Skip to main content

 

ปักหมุดหมาย: การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย จำเป็นต้องฟังและดึงเสียงจากประชาชนรากหญ้าทุกกลุ่มขึ้นมาเพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมของของตนเองในอนาคต ซึ่งวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชนมากที่สุดและเป็นช่องทางสำคัญในการทำหน้าที่นั้น การค้นหา การทำให้ "สื่อสันติภาพในระดับชุมชน" ปรากฎตัว และทำให้เขาและองค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเป็น 'เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้' (Deep South Community Radio Network - DSR) และทำงานร่วมกันในการฟัง เปิดพื้นที่กลางการพูดคุย และดึงเสียงของ "คนใน" ออกมา พลังเหล่านี้จะกลายเป็นจักรสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

 

เสียงสันติภาพ(2): วิทยุเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมบนเส้นทางสื่อเพื่อสันติภาพ

ยารีนา กาสอ
โซเรดา หะยีมะสาและ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

 

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ) สัมภาษณ์ 'อัสรา รัฐการัณย์'  “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ We Voice ตามหาสันติภาพ” หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการทำงานด้านการสื่อสารในรายการวิทยุเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ ที่ผลิตรายการวิทยุเน้นการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพของกลุ่มผู้หญิงในสถานการณ์ที่ผู้หญิงต้องเป็นเหยื่อและต้องการการช่วยเหลือเยียวยา

DSJ: สื่อวิทยุของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมมีขับเคลื่อนรายการใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ

อัสรา : เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้จะมีการผลิตรายการวิทยุทุกปี จะแบ่งเป็นสองช่วง ในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้จะเป็นการออกอากาศช่วงที่ 2 โดยเราผลิตรายการวิทยุเป็นตอนๆ แล้วจัดส่งไปออกอากาศทางสถานีวิทยุในเครือข่ายซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 13 สถานี

ตอนนี้เราได้ผลิตรายการวิทยุชื่อรายการว่า “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ We Voice ตามหาสันติภาพ” มีทั้งหมด 20 ตอน ที่เราออกอากาศทางสถานีเครือข่ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิทยุชุมชนสำหรับเป้าหมายคนฟังในพื้นที่ และเรายังเผยแพร่ในเว็บไซต์สำหรับคนที่อยู่นอกพื้นที่ได้รับฟังด้วย

DSJ: ที่มาที่ไปของการใช้ชื่อรายการและเนื้อหารายการเป็นอย่างไร

อัสรา : เนื่องจากทุกวันนี้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กำลังเรียกร้องถึงสันติภาพ และมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นแล้ว หากแต่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องใช้ระยะเวลา เป็นกระบวนการที่กินเวลาพอสมควร เราจึงอยากให้เห็นว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ

DSJ: ผู้จัดรายการดังกล่าวคือใคร กระบวนการทำงาน รูปแบบรายการเป็นไปอย่างไร

อัสรา : เรามีผู้ร่วมจัดรายการประมาณ 30 คน ทั้งจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม และจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ก้าวข้ามความเจ็บปวดมาแล้ว เราชวนคนเหล่านี้ลุกขึ้นมาสื่อสารและส่งเสียงผ่านสื่อวิทยุ ให้เขามาเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดสันติภาพ

DSJ: กลุ่มเป้าหมายคนฟังรายการคือใคร

อัสรา: เป้าหมายคนฟังก็คือเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจ

DSJ: เนื้อหาในรายการมุ่งเน้นการนำเสนอในแนวทางไหนในการขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือประชาชน

อัสรา: เนื้อหาในการนำเสนอขึ้นอยู่กับช่วงตอนของรายการซึ่งมีหลากหลายตามสถานการณ์ แต่ที่เราเน้นก็คือ เนื้อหาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รุนแรงในทุกเรื่อง ทุกแง่มุม เรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรในพื้นที่ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยพุทธ –มุสลิม เรื่องสื่อทางเลือก เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจากภาครัฐทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนในพื้นที่ ส่วนภาษาที่ใช้ในรายการจะเน้นการใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร 

DSJ: มีวิธีผลิตเนื้อหารายการอย่างไร ในแต่ละรายการมีการสัมภาษณ์ใครบ้าง

อัสรา : ในการผลิตรายการวิทยุ เราจะมีรายการสัมภาษณ์ตามเวทีการเสวนาของเครือข่ายผู้หญิง หรือการบันทึกเสียงตามเวทีสมัชชาต่างๆ ที่เราไปสัมภาษณ์มีทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมในรายการที่จะมาใช้ผลิตรายการวิทยุ

เราจะไม่เน้นการทำรายการสด แต่จะเก็บเสียงสัมภาษณ์ตามเวทีต่างๆ เพื่อมาผลิตเป็นรายการวิทยุ ทั้งนี้การสัมภาษณ์ การบันทึกเสียงจะเน้นให้มีความหลากหลายครอบคลุมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ ส่วนกระบวนการผลิตและการตัดต่อทางเทคนิคเราทำเองทั้งหมด กระบวนการทำงานทุกขั้นตอนเป็นการทำงานของกลุ่มผู้หญิงทุกขั้นตอน

DSJ: เสียงสะท้อนจากกลุ่มเป้าหมายรายการเป็นอย่างไร

อัสรา: เสียงตอบรับจากผู้ฟังดีมาก เนื่องจากมีการจัดรายการทั้งภาษาไทยและภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสาร รายการที่ออกอากาศที่ผ่านมาเป็นรายการภาษามลายูทั้งหมด 47 ตอน เป็นภาษาที่คนในพื้นที่สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ผู้จัดรายการที่เป็นภาคภาษามลายูหลายคนจึงได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถทำงานแบบเข้าถึงและเจาะลึกประเด็นได้ดี

DSJ: ในฐานะคนทำสื่อในพื้นที่ คิดว่าสันติภาพจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไรในมุมมองตนเอง

อัสรา : สันติภาพในมุมมองส่วนตัว คือคนในทุกคนต้องลุกขึ้นมาพูดแนวทางสันติภาพที่ตนเองต้องการ หากทุกคนยังนิ่งเฉยด้วยความชินชากับเสียงปืนและเสียงระเบิด เราถือว่าการนิ่งเฉย คือ การยอมจำนนต่อเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้น

ในความเป็นจริง พลังการสนับสนุนจากคนนอกพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ เราต้องการให้คนนอกมองคนในพื้นที่อย่างเข้าใจ และใจกว้างในการส่งพลังให้เราก็เพียงพอแล้ว

00000000000000000000

บทสัมภาษณ์พิเศานี้เผยแพร่ครั้งแรกในโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ 
ติดตามอ่านสัมภาษณ์พิเศษ 'เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้' 
เสียงสันติภาพ (1): 'วิทยุม.อ.ปัตตานี': การทำงานบนเส้นทางสันติภาพ

เปิดตัว "We Voice ตามหาสันติภาพ" รายการวิทยุโดยสตรีชายแดนใต้