Skip to main content

 

ความเป็นมาของรายงาน: ความขัดแย้งไม่ว่าจะเกิดที่ใดในโลกล้วนส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จังหวัดชายแดนใต้ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ความขัดแย้งรอบล่าสุดที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ก็ผ่านห้วงเวลามา 14 ปีแล้ว รัฐบาลและหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ก็ได้พยายามในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อยุติความขัดแย้งแต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถยุติได้ในเร็ววัน กลุ่มด้วยใจได้เริ่มต้นการรายงานผลกระทบที่เกิดกับเด็กที่อยู่และเติบโตมาภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบมาตั้งแต่ปี 2557 และร่วมกันทำงานกับองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านสิทธิเด็กหรือให้ความช่วยเหลือดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 23 องค์กร จึงทำให้การทำงานที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมเช่นสถิติเด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2560 แต่ก็ยังมีผลกระทบที่ไม่ปรากฏในรายงานของรัฐและทำให้เด็กที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการดูแลและเยียวยาอย่างเหมาะสม ดังนั้นการจัดทำรายงานเพื่อสะท้อนปัญหาผลกระทบที่เกิดกับเด็กจะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางการดูแลและเยียวยาเด็ก การป้องกันและคุ้มครองเด็กได้คลอบคลุมเด็กที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด

วัตถุประสงค์: การจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิเด็กประจำปี 2017 มีวัตถุประสงค์เพื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้และตระหนักถึงสถานการณ์การสิทธิเด็กในพื้นที่ที่มีการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธในจังกวัดชายแดนใต้ประเทศไทยและนำข้อมูลไปใช้เพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็กให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เป็นหลักสากลให้คู่ขัดแย้งที่มีอาวุธไม่กระทำการละเมิดต่อเด็กไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ขอบเขตและวิธีการดำเนินการ: การจัดทำรายงานมีการใช้ข้อมูลเชิงปริมาณเช่นสถิติของเด็กจากหน่วยงานต่างๆและข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์สิทธิเด็ก  รายงานคดี การสังเกตการณ์คดีในศาลรวมไปถึงข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรอง

ข้อเสนอแนะต่อการปกป้องคุ้มครองเด็ก:

  1. รัฐจะต้องดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ไทยได้ลงนามโดยเฉพาะกรณีที่เด็กตกเป็นผู้ต้องสงสัยหรือพยานในที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
  2. รัฐควรดำเนินการเพื่อยุติการตรวจเก็บดีเอ็นเอเด็กอย่างไม่มีข้อยกเว้น
  3. รัฐควรพิจารณาอย่างรอบคอบต่อกรณีการทำกิจกรรมของทหารพร้อมอาวุธในโรงเรียนตาดีกา
  4. รัฐควรดำเนินการตามมติ UN 1325 เป็นแนวทางในการปกป้องคุ้มครองเด็กในพื้นที่ขัดแย้งและเร่งดำเนินการการเจรจาสันติภาพ

 

อ่านรายละเอียดฉบับเต็มที่นี่