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีการต่อต้านและมองว่าการกระทำของอิสราเอลครั้งนี้เป็น “อาชญากรรมสงคราม” เพราะมีการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน โดยไม่เลือกเป้าหมายไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน มัสยิด หรือแม้แต่โรงพยาบาล นอกจากนั้นยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง ที่มีผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ แม้ว่าจะมีการอ้างจากอิสราเอลว่าการโจมตีของตนตั้งอยู่บนฐานของความชอบธรรมในการปกป้องตนเอง เนื่องจากอ้างว่าฝ่ายทหารของฮามาสเป็นผู้ที่เริ่มเปิดฉากความรุนแรงครั้งนี้ก่อน แม้ว่าจะมีสื่อหลายส่วนเช่นกันที่อ้างว่าฮามาสไม่ได้เป็นฝ่ายที่เริ่มปฏิบัติการครั้งนี้ก่อน ดังนั้น จึงยังคงมีความไม่ชัดเจนในการเริ่มต้นของความรุนแรงครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่มีปัญหาระหว่างกันมานับตั้งแต่อดีต เมื่อการก่อตั้งรัฐอิสราเอลได้เข้ามาในสถาปนาในแผ่นดินที่มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ด้วยความช่วยเหลือจากชาติมหาอำนาจในสมัยนั้น หลังจากสถาปนารัฐแล้ว ก็มีการรุกล้ำพื้นที่อาศัยของชาวปาเลสไตน์เดิม จนก่อให้เกิดผู้ลี้ภัย และส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงหลายครั้ง จนมีผู้บริสุทธิ์ชาวปาเลสไตน์ที่ต้องรับผลกระทบจากเหตุการณ์เกิดขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายครั้งนี้ นำไปสู่ปรากฏการณ์สองอย่างที่น่าสนใจในโลก คือ กระแสของการสนับสนุนแต่ละฝ่ายในโลกออนไลน์ จนเกิดเป็น “สงครามทางอินเตอร์เน็ต” และ กระแสการเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่ที่ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อเรียกร้องให้อิสราเอลหยุดการโจมตี

ในโลกยุคปัจจุบันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า โซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ มีส่วนสำคัญต่อการบริโภคสื่อของคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง การรับข้อมูลและแชร์ต่อข้อมูลเหล่านั้นเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยที่หลายครั้งยังไม่ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ฉะนั้นแล้ว อาจกล่าวได้ว่าแหล่งข้อมูลนี้ถือว่ามีความน่าเชื่อถือในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ผลของข้อมูลจากช่องทางเหล่านี้กลับแพร่ขยายและมีอิทธิพลในระดับสูง เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ แม้ว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้ส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงเช่นเดียวกับกรณีของอาหรับสปริง หากแต่ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้กลับมีผลสะเทือนต่อโลกออนไลน์ขยายออกไปทั่วโลก สำนักข่าวอัลจาซีร่า ระบุว่า ทั้งฝ่ายของอิสราเอลและฝ่ายฮามาส ล้วนแล้วแต่โซเชียลมีเดียเพื่อทำการเผยแพร่ข้อมูล รูปภาพและวิดีโอของฝ่ายตน เมื่อพิจารณาจากการติดป้ายชื่อของคำเพื่อการค้นหาในทวิตเตอร์จะเห็นว่ามีการใช้คำว่า #GazaUnderAttack มากกว่าสี่ล้านครั้ง ขณะที่ #IsraelUnderFire ถูกใช้เพียงสองแสนครั้ง [2] การนำเสนอข้อมูลต่างๆ ล้วนแล้วแต่สร้างให้เกิดการเสพสื่อของมวลชนแต่ละฝ่าย กระทั่งขยายผู้สนับสนุนคู่ขัดแย้งครั้งนี้ออกไปทั่วโลก แง่หนึ่งไม่แปลกที่เหตุการณ์ปาเลสไตน์และอิสราเอลจะเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมาก เนื่องจากความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นปัญหาหลักของคาบสมุทรอาหรับและโลกมุสลิมเป็นเวลานานมาแล้ว การต่อสู้ที่มีมาช้านานที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยด้านอาวุธของชาวปาเลสไตน์เมื่อต่อกรต่ออิสราเอลแล้ว จึงทำให้เกิดความเห็นใจ สำนึกชอบธรรมที่ไม่ใช่มีเพียงแต่เฉพาะมุสลิมที่มีสำนึกของความเป็นประชาชาติเดียวกันเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผู้ที่ต้องการจะรักษาไว้ซึ่งสิทธิพื้นฐานของมนุษย์นั่นคือสิทธิในการดำรงชีวิต อยู่ ด้วยเหตุนี้การเผยแพร่ข้อมูลและให้การสนับสนุน จึงกระจายอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ รูปภาพโปรไฟล์ของหลายคน โดยเฉพาะมุสลิมทั่วโลกถูกปรับเปลี่ยนเป็นรูปธงชาติปาเลสไตน์หรือสัญญะต่างๆที่สื่อถึงปาเลสไตน์

ไม่เพียงแต่ในโลกออนไลน์เท่านั้น ปฏิกิริยาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้หยุดความรุนแรงครั้งนี้ยังกระจายออกมาสู่การปฏิบัติจริงในทั่วโลก วิธีการที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการประท้วงในพื้นที่ต่างๆ ด้วยความสงบ โดยพื้นที่ที่ออกมาประท้วงอาจเป็นหน้าสถานทูตอิสราเอลหรือบริเวณที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของแต่ละพื้นที่เพื่อที่จะเสนอออกสู่สื่อได้ว่าไม่ต้องการให้เกิดการทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กลุ่มที่ออกมาประท้วงนั้น ไม่ใช่มีเพียงแต่ชาวมุสลิม หากแต่รวมถึงศาสนาอื่นๆและชาวยิวเอง ที่ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการครั้งนี้ หลายครั้งที่การประท้วงมาพร้อมกับการแสดงสัญญะต่างๆ เช่น แกล้งนอนเหมือนศพแล้วเขียนประกอบว่าเดินผ่านไปเถอะ ฉันเป็นคนปาเลสไตน์ไม่ต้องสนฉัน การจุดเทียนแล้ววางเป็นรูปสัญลักษณ์สันติภาพพร้อมคำว่ากาซ่า การลดธงครึ่งเสาเพื่อแสดงการไว้อาลัย หรือ การเผาธงชาติของอิสราเอล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการออกวิดีโอแคมเปญเพื่อรณรงค์ให้หยุดการฆ่า เช่น วิดีโอที่มีเด็กๆชาวดัทช์แสดงเป็นเด็กๆชาวปาเลสไตน์ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ พร้อมด้วยสโลแกนที่ว่า เราไม่อยู่ที่นี่แล้ว คุณสนใจบ้างมั้ย? (http://www.youtube.com/watch?v=w84oEbtZOHU ) ขณะเดียวกัน การออกการ์ตูนล้อเลียนทางการเมืองที่สะท้อนถึงความอยุติธรรมของสื่อ และองค์กรระหว่างประเทศในการบิดเบือนหรือไม่จัดการประเด็นความรุนแรงนี้อย่างจริงจัง บางพื้นที่ยังมีการบอยคอตสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของอิสราเอล รวมถึงการส่งความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นตัวเงินหรือการช่วยเหลือทางการแพทย์เข้าสู่กาซ่า เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการสื่อสารเพื่อเรียกร้องให้มีการวางอาวุธแบบสันติวิธี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ยังมาพร้อมกับชุดของวาทกรรมต่างๆ มากมายที่ปะทะกันจากทั้งสองฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรม “การป้องกันตัวเอง” “ใช้โล่เด็กและผู้หญิง” “ฮามาสต้องวางอาวุธ” ฯลฯ จากฝ่ายอิสราเอล หรือ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” “อาชาญากรรมสงคราม” “รัฐก่อการร้ายอิสราเอล” “การฆาตกรรมหมู่” “ผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง” ฯลฯ จากฝ่ายที่ต่อต้านการโจมตีของอิสราเอล ซึ่งชุดวาทกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการอธิบายและทำความเข้าใจความรุนแรงที่ปรากฏ รวมถึงการมองและทัศนคติของคนที่รับรู้ความรุนแรงเหล่านี้ที่จะสื่อสารต่อไปว่าสิ่งที่พวกเขาต่างต้องการให้เกิดต่อปัญหานี้คืออะไร

เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่มีการเคลื่อนไหวในระดับมวลชนเท่านั้น หากแต่ในระดับรัฐเอง ยังมีการประกาศแสดงจุดยืนของหลายประเทศทั่วโลก เป็นการแบ่งฝ่ายของโลกให้เห็นอีกครั้ง เมื่อฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนอิสราเอล มีจำนวนน้อยหากแต่ประกอบด้วยประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่งจะล้มรัฐบาลฮามาสมาอย่างอียิปต์ กับ อีกฝ่ายที่แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าจะยีนหยัดเคียงข้างชาวปาเลสไตน์ อย่างตุรกีและกาตาร์ นับตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นนายกรัฐมนตรีและรับมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของตุรกีออกมาประณามอิสราเอล พร้อมทั้งเรียกร้องให้สหประชาชาติจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันยังมีการประกาศยกเลิกเที่ยวบินพร้อมกับการสนับสนุนจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายแห่งในตุรกีที่ออกมาประณามและตีแผ่ชุดความจริง ส่วนประเทศมาเลเซียก็ได้มีการประณามพร้อมทั้งส่งทีมแพทย์และการช่วยเหลือเข้าสู่กาซ่า ตูนีเซียเองก็ส่งเครื่องบินที่บรรทุกยาเวชภัณฑ์ หากแต่ไม่สามารถนำเข้าสู่พื้นที่ได้ นอกจากประเทศที่มีจุดยืนที่ชัดเจนยังมีประเทศที่อยู่ในระหว่างกึ่งกลางไม่ออกเสียงใดๆมากนัก แต่ก็ให้การช่วยเหลือด้านการเงิน เช่นซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น หรืออาจเพียงแค่ประณามแต่ไม่ได้เคลื่อนไหวใดๆ ดังเช่นหลายประเทศในยุโรป ท้ายสุดด้วยการกดดันจากหลายฝ่ายนี่เองก็ทำให้ มีการลงมติจากสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการกดดันให้อิสราเอลยุติการดำเนินงาน ผลที่ออกมาก็ยังคงมีประเทศที่ไม่ออกเสียงและคัดค้านเพียงประเทศเดียว คือ สหรัฐอเมริกา

ครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ทำให้เห็นว่า การทำความเข้าใจความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายใต้อาณาเขตหรือการอธิบายของความเป็นรัฐอาจไม่เพียงพอ ตัวแสดงอื่นๆ ล้วนมีบทบาทที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งในพื้นที่หนึ่งได้ ด้วยกรอบการคิดของ โลกาภิวัตน์ ทำให้เห็นว่าโลกเราสามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วยสื่อหลากหลายทาง และสามารถแสดงความคิดเห็นอันชอบธรรมบนฐานของความเหมือนในความเป็นมนุษย์ที่จะก้าวผ่านกรอบคิดของความเป็นรัฐ ที่ชุดความคิดเดิมหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อิสราเอลอาจใช้ข้ออ้างว่าเป็นกิจการภายในประเทศ แทนการใช้ข้ออ้างอื่นๆ ดังที่เป็นในปัจจุบัน หากแต่โลกปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงเช่นนี้ ก็อาจทำให้การดำเนินการของอิสราเอลยากยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์ครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ปาเลสไตน์และฮามาสได้รับมวลชนที่เพิ่มขึ้น การเคลื่อนไหวในเวสต์แบงค์เพื่อต่อต้านการโจมตีในกาซ่าก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกปลุกจากการสนับสนุนของคนทั่วโลกด้วยเช่นกัน

 

 



[1] Anadolu Ajansı. Palestinian death toll hits 836. Available URL: http://www.aa.com.tr/en/headline/364403--2-killed-gazas-death-toll-reaches-807 (25 July 2014)

[2] Inside Story. Gaza and Israel: War of the hashtags. Available URL: http://www.aljazeera.com/programmes/insidestory/2014/07/who-winning-social-media-war-over-gaza-2014722172425666235.html  (22 July 2014)