Skip to main content

 

ปาฐกถาพิเศษ “โรเบิรต อัลบริตตัน กับการวิจัยด้านการเมืองไทยและชายแดนใต้/ปาตานี”

โดย ดันแคน แมคคาร์โก

 

อิมรอน  ซาเหาะ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Patani Forum

 

 

ในงานรำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิรต อัลบริตตัน : นักรัฐศาสตร์อเมริกันที่มีคุณูปการทางวิชาการต่อสังคมไทยและชายแดนใต้/ปาตานี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ วัดตานีนรสโมสร อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีปาฐกถาพิเศษโดย ศาสตราจารย์ ดร.ดันแคน แมคคาร์โก อาจารย์ประจำสำนักศึกษาการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร เรื่อง "ศาสตราจารย์โรเบิรตอัลบริตตันและการวิจัยด้านการเมืองไทยและจังหวัดชายแดนภาคใต้"

ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก กล่าวว่า ทุกครั้งที่ตนเองนำเสนอบทความวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิรต อัลบริตตัน หรือ “อ.บ๊อบ” มักจะตั้งคำถามที่ไม่ค่อยพอใจ เพราะอาจารย์บ๊อบรักประเทศไทยมากและเชื่อว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งเห็นค่อนข้างต่างจากตัวผมเอง ที่มองว่าประเทศไทยยังมีอุปสรรคจากปัจจัยภายในต่างๆ ที่จะไปสู่จุดนั้นได้

แม้ว่าในช่วงหลังความคิดของอาจารย์บ๊อบอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร ปี พ.ศ. 2549 ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดของอาจารย์บ๊อบ และเริ่มหันมาเขียนอธิบายว่าการที่เขาบอกว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอาจเป็นการอธิบายที่ผิดพลาด

การเดินทางของชีวิตอาจารย์บ๊อบเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับนักวิชาการซึ่งศึกษาเกี่ยวกับประเทศอื่น ที่ไม่ใช่ประเทศของตัวเอง  ซึ่งจะต้องอธิบายและถ่ายทอดออกมาสู่สาธารณะ สถานการณ์ทางประชาธิปไตยของประเทศไทยก็อาจเหมือนสหรัฐอเมริกาเมื่อร้อยปีก่อนที่ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคของการใช้ระบอบประชาธิปไตย และองค์ประกอบภายในต่างๆ ก็ต่างกัน

อาจารย์บ๊อบเคยเขียนบทความลงในวารสารทางรัฐศาสตร์ที่ดังที่สุดในอเมริกา American Political Science Review ถึง 3 ชิ้น ซึ่งสำหรับนักวิชาการหลายคนก็หวังเพียงแค่ว่าได้ตีพิมพ์สักชิ้นเดียวในวารสารนี้ก็เพียงพอแล้ว

ส่วนงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย อาจารย์บ๊อบก็มีกว่า 10 ชิ้น ซึ่งบางส่วนก็ได้รับการยอมรับและอ้างอิงมากพอสมควร โดยประเด็นหลักของงานศึกษาชิ้นสำคัญๆ ของอาจารย์บ๊อบ จะชี้ให้เห็น 2 ประเด็น คือ เรื่องความเป็นประชาธิปไตยที่ประเทศไทยจะสามารถเดินไปสู่จุดนั้นได้ และประเด็นเรื่องโอกาสของชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมองว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติอย่างไร ชนกลุ่มน้อยมีเป้าหมายอย่างไร และมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากกลุ่มคนส่วนใหญ่มากเพียงใด

บทความสุดท้ายที่ออกมาในปี ค.ศ. 2010 ชื่อเรื่อง The Muslim South in the Context of Thai Nation ในวารสาร Journal of East Asian Studies น่าจะเป็นบทความที่สามารถสะท้อนความคิดของอาจารย์บ๊อบได้ดีที่สุด แต่เหมือนกับว่าหลังปี พ.ศ. 2549 อาจารย์บ๊อบจะอกหักด้วยกับเหตุรัฐประหาร จึงมีบทความออกมาไม่มากนัก มีเพียงชิ้นสองชิ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าเศร้าทั้งสำหรับคนไทยและคนที่ศึกษาเรื่องประเทศไทย เพราะจะหาจุดที่เห็นตรงกันยากขึ้น

ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก กล่าวทิ้งท้ายว่า อาจารย์บ๊อบรักเมืองไทยมาก ในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการทำวิจัยในพื้นที่นี้ แต่อีกแง่ก็เป็นอุปสรรคต่องานเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว อาจารย์บ๊อบเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถเดินไปสู่จุดที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) และผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2532 อาจารย์บ๊อบได้ทุนมาทำวิจัยที่ปัตตานี ซึ่งถือเป็นการเดินทางมาเยือนปัตตานีเป็นครั้งแรก และอาจารย์บ๊อบมีความประทับใจมากจนเดินทางมาอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา โดยอาจารย์บ๊อบมีความพยายามที่จะนำความรู้ทางวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์เพื่อศึกษาประเทศไทย และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านวิชาการรัฐศาสตร์ สิ่งที่อาจารย์บ๊อบทำคือการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยอาจารย์บ๊อบมีความเชื่อมั่นว่าคนไทยมีศักยภาพพอที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่

อีกด้านคืออาจารย์บ๊อบทำงานวิจัยเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะงานวิจัยทางด้านปริมาณที่เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งประสบปัญหามากในช่วงแรกเพราะมีความเชื่อว่าเครื่องมือนี้ไม่เหมาะกับคนไทย แต่อาจารย์บ๊อบเชื่อมั่นว่าทำได้ และก็ลงมือทำโดยการสุ่มตัวอย่างตามสถิติและใช้เครื่องมือที่มีมาตรฐาน จนสิ่งนี้ตกทอดเป็นมรดกมาสู่ปัจจุบันที่มีการทำวิจัยเชิงสำรวจความเห็นของประชาชนหรือ Peace Survey รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเองก็ได้รับอิทธิพลมาจากอาจารย์บ๊อบเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ก็เป็นคุณูปการที่ได้จากอาจารย์บ๊อบเช่นเดียวกัน

อาจารย์บ๊อบไม่ได้ชำนาญเพียงแค่งานวิจัยในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ในเชิงคุณภาพเองอาจารย์บ๊อบก็มีความชำนาญเช่นเดียวกัน อย่างศาสตร์ทางด้านมานุษยวิทยาที่อาจารย์บ๊อบก็พยายามเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คน รวมไปถึงวัฒนธรรม ทำให้อาจารย์บ๊อบเข้าใจในเรื่องของชายแดนใต้ที่มีความแตกต่างทางด้านอัตลักษณ์กับพื้นที่อื่นๆ โดยอาจารย์บ๊อบสามารถปรับแนวคิดมาเป็นตัวแปรในงานวิจัยเชิงปริมาณ และสามารถพิสูจน์ให้ได้เห็นในเชิงปริมาณว่า อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ความเชื่อทางประวัติศาสตร์ มีนัยยะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้เราได้เห็นว่างานวิจัยทางด้านปริมาณและคุณภาพมีความเชื่อมโยงกัน

คุณูปการของอาจารย์บ๊อบที่ลืมไม่ได้ก็คือ ประเด็นในเรื่องของประชาธิปไตย ที่อาจารย์ต้องการให้เกิดการพัฒนาทางด้านประชาธิปไตยในไทยอย่างมาก มีงานวิจัยที่อาจารย์บ๊อบที่ร่วมทำเกี่ยวกับประชาธิปไตยร่วมกับสถาบันประปกเกล้า และงานวิจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทว่าอาจารย์บ๊อบเองก็มีความผิดหวังกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมไทยที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองในฐานะลูกศิษย์ที่สมัยศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ อาจารย์บ๊อบก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของตน และโดยส่วนตัวแล้วก็มีความใกล้ชิดกันมาก โดยอาจารย์บ๊อบได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมตนเองในทางวิชาการมาโดยตลอด และเคยฝากว่าเมื่ออาจารย์เสียชีวิตก็ให้เอาเถ้ากระดูกมาโรยในแม่น้ำปัตตานี ซึ่งวันนี้ก็รู้สึกตื้นตันใจที่ได้ทำตามเจตนารมณ์ของอาจารย์บ๊อบ ที่เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 201