Skip to main content

 

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่ 12/2 ):

สัมพันธ์สหรัฐฯ-อิสราเอล ในยุคทรัมป์

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

หลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน ทรัมป์ก็มีโอกาสได้ต้อนรับแขกคนสำคัญกับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 ซึ่งบรรยากาศของการพบปะกันเป็นไปอย่างอบอุ่นและชื่นมื่น ในแถลงการณ์ร่วม ทรัมป์ได้ประกาศว่าสหรัฐฯ กับอิสราเอลจะไม่มีวันแยกออกจากกันและให้คำมั่นกับเนทันยาฮูว่าสหรัฐฯจะไม่มีวันปล่อยให้อิหร่านผลิตอาวุธนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาด แม้ทรัมป์จะเรียกร้องให้อิสราเอลจำกัดการขยายถิ่นฐานใหม่ของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ แต่กลับเลี่ยงที่จะให้การสนับสนุนต่อแนวทาง two states solution หรือแก้ไขปัญหาด้วยสูตร 2 รัฐ ยิ่งไปกว่านั้นทรัมป์มองว่าชาวปาเลสไตน์ต่างหากที่เป็นฝ่ายยั่วยุอิสราเอล

ในการพบปะกันคครั้งนี้ ทรัมป์ได้ประณามการกระทำที่เขามองว่าไม่เป็นธรรมและลำเอียงต่ออิสราเอลในเวทีสหประชาชาติของประชาคมระหว่างประเทศที่ประณามการสร้างชุมชนใหม่ของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง

ในการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ว่าทรัมป์จะเลือกเยือนอิสราเอลเป็นประเทศที่สองในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2017 หรือทันทีหลังจากที่เยือนซาอุดิอาระเบีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอิสราเอลน้อยกว่าซาอุดิอาระเบีย เพราะวาระหรือประเด็นที่ทรัมป์ไปผลักดันที่ซาอุดิอาระเบียถ้วนเป็นประโยชน์ต่ออิสราเอลทั้งในแง่ของการเมืองและความมั่นคง

ในการเยือนครั้งนี้ เนทันยาฮู ได้ให้การต้อนรับทรัมป์ และนางเมลาเนีย ภรรยา อย่างอบอุ่น โดยทั้งคู่ได้ไปเยือนกำแพงตะวันตกหรือกำแพงร้องไห้ (Western Wall) ซี่งทำให้ทรัมป์กลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางมายังสถานที่ศักสิทธิ์แห่งนี้ของชาวยิวในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนี้ในส่วนของพิธีกรรมทรัมป์ยังให้เกียรติสวมหมวกคิปปาห์ตามธรรมเนียมชาวยิวและได้วางมือลงบนกำแพงหินเพื่อตั้งจิตอธิษฐานในแบบที่ชาวยิวยึดถือปฏิบัติอีกด้วย

ผู้นำทั้งสองได้หารือกันหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการทำข้อตกลงสันติภาพกับปาเลสไตน์ ซึ่งหลังจากที่ทรัมป์เพิ่งจะเสร็จสิ้นการเยือนซาอุฯ และได้พูดคุยประเด็นนี้ไปบ้างแล้วนั้น ทรัมป์ได้ตอกย้ำอีกครั้งว่าซาอุดิอาระเบียในฐานะผู้นำโลกมุสลิม และประเทศอื่น ๆ ในแถบอาหรับ ล้วนแล้วแต่มองว่าการทำข้อตกลงต่าง ๆ กับปาเลสไตน์จะช่วยจัดระเบียบให้กับภูมิภาคตะวันออกกลางใหม่ได้

ข้อสังเกตุประการหนึ่งที่ผู้สังเกตุการณ์ให้ความสนใจคือกระแสข่าวว่าทรัมป์มีความพยายามที่จะเป็นสื่อกลางเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิสราเอล ซึ่งอิสราเอลเองก็แสดงความต้องการที่จะริเริ่มความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่าหลังจากนี้ไม่นานรัฐมนตรีข่าวกรองและการขนส่งอิสราเอลได้เรียกร้องให้กษัตริย์ซัลมานให้เชิญนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูไปเยือนริยาด เพื่อหารือกระบวนการสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์และเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง รวมถึงความสัมพันธ์กับรัฐในแถบอ่าวอาหรับด้วย นอกจากนี้ยังแสดงความประสงค์ที่จะเชิญมกุฎราชกุมารมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน มาเยือนอิสราเอลด้วย

อิสราเอลและสหรัฐฯ เข้าใจดีว่าช่วงจังหวะแบบนี้ที่อิหร่านกำลังขยายอิทธิพลในตะวันออกกลางและสงครามตัวแทนที่กำลังดุเดือดในภูมิภาค ประกอบกับซาอุดิอาระเบียกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านอำนาจภายในราชวงศ์ซาอูด ซาอุดิอาระเบียย่อมต้องการตัวช่วยจากภายนอกโดยเฉพาะการสกัดกั้นอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค ดังนั้น ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วจึงไม่แปลกที่ทั้งสหรัฐฯ อิสราเอล และซาอุดิอาระเบียจะกระชับความสัมพันธ์กันอันเนื่องมาจากว่ามีศัตรูร่วมคืออิหร่าน ซึ่งทรัมป์ได้ตอกย้ำอีกครั้งระหว่างเยือนครั้งนี้ว่าว่าอิหร่านกำลังถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามในสายตาของหลายประเทศ ในภูมิภาคตะวันออกกลางจากพฤติกรรมสนับสนุนการก่อการร้าย

สหรัฐฯ ในยุคทรัมป์แสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับอิสราเอลอย่างมากด้วยการส่งบุคคลสำคัญเยือนอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ จาเร็ด คุชเนอร์ ผู้ที่เป็นทั้งลูกเขยและที่ปรึกษาอาวุโสประจำทำเนียบขาว คุชเนอร์ หนุ่มมหาเศรษฐีวัย 36 ปี เชื้อสายยิวผู้นี้ เป็นบุคคลที่มีบทบาทอย่างมากอยู่เบื้องหลังในการวางกลยุทธ์การหาเสียงให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ จนสามารถชนะการเลือกตั้งในที่สุด ว่ากันว่าเขายังเป็นคนที่มีอิทธิพลสูงต่อทรัมป์ในการตัดสินใจเลือกคนมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆในรัฐบาล

คุชเนอร์เดินทางเยือนอิสราเอลและพบเนทันยาฮู ในวันที่ 22 มิถุนายน โดยประเด็นในการหารือที่สำคัญคือการผลักดันกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ ค.ศ. 2014 ซึ่งหลังจากพบปะเนทันยาฮูแล้ว คุชเนอร์ก็ได้เดินทางไปยังเขตเวสต์แบงเพื่อพบประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาสผู้นำปาเลสไตน์ และหารือในประเด็นเดียวกัน นอกจากคุชเนอร์จะมาในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสประจำทำเนียบขาวแล้ว ยังแสดงบทบาททูตสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ด้วย

อีกบทบาทหนึ่งที่น่าสนใจของสหรัฐในเวทีระหว่างประเทศภายใต้รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ คือความพยายามในการปกป้องอิสราเอลเหมือนไข่ในหิน หลายครั้งที่สหรัฐฯ ออกมาขู่องค์การระหว่างประเทศที่แสดงท่าทีเชิงลบต่ออิสราเอล ทั้งการข่มขู่ว่าจะตัดเงินอุดหนุนหรือไม่ก็ขู่ว่าจะถอนตัวออกจากองค์กรนั้น ๆ ซึ่งทำให้เห็นชัดว่าสหรัฐฯ มีจุดยืนปกป้องอิสราเอลอย่างที่สุดโดยไม่สนใจประชาคมโลก เช่น กรณีสหรัฐฯ ขู่จะทบทวนบทบาทของตัวเองหรือถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เพราะไม่พอใจที่ UNHRC มักมีมติประณามอิสราเอล โดยสหรัฐฯ มองว่ UNHRC ไม่มีความเป็นกลาง นางนิกกี ฮาลีย์ ทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติกล่าวว่า เป็นการยากสำหรับสหรัฐฯ ที่จะยอมรับต่อร่างมติของ UNHRC ที่ต่อต้านอิสราเอลในหลาย ๆ ครั้ง โดยฮาลีย์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมในกรณีของเวเนซูเอลา UNHRC จึงไม่มีการผ่านร่างมติต่อต้านการละเมิดสิทธิบ้างเพราะเวเนซูเอลาใช้กำลังจัดการกับผู้ประท้วงจนเสียชีวิตจำนวนมาก ฮาลีย์ ทิ้งท้ายด้วยการบอกว่าขู่ว่าสหรัฐฯ จะจับตาพฤติกรรมของ UNHRC อย่างใกล้ชิด

อีกกรณีหนึ่งคือการที่สหรัฐฯประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017 แต่จะมีผลสิ้นเดือน ธ.ค. 2018 หมายความว่าหลังจากนั้นจะมีสถานะเป็นประเทศผู้สังเกต แต่ตอนนี้ก็ยังมีสถานะเป็นสมาชิกเต็มอยู่เช่นเดิม การตัดสินใจถอนตัวของสหรัฐฯ ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเพราะสหรัฐฯ คือประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง UNESCO มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สาเหตุที่สหรัฐฯตัดสินใจถอนตัวออกจาก UNESCO เพราะมองว่าองค์กรนี้แสดงการต่อต้านอิสราเอล ซึ่งก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประณามอิสราเอล เกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่ออิสราเอลดำเนินการในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเล็มตะวันออก นอกจากนี้ UNESCO ยังได้กำหนดให้พื้นที่เมืองเก่าเฮบรอน เป็นแหล่งมรดกโลกของปาเลสไตน์ ซึ่งอิสราเอลอ้างว่าเท่ากับปฏิเสธประวัติศาสตร์ของชาวยิว ที่สำคัญที่สุดคือการที่ UNESCO โหวตรับรองปาเลสไตน์เป็นสมาชิกลำดับที่ 195 ตั้งแต่ ปี 2011

กล่าวมาถึงตรงนี้ น่าจะพอสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิสราเอลในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ได้บ้างว่าประธานาธิบดีคนนี้ให้ความสำคัญกับอิสราเอลขนาดไหน ซึ่งต้องยอมรับว่าเขาทำตามที่สัญญาที่ได้หาเสียงกับชาวยิวในสหรัฐฯได้เป็นอย่างดีว่าจะสนับสนุนอิสราเอลเต็มที่โดยเฉพาะเรื่องการย้ายสถานทูตสหรัฐฯในเทลอาวีฟไปยังกรุงเยลูซาเล็ม (ซึ่งจะมานำเสนอตอนต่อไปครับ)

 

อ่านความเดิมตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7: ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/1) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/2) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 8) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (9) : สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 9): สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

ทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (10) : นัยยะของการบังคับใช้คำสั่งแบน 6 ชาติมุสลิมแบบครึ่งๆ กลางๆ

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่11) : ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์ (1)

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่ 12/1 ): สัมพันธ์สหรัฐฯ-อิสราเอล ในยุคทรัมป์