Skip to main content

 

นอกจากของขวัญวันเด็กคือการนำนโยบายสู่ปฏิบัติ

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur

 

 

ดีใจแทนเด็กไทยทั่วประเทศและชายแดนใต้มากที่ทุกภาคส่วนการงานมอบความสุขให้กับเด็กๆในช่วงสัปดาห์นี้ตลอดทั้งสัปดาห์ถึงแม้วันเด็กจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่13 มกราคม2561 และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบคำขวัญวันเด็กปี 2561 เป็นการเขียนด้วยลายมือมีข้อความว่า "รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี"

แต่อย่างไรก็แล้วแต่เด็กไทยก็ยังต้องการความสุขที่ยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลวันเด็กเท่านั้น การที่เด็กจะได้รับความสุขที่ยั่งยืนก็คือการถอดบทเรียน จากสถานการณ์  ที่ผ่านมา ปัญหา และอุปสรรคจนสามารถนำนโยบายไปสู่ปฏิบัติ

สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า

1.    จำนวนประชากรเด็กมีจำนวนสัดส่วน 1ใน 3 ของจำนวนประชากรไทย

ข้อมูลประชากรไทยจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม ๒๕๕๒ มีประชากรทั้งสิ้น ๖๓.๕ ล้านคน เป็นเด็กและเยาวชน คือบุคคลที่มีอายุ ไม่เกินยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ จำนวน ๒๒.๙๒ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๓๖.๘๕ ของประชากรทั้งหมด

2.    การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการสื่อสารที่รวดเร็วมากๆ

จึงเป็นทั้งโอกาส เพื่อการเสริมสร้างสังคมแห่งการ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นภัยคุกคามต่อเด็กและเยาวชนจากกระแสการคลั่งไคล้และเสพติดเทคโนโลยี

3.    การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม จาก1.0 สู่4.0

ในขณะที่ชายแดนใต้เด็กที่อญู่ในสถานการณ์ความรุนแรงช่วง 14 ปีพบว่ามีเด็กกำพร้ามากขึ้น มีโอกาสโดนยิง  โดนระเบิด อยู่ในภาวะแวดล้อมการใช้ความรุนแรง            จากสำนักข่าวอิศรารายงานพอสรุปได้ว่า เด็กที่เติบโตมาในสภาวะการใช้ความรุนแรง จะผลักดันให้เด็กเลือกใช้วิธีการรุนแรงแสดงออกถึงความโกรธแค้นในใจ รวมไปถึงการเข้าร่วมเป็นทหารทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการต่อต้านรัฐเพื่อต้องการแก้แค้นให้กับบุคคลในครอบครัว            ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ กรณีข่มขืนหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ที่ผ่านมามีปรากฏเป็นข่าวสาธารณะ 1 กรณี เมื่อปี 55 โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิด แต่เชื่อว่ายังมีกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณี แต่ผู้เสียหาย ครอบครัว และชุมชนไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือไม่ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐและชุมชน   ทั้งนี้ ผลจากการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศมีหลายประการ ได้แก่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การไม่สามารถมีบุตรได้ การบาดเจ็บสาหัส และผลกระทบทางจิตใจ

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ ผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ ในการจับกุม ซักถาม และควบคุมตัว ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือน มี.ค.54 ของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ พบว่าตั้งแต่ปี 48-52 มีเด็ก 79-115 คนถูกกักขังตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยคุมขังที่ศูนย์พิทักษ์สันติ (ศูนย์ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ตั้งอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้)

ข้อเสนอ

       ในภาพรวมอยากจะให้ทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาเด็กทั้งสี่ด้านคือ พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางด้านสังคม พัฒนาการทางด้านอารมณ์ และพัฒนาการทางด้านจิตใจสู่จิตวิญญาณโดยให้ความสำคัญด้านนี้เป็นฐานพร้อมทั้งใช้เทคโนโลยี่อย่างเท่าทันในขณะที่ต้องนำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564สู่การปฏิบัติจริงๆจังๆ พร้อมปรับปรุง ประเมินผล นิเทศ ติดตาม ไม่ใช่เป็นแผนนิ่ง        

            สำหรับชายแดนใต้ ตาม รายงานสถานการณ์เด็กและผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้ฯ (นำเสนอโดยสำนักข่าวอิศรา) ยังค้นพบอุปสรรคที่ส่งผลต่อเด็กและปกป้องเด็ก ได้แก่

          1.ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนมลายูมุสลิมกับรัฐมีน้อย จึงทำให้เสี่ยงต่อความเข้าใจผิดในทุกๆ ด้าน และง่ายต่อการถูกชักชวนเข้าร่วมในการใช้ความรุนแรง

          2.การบังคับใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้กำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติต่อเด็ก

          3.ฝ่ายความมั่นคงดำเนินมาตรการต่างๆ ภายใต้หลักคิดที่ว่าเด็กไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง จึงทำให้ละเลยต่อการใส่ใจในวิธีปฏิบัติที่สามารถปกป้องเด็กได้

          4.ฝ่ายขบวนการต่อต้านรัฐไม่ได้คำนึงถึงผลจากการกระทำที่ส่งผลต่อเด็กโดยตรง เช่น การวางระเบิดในที่สาธารณะ เป็นต้น

          รายงานฉบับเดียวกันยังเสนอแนวทางการป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธ ดังนี้

          1.ควบคุมและตรวจตราการมีอาวุธไว้ในครอบครองของประชาชนอย่างเข้มงวด เพื่อพยายามสกัดกั้น ป้องกันการใช้อาวุธในแหล่งชุมชน 

          2.รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลสิ่งผิดปกติเพื่อสกัดกั้นอาวุธหรือวัตถุที่อาจเป็นระเบิดที่ใช้ก่อเหตุรุนแรง

          3.การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ควรรัดกุม รอบคอบ และระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน

          4.ไม่ชักชวนชี้นำเด็กและผู้หญิงในการจับอาวุธ  

          รายงานดังกล่าวยังมีข้อเรียกร้องถึงผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายว่า

          1. ขอให้กำหนดเป้าหมายที่มิใช่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ที่ไม่มีอาวุธ เพื่อให้การต่อสู้นั้นเป็นไปตามหลักสากลในการต่อสู้ในภาวะสงคราม และทุกฝ่ายควรเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน

          2.ขอให้ระมัดระวังมิให้การก่อเหตุนั้นกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือใช้การต่อสู้ในเชิงสันติวิธี หรือการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์

          3.ขอให้การต่อสู้ไม่ไปกระทบต่อสิทธิเด็กและผู้หญิง

          4.ไม่ชักชวนชี้นำเด็กและผู้หญิงในการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาหรือป้องกันตนเอง

อีกประการหนึ่งกล่าวคือประชาสังคม เครือข่ายประชาชนต้องร่วมกดดันใครและฝ่ายใดก็แล้วเเต่ที่ละเมิดสิทธิเด็กทั้งตามกฎหมายอิสลามและสากลพร้อมทั้งหนุนเสริมผู้ที่รักษาสิทธิเด็ก

สองการเเก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนทั้งป้องกัน ปราบปรามเเละบำบัด ในขณะที่การช่วยเหลือเด็กกำพร้าต้องสามารถหนุนเสริมเขาเหล่านั้นให้สามารถยืนด้วยลำเเข้งของตนเองหรือแม้กระทั่งสามารถเป็นมือบนที่คอยช่วยเหลือสังคมในอนาคต

 

ในภาพอาจจะมี 2 คน, คนที่ยิ้ม, ผู้คนกำลังยืน

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป และ สถานที่ในร่ม

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป และ สถานที่ในร่ม