Skip to main content

 

บทสะท้อนจากหลายวงสนทนาว่าด้วยเรื่องการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ

 

ช่วงสองสามคืนที่ผ่านมาได้ถกกับนักวิชาการการศึกษาหลายท่าน

เลยมีประเด็นที่ชวนแลกเปลี่ยนผ่าน facts หลายอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

- ทุกปีๆ จะมีเด็กเกิดใหม่เฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ประมาณปีละ 25,000 คน โดยเป็นหญิงประมาณ 52% ชาย 48%

- 80% ของเด็กเกิดใหม่คือชาวมลายูมุสลิม หรือประมาณ 20,000 คนต่อปี

- ในระดับประถมศึกษา เด็กเรียนในโรงเรียนรัฐบาล 85% โรงเรียนเอกชน 15%

-พอขึ้นมัธยมศึกษา 70% เรียนในโรงเรียนเอกชน (สอนศาสนา) และอีก 30% เรียนโรงเรียนรัฐบาล

- ชั่วโมงเรียนต่อสัปดาห์ของระดับมัธยมเมื่อเทียบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอยู่ที่ 7 ชั่วโมง/วัน ส่วนมากยังเรียน 6 วันต่อสัปดาห์ (42 ชั่วโมง/สัปดาห์) ส่วนโรงเรียนรัฐอยู่ที่ 6 ชั่วโมง/วัน 5 วันต่อสัปดาห์ (30 ชั่วโมง/สัปดาห์)

- ใน 7 ชั่วโมงทำการของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาต้องแบ่ง 9-10 คาบเรียนต่อวัน โดยครึ่งหนึ่งต้องแบ่งให้เป็นเวลาเรียนศาสนา อีกครึ่งหนึ่งเรียนสามัญ ดังนั้นเวลาสำหรับเรียนสามัญจึงเหลือที่ 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

- โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแบบปัจจุบันเป็นพัฒนาการที่เปลี่ยนจากโรงเรียนปอเนาะแบบดั้งเดิม ที่เรียนศาสนาแบบไม่มีระดับชั้น ไม่มีหลักสูตรตายตัว สอนเนื้อหาในตำราศาสนาไปเรื่อยๆ ไม่มีการสอบวัดผล โดยวัตถุประสงค์ของการสอนแบบปอเนาะเพื่อต้องการให้ผู้รับความรู้สามารถเป็นมุสลิมที่ดี ประพฤติตนในหลักการศาสนา และประกอบพิธีกรรมศาสนาได้ทั้งในระดับส่วนตัวและการนำปฏิติบัติในระดับชุมชน

- การปรับหลักสูตรจากปอเนาะ --> เอกชนสอนศาสนา

จึงยังคงต้องรักษาวัตถุประสงค์ของการผลิตผู้มีความรู้ทางศาสนา หรือคนที่จะรับใช้ศาสนาต่อไป และเอาความรู้ทางโลกมาสอนนักเรียนเพื่อให้สามารถต่อยอดเรียนต่อสายอาชีพซึ่งต้องการความรู้ทางภาษาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มากขึ้น

- นับตั้งแต่เริ่มต้นระบบเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ผ่านไป 50 ปี สัดส่วนเวลาที่แบ่งสำหรับการสอนศาสนาของโรงเรียนเอกชนยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ขณะเดียวกันจำนวนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแล้วไปต่อยอดการศึกษาสายศาสนามีน้อยลงเรื่อยๆ ยังไม่เคยมีใครเก็บตัวเลขชัดเจน แต่ประมาณการจากการรับรู้ของผม ตอนนี้น่าจะน้อยกว่า 10% ต่อปีของจำนวนนักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนประเภทนี้

- ความท้าทายของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่จะบีบให้พื้นที่ต่างๆที่เข้าสู่ระบบโลกนี้ต้องแข่งขันไปกับโลก ทักษะจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ความต้องการของโลกเปลี่ยนไป วิถีอาชีพและการหารายได้ของคนในโลกเปลี่ยนไป การบูรณาการและปรับเปลี่ยนแนวทางการศึกษาเกิดขึ้นแทบจะทุกเดือน

- ปัจจุบันที่อาชีพมีความหลากหลายและเฉพาะทางมากขึ้น การศึกษาที่เดิมมุ่งเน้นให้คนมีความรู้ อาจเปลี่ยนวัตถุประสงค์ใหม่เป็นเรียนเพื่อให้ประกอบอาชีพเป็นหลัก อาชีพที่สามารถทำเงินได้ ก็ต้องวางอยู่บนฐานของความต้องการของตลาดโลก คำถามสำคัญคือ จากสมมติฐานเรื่องตัวเลขนักเรียนที่ไปเรียนศาสนา 10% ของนักเรียนทั้งหมด ตัวเลขนี้มากเกินไปหรือไม่ รวมถึงนักเรียนอีก 90% ที่เหลือที่เข้าเรียนระบบสามัญแล้วจบปริญญาออกมาสามารถประกอบอาชีพได้หรือไม่ ตรงตามสายที่เรียนมาหรือไม่ จำนวนอาชีพในพื้นที่มีความหลากหลายหรือเลป่า ซึ่งแน่นอนว่าการสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศน์พื้นที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง พื้นที่ใดมีความรู้ของวิชาชีพยิ่งมากสาขา ก็จะมีโอกาสสร้าง combination ของความรู้ได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงความรู้จะมีมูลค่ามากขึ้น ขายของได้เงินเยอะขึ้น

- หากเทียบกับโรงเรียนเป็นเช่นโรงงานอุตสาหกรรม การผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ล้าสมัย ไม่มีคุณภาพ หรือไม่ทนทาน สินค้าชนิดนั้นก็จะขายยาก และกลายเป็นภาระให้กับทั้งผู้ผลิตและเศรษฐกิจรอบข้างทั้งหมด โรงงานต่างๆจึงต้องปรับตัวตามโลกาภิวัฒน์เพื่อผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ สามารถนำเสนอขายได้ง่าย

- มีการนำเสนอแนวคิดใหม่เรื่องการบูรณาการอิสลามศึกษาเข้ากับระบบการศึกษาสายสามัญแบบใหม่ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เองมีคนริเริ่มทดลองโรงเรียนแบบใหม่ๆที่เป็นทางเลือกมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว โดยปรับเนื้อหาวิชาศาสนาเป็นการสอน core value ของศาสนาไม่ใช่ความรู้อย่าละเอียด ซึ่งทำให้จำนวนเวลาในห้องเรียนของนักเรียนน้อยลง แต่ไปเพิ่มเรื่องกระบวนการและกิจกรรมแทน ซึ่งมีผลลัพธ์ที่ดีเสียส่วนใหญ่ แต่ไม่แน่ใจว่าเมื่อเอาไปใช้ในวงกว้างจะดีขนาดไหน

- โจทย์และความท้าทายของนักการศึกษาในพื้นที่มีอีกเยอะมาก เราจะทำอย่างไรให้ผลสัมฤทธิ์การศึกษาของคนในพื้นที่ดีขึ้น (ถ้าเราเชื่อว่าคนบ้านเราฉลาดเท่ากับคนอื่นๆ) คนของเราสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดแรงงานนอกพื้นที่ได้ สามารถร้างงานในพื้นที่ได้มากขึ้น สามารถนำรายได้กลับสู่พื้นที่ได้มากขึ้น ทุกอย่างล้วนเริ่มที่จุดเดียวกันคือคุณภาพคนจากคุณภาพการศึกษา

 

เริ่มจากวงน้ำชากับว่าที่ดร.หนุ่มหล่อ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ผู้ผ่านการศึกษาจากสถาบันที่ดีที่สุดของไทยและของโลก

ร่วมกับเครือญาติที่เกิดและเติบโตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ นูรฮายาตี ฮูไมดี และ มันนา

 

ไปนั่งฟังความพยายามสร้างทางเลือกใหม่ให้กับการศึกษาระดับมัธยมแบบบูรณาการอิสลาม

ของผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ดร.ยูโซะ ตาเละ

 

ทานมื้อค่ำกับกูรูผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษาไทย อดีตเลขาธิการสำนักงานการอุดมศึกษาแห่งชาติ

อดีต รมช.ศึกษาธิการ อ.กฤษณพงศ์