Skip to main content

ทหารเก็บชื่อ-ถ่ายรูป เด็ก รร. สอนศาสนา 3 จชต. นักสิทธิฯ กังวลละเมิดสิทธิ์-เป็นเป้าความรุนแรง

(ลิงค์ต้นฉบับ)

 
Photo courtesy of Muhammad SasuImage copyrightPHOTO COURTESY OF MUHAMMAD SASU

กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ยื่นหนังสือร้องเรียน กอ.รมน. ภาค 4 หลังมีการเผยแพร่ภาพเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธ เข้าเก็บรายชื่อและถ่ายรูปเด็กใน รร. สอนศาสนาอิสลามเบื้องต้น หรือ ตาดีกา ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงความกังวลว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ อาจทำให้เด็กตกเป็นเป้าความรุนแรง

กลุ่มด้วยใจ, มูลนิธินูซันตารอเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ และ สลาตันเนเจอร์ ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยระบุว่ามีเจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 พร้อมอาวุธ เข้าไปในโรงเรียนตาดีกาที่ หมู่ 4 ตำบล คลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อถ่ายภาพบัตรประชาชนของครูผู้สอน ถ่ายภาพเด็ก และเก็บรายชื่อเด็ก เมื่อเร็ว ๆ นี้

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ร่วมก่อตั้ง "กลุ่มด้วยใจ" บอกว่า เครือข่ายกลุ่มพิทักษ์สิทธิ์เหล่านี้ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนตาดีกา ราว 10 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพบว่าครูประจำโรงเรียนส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของเด็ก "ว่าการบันทึกข้อมูลเด็ก ของครู ถ่ายภาพเด็ก ผู้ปกครองอนุญาตไหม เราพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร เขาก็บอกว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่เรามองว่าเราต้องมองประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก"

ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า ไม่แปลกใจที่เครือข่ายกลุ่มดังกล่าวร่วมกันยื่นหนังสือร้องเรียนเพราะที่ผ่านมามักจะต่อต้านการปฏิบัติการของรัฐอยู่ตลอดเวลา และอธิบายว่า นี่เป็นการเข้าไปตรวจสอบผู้ที่แอบแฝงเข้าไปสอนในโรงเรียนและปลูกฝังบ่มเพาะให้เด็กเกลียดชังรัฐ และโตมาใช้ความรุนแรง โดยไม่มีการเก็บรายชื่อเด็กแต่อย่างใด

Photo courtesy of Muhammad SasuImage copyrightPHOTO COURTESY OF MUHAMMAD SASU

"มันเป็นผลสืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้ก่อความรุนแรงใช้โรงเรียนเป็นแหล่งบ่มเพาะเด็ก เป็นแหล่งซ่อนอาวุธ แหล่งประกอบระเบิด ทั้งระดับตาดีกาและ[สถาบัน]ปอเนาะ" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว และบอกว่าการเข้าไปทำกิจกรรมของทหารในโรงเรียนในลักษณะนี้มีมาเป็น 10 ปีแล้ว ที่แตกต่างในช่วงหลัง ๆ คือมีการตรวจสอบรายชื่อบุคลากรผู้สอนด้วยเพราะเริ่มมีคนแอบแฝง

"ในวิชาวาดรูป [มีการ]สอนให้วาดรูปยิงทหาร ระเบิดรถถัง นั่นคือวิชาที่เขาสอนเด็ก ซึ่งมันคือการสอนเด็กให้ใช้ความรุนแรงตั้งแต่เด็ก"

พ.อ.ปราโมทย์ ยังบอกอีกด้วยว่า การพกปืนของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และได้ย้ำกับเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังแล้ว "แต่ว่าอาวุธบางครั้งมันก็ต้องอยู่ข้างกาย ..เราไม่รู้ว่าข้างในโรงเรียนมีใครบ้าง เพราะเราเคยเจอบ่อย ๆ ...ถืออาวุธเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ไปฝึกอาวุธให้เด็ก"

เมื่อถามว่าการเห็นอาวุธบ่อย ๆ จะส่งผลเสียต่อเด็กในด้านจิตวิทยาหรือไม่ พ.อ.ปราโมทย์ ระบุว่าเป็นเรื่องต่างมุมมองของแต่ละคน

"ที่บอกละเมิดเด็ก แต่เด็กที่เสียชีวิตจากผู้ก่อเหตุเท่าไหร่ สิบกว่าปีเนี่ย เพราะฉะนั้นคนที่มาเรียกร้อง ต้องเรียกร้องด้วยความบริสุทธิ์ใจ" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

ส่วนเรื่องการถ่ายรูปเด็กนั้น พ.อ.ปราโมทย์ ระบุว่า เป็นเพียงการถ่ายกันเล่น ๆ "ไม่ได้เอาชื่อเด็ก ถ่ายรูปเด็กมันก็ถ่ายกันทั่วไปเล่น ๆ ต้องไปถามเด็กว่าเด็กมีความสุขหรือเปล่า"

นางสาวอัญชนา บอกว่าการมองว่าโรงเรียนตาดีกาเป็นแหล่งบ่มเพาะและชักชวนให้คนเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ เป็น "มายาคติ" และแม้ว่าจะไม่สรุปได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สิ่งสำคัญคือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เด็กตั้งแต่เริ่มต้น

"เด็กควรจะโตมาด้วยความสนุกสนาน มองโลกที่สดใส ไม่ใช่เห็นแต่อาวุธรอบกายเขา เห็นชุดทหารที่แสดงถึงความไม่ปลอดภัย ต้องมีการปกป้องคุ้มครอง เราจะมองเห็นความหม่นมัว ไม่อยากให้เด็กเห็นความหม่นมัวตรงนั้น" นางสาวอัญชนา กล่าว

Photo courtesy of Muhammad SasuImage copyrightPHOTO COURTESY OF MUHAMMAD SASU

จากข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส โรงเรียนตาดีกาเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้นที่เน้นการสอนจริยธรรม การอ่าน-เขียน ภาษามลายู และการประกอบศาสนกิจ สำหรับเด็กช่วงอายุ 5-12 ปี ในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยมีทั้งหมด 2,083 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ร่วมก่อตั้ง "กลุ่มด้วยใจ" ซึ่งมุ่งให้ช่วยเหลือครอบครัวและผู้ที่ถูกคุมขังในคดีความมั่นคงอันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ระบุว่า เริ่มเห็นภาพที่มีทหารพร้อมอาวุธเข้าไปในห้องเรียนตาดีกาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และทางกลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ต่าง ๆ ได้ร่วมประชุมหารือและเห็นตรงกันว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อเด็กในหลาย ๆ ประการ เช่น ทำให้เด็กมีภาพจำของอาวุธสงคราม มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าของการโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธที่เคยปรากฏ และทำให้ชั่วโมงการเรียนการสอนลดลง

"การที่เด็กเห็นอาวุธปืนเป็นประจำทุกวัน เป็นห่วงว่าในอนาคต เด็กที่โตมากับสภาพแวดล้อมที่มีอาวุธสงคราม เด็กเขาจะมีการแก้ไขปัญหาเมื่อมีความขัดแย้งอย่างไร อันนี้เรากังวล" นางสาวอัญชนา ระบุ พร้อมกับบอกว่า เราไม่สามารถเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีอาวุธอยู่ใกล้ และก็เคยมีเหตุการณ์ในอดีตมาแล้วที่เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีด้วยระเบิด เนื่องจากอยู่ใกล้ทหารที่อยู่ในโรงเรียน

Photo courtesy of Muhammad SasuImage copyrightPHOTO COURTESY OF MUHAMMAD SASU

พ.อ.ปราโมทย์ ย้ำว่า นี่ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย และไม่ได้เข้าไปรบกวนเวลาการเรียนการสอนอย่างที่กลุ่มเรียกร้องอ้าง เพราะเข้าไปทำกิจกรรมหน้าเสาธงวันละ "5-10 นาที เท่านั้นเอง" เพื่อไปปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติ สอนเรื่องอัตลักษณ์ของชาติ "เพราะงั้น ใครก็ตามที่พยายามจะมาแยก โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เราไม่ยอมหรอก"

หนังสือร้องเรียนนี้ขอให้เจ้าหน้าที่ทบทวนวิธีปฏิบัติซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ และให้นโยบายการทำงานไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและศาสนา